ยกร่างมาตรฐานใช้แรงงานประมง หลังสหรัฐฯ ขึ้นแบล็คลิสต์ กระทบส่งออกอาหารแช่แข็ง
ถกแก้ปัญหาประมง หลังถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีไทยบังคับใช้แรงงานที่นำไปสู่การค้ามนุษย์ กระทบส่งออกอาหารแช่แข็ง ตั้ง 7 จว.ศูนย์ประสานงานประมง คุมเข้มกฎหมาย เร่งยกร่างมาตรฐานการใช้แรงงาน
วันที่ 10 ต.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ตามนโยบายมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานประมงเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าประมงของประเทศ โดยล่าสุด 9 ต.ค. 55 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในข้อเสนอแนวทางมาตรการป้องกันของกษ. ที่มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านการประมง ภายหลังถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องถูกจับตามองจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า เพราะมีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จนทำให้ภาคเอกชนออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไข
โดยได้หารือแผนดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมผลิตสินค้ากุ้งและอาหารทะเล (แช่เยือกแข็ง) และแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง โดยความร่วมมือของกรมประมง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เน้นการจัดหาแรงงาน การจ้างงาน สวัสดิการ รวมถึงสภาพการทำงานที่ดีของแรงงาน ซี่งอยู่ระหว่างการยกร่างฯ นอกจากนี้ยังจัดทำรายการอันตรายสำหรับเด็กในอุตสาหกรรมแช่เยือกแข็ง ซึ่งยกร่างแล้วเสร็จและเตรียมเผยแพร่ ซึ่งจะเริ่มประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในจ.สมุทรสาคร 8 พ.ย. 55 เพราะเป็นสถานที่มีแรงงานทำงานอยู่มาก
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงภารกิจกรมประมงว่าในการบังคับใช้กฎหมายและการตรวจสอบ ได้ร่วมกับกรมเจ้าท่าจัดทำระเบียบและข้อมูลเรือประมง เพื่อให้ตรวจสอบได้ทั้งเรือประมง คนทำงานบนเรือ และอุปกรณ์การทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนการติดตั้งหรือพัฒนาระบบการบอกตำแหน่งเรือหรือติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) กรมประมงได้ติดตั้งแล้ว 100 ลำ ขณะที่การควบคุมเรือเข้า-ออก องค์การสะพานปลาเป็นหน่วยงานสนับสนุน
ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาการบังคับใช้แรงงานที่นำไปสู่การค้ามนุษย์ โดยสร้างมาตรฐานลักษณะการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิตบนเรือและในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้แรงงานบนเรือประมง ส่งเสริมจรรยาบรรณผู้ประกอบการภาคประมง จัดตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานประมงนำร่อง 7 ศูนย์ ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และ สตูล มีหน้าที่ขึ้นทะเบียน ตรวจการเข้าออกและทำงานของแรงงานให้ถูกกฎหมาย กรมประมงยังเปิดเว็บไซต์ Good Fisheries Labour Practices เป็นศูนย์รวมข้อมูลจากภาครัฐและเอกชนด้านการใช้แรงงานในภาคประมงเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป
นายธีระ ยังกล่าวเสริมว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขกฏระเบียบและกฎหมายด้านประมงให้สอดคล้องกันแผนดำเนินการดังกล่าว และต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบความคืบหน้าทุก 6 เดือน
นอกจากนี้ได้กล่าวถึงนโยบายการจับกุมผู้ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวด้วยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรและองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ดำเนินการจับกุมเกษตรกรและโรงสีที่กระทำผิดสวมสิทธิ์จำนำ ส่วนข้อสงสัยว่าทำไมรัฐบาลจึงจับกุมได้เฉพาะผู้ทุจริตรายย่อยนั้น คงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแจ้งเบาะแสทั้งผู้ทุจริตรายใหญ่และย่อย เพื่อดำเนินการทางกฎหมายเคร่งครัดต่อไป.