ขึ้นทะเบียนซาก “4 ไดโนเสาร์” ในไทย เป็นสมบัติของชาติ
ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เผยแพร่ประกาศกรมทรัพยากรธรณี ที่ให้ซากไดโนเสาร์ในประเทศไทย ทั้ง 4 ตัว ประกอบด้วย 1.ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน 2.ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ 3.โปรซอโรพอด และ 4.อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 และข้อ 4 (2) แห่งประกาศคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2552 อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีลงนามอนุมัติ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์
:::สำหรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้:::
- พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551
มาตรา 26 เมื่ออธิบดีเห็นว่าซากดึกดำบรรพ์ใดที่พบในราชอาณาจักรมีความสำคัญหรือมีคุณค่าในการศึกษาประวัติของโลก บรรพชีวินวิทยา บรรพชีววิทยา หรือการลำดับชั้นหินตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ให้อธิบดีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ซากดึกดำบรรพ์นั้นเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา
เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนตามวรรคหนึ่งเป็นสิ่งที่หายากและมีคุณค่าเป็นพิเศษ สมควรเก็บรักษาไว้เป็น “สมบัติของชาติ” ให้อธิบดีประกาศรายละเอียดของซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา และมีอำนาจดังนี้
(1) ในกรณีที่ซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนนั้นอยู่ในความครอบครองของเอกชนให้บุคคลดังกล่าวส่งมอบซากดึกดำบรรพ์นั้นให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยได้รับค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด หรือ
(2) ในกรณีที่ซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนนั้นอยู่ในความดูแลรักษาของหน่วยงานอื่นของรัฐ อธิบดีจะมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นส่งมอบซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวให้แก่กรมทรัพยากรธรณีก็ได้
- ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2552
ข้อ 3 ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในราชอาณาจักรที่จะประกาศขึ้นทะเบียนต้องเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญ หรือมีคุณค่าในการศึกษาประวัติของโลก บรรพชีวินวิทยา บรรพชีววิทยา หรือการลำดับชั้นหินที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(1) เป็นซากดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ที่ค้นพบเป็นครั้งแรกของประเทศไทย หรือของโลก หรือเป็นตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ
(2) เป็นซากดึกดำบรรพ์ดัชนีที่ใช้อ้างอิงช่วงอายุของชั้นหินได้แน่นอนและเป็นที่ยอมรับของประเทศไทยหรือระดับสากล
(3) เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีลักษณะพิเศษหรือครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย
(4) เป็นซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเฉพาะชิ้นส่วนที่สำคัญ
(5) เป็นซากดึกดำบรรพ์ชนิดเดียวกันกับชนิดหายากมากที่ค้นพบแล้ว
ข้อ 4 เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นซากดึกดำ บรรพ์ที่มีคุณสมบัติตามข้อ 3 ให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการขึ้นทะเบียน ดังนี้
(1) จัดทำทะเบียนตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยกำหนดรหัสประจำซากดึกดำบรรพ์ ลักษณะ รูปพรรณ สัณฐาน ขนาด น้ำหนัก วันเดือนปีที่พบ ชื่อผู้ค้นพบ หรือเจ้าของ หรือผู้ครอบครอง สถานที่ที่พบ พร้อมรูปถ่ายให้ชัดเจน
(2) จัดทำประกาศตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยอย่างน้อยต้องมีข้อมูลตามข้อ 4 (1) ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ซากดึกดำบรรพ์นั้นเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน