จับตา“ระเบิดขว้าง”ระบาดใต้ จากเอ็ม 67 ถึงบึ้มฟอสฟอรัส!
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้เหตุระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรอีกแล้ว เพราะตูมตามกันแทบไม่เว้นแต่ละวัน แต่เหตุระเบิดระยะหลังๆ ที่คนร้ายใช้ “ระเบิดขว้าง” ในการโจมตี กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานด้านความมั่นคง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มก่อความไม่สงบเลือกโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มที่อยู่ข้างเดียวกับรัฐโดยใช้ “ระเบิดแสวงเครื่อง” ในลักษณะ “กับระเบิด” เป็นหลัก คือใช้ดักโจมตี “คน” หรือ “พาหนะ” ขณะเคลื่อนผ่านจุดที่วางหรือฝังระเบิดเอาไว้
ในทางทฤษฎีแล้ว ระเบิดแสวงเครื่องจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของ “กับระเบิด” ซึ่งเป็นการนำเอาวัสดุที่มีอยู่ หรือวัสดุที่สามารถจัดหาได้ง่าย เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งมีอยู่ทั่วไป นำมาประดิษฐ์เป็นระเบิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อทำลายชีวิต, ทำลายทรัพย์สิน, ก่อวินาศกรรม หรือเพื่อสร้างสถานการณ์ก่อให้เกิดความไม่สงบโดยผู้ไม่หวังดีหรือผู้ก่อการร้าย
สถิติการใช้วัตถุระเบิดแสวงเครื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ซึ่งปัจจุบันยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) มีตัวเลขน่าสนใจ กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2550 การใช้วัตถุระเบิดแสวงเครื่องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของ จ.สงขลา มีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 69 ครั้งในปี 2547 เป็น 274 ครั้งในปี 2548 ตามด้วย 381 ครั้งในปี 2549 และพุ่งสูงถึง 510 ครั้งในปี 2550
รวม 4 ปีมีเหตุลอบวางระเบิดด้วยระเบิดแสวงเครื่องมากถึง 1,234 ครั้ง!
ส่วนในปี 2551 การโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องลดลงเหลือราวๆ 250 ครั้ง แต่เริ่มมีการใช้ “คาร์บอมบ์” มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งระเบิดที่ใช้ใน “คาร์บอมบ์” ก็เป็นระเบิดแสวงเครื่องเช่นกัน เพียงแต่เพิ่มความรุนแรงด้วยการต่อพ่วงกับถังแก๊ส และเคลื่อนย้ายหรือบรรทุกมาในรถยนต์ เช่นเดียวกับปี 2552 ที่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นจำนวน 237 ครั้ง เป็นคาร์บอมบ์เกือบ 10 ครั้ง
แต่ในปี 2553 เริ่มมีการก่อเหตุโดยใช้ “ระเบิดขว้าง” บ่อยครั้ง และหลายๆ กรณีก็ไม่ใช่ระเบิดขว้างในลักษณะที่เป็น “ระเบิดแสวงเครื่อง” แบบประกอบเอง แต่เป็นระเบิดขว้างที่ใช้ในทางการทหาร อาทิ เอ็ม 26 เอ็ม 67 และล่าสุดคือระเบิดฟอสฟอรัส!
เหตุรุนแรง 4 เหตุการณ์ล่าสุดที่คนร้ายปฏิบัติการด้วย “ระเบิดขว้าง” ได้แก่
1.เหตุปาระเบิดบริเวณลานหน้า สภ.เมืองปัตตานี เมื่อเช้าวันที่ 21 เม.ย.2553 โดยระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิด เอ็ม 67 ทำให้ตำรวจที่กำลังเข้าแถวเคารพธงชาติและปฏิบัติตนอยู่ ได้รับบาดเจ็บกว่า 40 นาย เสียชีวิต 1 นาย
2.เหตุปาระเบิดฝั่งตรงข้ามมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา เมื่อค่ำวันที่ 8 มิ.ย. จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับสิบคน ภายหลังเสียชีวิต 1 คน โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดความสับสนขึ้นด้วย เมื่อระเบิดเกิดขึ้นขณะรถทหารแล่นผ่านพอดี แต่ช่วงแรกฝ่ายทหารไม่ยอมรับว่ามีรถของกำลังพลแล่นผ่าน ทำให้ชาวบ้านสงสัยว่าเป็นระเบิดที่หล่นจากรถของทหารเองหรือไม่ อาจไม่ใช่ระเบิดที่ปาจากคนร้ายก็เป็นได้ และระเบิดเจ้าปัญหาก็คือระเบิดขว้างชนิด เอ็ม 67
3.เหตุปาระเบิดบริเวณหน้ามัสยิดนูรูลมุตตาลีน บ้านตะบิ้ง หมู่ 1 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 19 มิ.ย.ทำให้เด็กและผู้หญิงได้รับบาดเจ็บรวม 3 ราย แต่ยังไม่ทราบชนิดของระเบิดที่คนร้ายใช้
4.เหตุปาระเบิดและยิงถล่มซ้ำบริเวณจุดตรวจปลักปลา ต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 12 ก.ค. ทำให้กำลังพลเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย โดยระเบิดที่คนร้ายใช้เป็น “ระเบิดฟอสฟอรัส” ซึ่งว่ากันว่าพบเป็นครั้งแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีคำถามมากมายจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับการปรับยุทธวิธีหันมาใช้ "ระเบิดขว้าง" ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” เกาะติดทั้งฝ่ายตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเอง ซึ่งแม้ในบริบทของงานจะยืนกันคนละมุม แต่ในเรื่อง “ระเบิดขว้าง” แล้ว ทั้งสองฝ่ายกลับเห็นตรงกันในหลายประเด็น
คนร้ายมั่นใจไม่ถูกจับ?
อดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ยะลา กล่าวว่า หากมองที่รูปแบบของการก่อเหตุ หลังเหตุการณ์ระเบิดที่ สภ.เมืองปัตตานี ต่อมาก็ระเบิดที่ตลาดเก่า (ตรงข้ามมัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา) และที่หน้ามัสยิดใน อ.สายบุรี ทั้งสามเหตุการณ์ล้วนเป็นระเบิดขว้าง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้การใช้ระเบิดขว้างแทบไม่มีให้เห็น
“ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ระเบิดขว้างเกิดเยอะมากขึ้นทุกที ทั้งๆ ที่ในแต่ละพื้นที่ก็มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดติดตั้งอยู่มากมาย แต่กลุ่มคนร้ายยังกล้าถึงขนาดใช้รถจักรยานยนต์ในการก่อเหตุ ไม่ได้ใช้วิธีลอบวางหรือฝังเหมือนระเบิดแสวงเครื่อง จึงน่าคิดว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมั่นใจว่าก่อเหตุแล้วทางการจับไม่ได้แน่ๆ หรือเปล่า จึงกล้าทำถึงขนาดนี้ เพราะโดยธรรมชาติของผู้ก่อเหตุนั้น ถ้าไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ว่าตัวเองจะปลอดภัยและไม่โดนจับ เขาไม่ทำเด็ดขาด แต่ทำไมเขาถึงกล้าขี่มอเตอร์ไซค์ไปปาระเบิด ตรงนี้รัฐต้องเร่งพิจารณา”
อย่างไรก็ดี ทนายอดิลัน ไม่เชื่อว่าการแพร่ระบาดของระเบิดขว้าง มาจากความอ่อนแอของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะรัฐทุ่มเททั้งกำลังพลและงบประมาณลงพื้นที่จำนวนมหาศาล
“ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเยอะ มีการตรวจตรา มีรถลาดตระเวนอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังมีจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก จะบอกว่าเจ้าหน้าที่เสียขวัญ ผมไม่เชื่อเช่นกัน ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ต้องมีหน้าที่ระงับเหตุการณ์ เพียงแต่ต้องไปหาคำตอบว่าผู้ก่อเหตุมั่นใจอะไรขนาดนี้ ถึงขั้นกล้าใช้ระเบิดขว้าง หรือกลุ่มผู้ก่อเหตุมีมาตรการช่วยเหลือและพาหนี จนรัฐเองไม่สามารถติดตามได้ ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครจะมีศักยภาพขนาดนั้นได้ เป็นคำถามที่สังคมก็อาจจะมองเหมือนผมว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร”
“ดังนั้นเราในฐานะประชาชนทั่วไปอย่าคิดว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ความรุนแรงนี้ เราจึงต้องช่วยกันคิด เมื่อคิดแล้วต้องช่วยกันนำเสนอให้กับรัฐ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร หรือที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาไม่ถูกทางหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องมาทบทวนกันใหม่” ทนายอดิลัน ระบุ
ก่อเหตุง่าย-เป้าหมายกว้าง
พล.ต.จำลอง คุณสงค์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 วิเคราะห์ว่า การก่อเหตุประเภทก่อการร้ายหรือสงครามนอกรูปแบบนั้น ที่จริงแล้วทำได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะรูปแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่คาดคิด
“ที่จริงเขาก็ทำกันมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประกบโดยมอเตอร์ไซค์แล้วยิง ดังนั้นรูปแบบระเบิด ทั้งโยนระเบิด ขว้างระเบิด มันก็ไม่แตกต่างกัน ที่จริงการประกบยิงยังยากกว่า เพราะต้องเล็ง แต่ตามหลังมาแล้วโยนระเบิดทำได้ง่ายกว่าและหวังผลได้มากกว่าด้วย เนื่องจากความเสียหายกินบริเวณกว้าง นอกจากนั้นการยิงก็ยังมีความเสี่ยง เพราะหากยิงไม่ถูกอาจถูกตอบโต้ได้ทันที ส่วนการก่อเหตุโดยระเบิดขว้างจะทำให้เหยื่อเสียหลัก สับสนไประยะหนึ่ง และจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามหนีได้อย่างปลอดภัย ซึ่งฝ่ายตรงข้ามก็คงวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้มาแล้ว”
พล.ต.จำลอง ยังเชื่อว่า ที่ผ่านมากลุ่มก่อความไม่สงบต้องการใช้ “ระเบิดขว้าง” มานานแล้ว เพราะความได้เปรียบและมุ่งต่อผลได้มากกว่าในทางยุทธวิธี แต่ระเบิดชนิดนี้อาจหาได้ไม่ง่ายเหมือนปืนกับกระสุน
“ผมคิดก่อนหน้านี้ผู้ก่อเหตุก็มีความต้องการใช้ระเบิดขว้าง เขาอยากใช้มานานแล้ว แต่ตอนนั้นอาจหาไม่ได้ ผิดกับกระสุนและปืนซึ่งหาได้ง่ายกว่า มันอาจจะเป็นอาวุธสงครามที่เหลือใช้จากสงครามซึ่งอาจหลุดรอดมา ประกอบกับระยะหลังการใช้ระเบิดแสวงเครื่องเริ่มถูกจับตา นำไปวางเพื่อก่อเหตุได้ยาก”
“ที่สำคัญการใช้ระเบิดขว้างมันง่ายสำหรับการใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ มันได้ผลหลายอย่าง แนวโน้มการก่อเหตุรูปแบบนี้จึงมีมากขึ้น แต่จะเกิดจริงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเขามีวัตถุระเบิดมากน้อยเพียงใด”
พล.ต.จำลอง กล่าวอีกว่า การใช้ระเบิดขว้างมีข้อที่เป็นอุปสรรคเพียงอย่างเดียวคือหายาก ฉะนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้มองว่าผู้ก่อเหตุจะมีความกล้าหรือไม่กล้า เชื่อมั่นหรือไม่เชื่อมั่น หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ทำงานด้อยประสิทธิภาพหรือไม่ แต่สิ่งที่มองก็คือกลุ่มผู้ก่อเหตุหาวัตถุระเบิดประเภทนี้มาจากที่ไหน
“มันยุ่งยากกว่าจะหาวัตถุระเบิดได้ เพราะมันหายาก ช่องทางการเข้ามาของระเบิด เจ้าหน้าที่ก็พยายามตรวจสอบที่มาที่ไปอยู่ แต่แสดงว่าเขาต้องมีความสามารถในการเสาะหาสูงมาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐต้องเร่งตรวจสอบด้านการข่าวเพื่อให้รู้ถึงแหล่งที่มา เพราะเป็นยุทโธปกรณ์ที่อันตรายไม่ว่าจะกับทหารหรือประชาชน” รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
ตะลึงระเบิดฟอสฟอรัส
ระเบิดอีกชนิดหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังตื่นตะลึงว่าโผล่มาได้อย่างไร คือระเบิดฟอสฟอรัส!
โดยทั่วไป ระเบิดฟอสฟอรัสเป็นระเบิดที่ใช้ในทางการทหาร ที่พบเห็นกันบ่อยๆ จะอยู่ในรูปของระเบิดควัน บรรจุมาในกระป๋อง ไม่ใช่ระเบิดในลักษณะทำลายล้าง แต่ใช้ปาเพื่อเปิดทางหลบหนี เพราะเมื่อปาแล้วจะเกิดกลุ่มควันหนาทึบ ทำให้ฝ่ายที่ถูกโจมตีสับสน ไม่สามารถติดตามฝ่ายที่โจมตีได้ทัน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงจากกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ให้ข้อมูลว่า เหตุระเบิดที่จุดตรวจปลักปลา อำเภอเมืองนราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา คนร้ายกลับใช้เป็นระเบิดฟอสฟอรัสในการโจมตี คือปานำเข้ามาก่อน จากนั้นจึงระดมยิง ซึ่งนับว่าแปลกมาก
กระนั้นก็ตาม ยังมีระเบิดฟอสฟอรัสที่พัฒนาให้เป็นระเบิดสังหาร มีใช้กันในสมรภูมิตะวันออกกลาง มีผลลัพธ์ที่น่าสะพรึงกลัวมาก เนื่องจากระเบิดฟอสฟอรัสจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้เกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือน หากถูกผิวหนังมนุษย์ก็จะเผาไหม้กัดกร่อนจนถึงกระดูก
ยังโชคดีที่ระเบิดฟอสฟอรัสที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงระเบิดควันที่ใช้เปิดทางหลบหนีเท่านั้น แต่ฝ่ายความมั่นคงก็กำลังตรวจสอบกันอยู่ว่า เส้นทางการได้มาของระเบิดชนิดนี้เป็นอย่างไร
รู้จัก “ระเบิดขว้าง”
ชื่อเสียงเรียงนามของระเบิดขว้างที่คุ้นหู เพราะกลุ่มที่ต้องการสร้างสถานการณ์ป่วน ไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือเป้าประสงค์อื่นใดก็ตามนิยมเลือกใช้ มีอยู่ 3 ชนิด คือ
1.ระเบิดเอ็มเคทู (MK2) หรือระเบิดน้อยหน่า
2.ระเบิดเอ็ม 26 หรือระเบิดลูกเกลี้ยง
3.ระเบิดขว้าง เอ็ม 67 หรือระเบิดลูกมะนาว
ทั้งนี้ ระเบิดเอ็มเคทู และเอ็ม 26 เป็นระเบิดเก่าที่หายากแล้วในระยะหลัง ฉะนั้นระเบิดที่พบมากในสถานการณ์ป่วนก็คือเอ็ม 67 รูปลักษณ์ของระเบิดลูกมะนาว จะเป็นทรงกล้มแป้น ผิวเรียบ ภายในบรรจุสารระเบิดผสมระหว่างอาร์ดีเอ็กซ์และทีเอ็นที มีสลักนิรภัย หรือ “กระเดื่อง” เจ้าหน้าที่จึงพอจะตามรอยได้ เพราะมักพบกระเดื่องตกอยู่ในที่เกิดเหตุ
เอ็ม 67 มีรัศมีทำลายล้างอยู่ที่ 15 เมตร ระยะที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดอยู่ที่ 5 เมตร สะเก็ดระเบิดกระเด็นไกล 230 เมตร น้ำหนักต่อลูกอยู่ที่ 380 กรัม
แม้ระเบิดเอ็ม 67 จะเป็นระเบิดรุ่นเก่าที่หลายประเทศเลิกใช้ไปแล้ว แต่หน่วยงานรัฐของไทยบางแห่งยังใช้อยู่ และยังพอหาได้ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ราคาซื้อขายในตลาดมืดลูกละ 500-1,000 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ดี มีเหตุการณ์หนึ่งที่หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “ระเบิดขว้าง” โดยเฉพาะ “เอ็ม 67” กระจายอยู่ในมือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็คือเหตุการณ์ปล้นเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดจากคลังแสงของกองพันทหารช่างที่ 401 ค่ายอภัยบริรักษ์ จ.พัทลุง ซึ่งกองทัพบกตรวจสอบพบเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2553
โดยยุทโธปกรณ์ที่คนร้ายนำไปได้ มีทั้งเครื่องกระสุนปืนสงครามชนิด เอชเค และ เอ็ม 16 จำนวน 2,000 นัด กระสุนปืนขนาด 11 ม.ม.จำนวน 1,000 นัด และระเบิดมือสังหารชนิด เอ็ม 26 และเอ็ม 67 จำนวน 20 ลูก
ขณะที่ข้อมูลบางแหล่งอ้างว่า ระเบิดขว้างที่ถูกโจรกรรมไปมีถึง 69 ลูก!
ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มี.ค. พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ได้แถลงข่าวระบุว่า กลุ่มที่โจรกรรมคือกำลังพลจำนวน 10 นายที่เข้าเวรอยู่ในค่ายนั่นเอง และเป็นกำลังพล หรือ “พลทหาร” จาก จ.ปัตตานี ทั้งสิ้น
พล.ท.พิเชษฐ์ อ้างระหว่างการแถลงข่าวว่า สามารถตามยึดของกลางที่ถูกโจรกรรมกลับคืนมาได้ทั้งหมด และผลการสอบสวนพลทหารทั้ง 10 นาย ทราบว่าทั้งหมดที่ก่อเหตุเพราะต้องการได้เงิน และได้มีการติดต่อขายเครื่องกระสุนกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อนำไปก่อเหตุร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
อย่างไรก็ดี มีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่ายุทโธปกรณ์บางส่วนอาจเล็ดลอดออกไป และอาจตกไปอยู่ในมือกลุ่มผู้ไม่หวังดีก็เป็นได้ เพราะขนาดจำนวนระเบิดขว้างที่ถูกโจรกรรม ก็ยังอ้างอิงข้อมูลแตกต่างกัน บ้างก็ว่า 20 ลูก บ้างก็ว่า 69 ลูก
หรือระเบิดขว้างที่ระบาดอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนร้ายไม่ได้สั่งซื้อมาจากที่ไหนไกล แต่มาจากแหล่งใกล้ๆ ตัวนี่เอง!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 โฉมหน้าระเบิด เอ็ม 67 (ภาพจากบล็อกโอเคเนชั่น http://www.oknation.net/blog/redandyellow/2010/03/30/entry-7)
2 อดิลัน อาลีอิสเฮาะ
3 พล.ต.จำลอง คุณสงค์ (เอื้อเฟื้อภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น)