ภาพหลอน “หยุดยิง-เจรจา” จาก ก.ค.51 ถึง ก.ค.53
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้ข่าวเกี่ยวกับขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี หรือ พีเอ็มแอลเอ็ม ที่ออกมาประกาศความสำเร็จของ “มาตรการหยุดยิง” ในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.นราธิวาส ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (10 มิ.ย.ถึง 10 ก.ค.2553) จะไม่เป็นที่ฮือฮาในวงกว้างมากนัก แต่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจในระดับ “หูผึ่ง” จากผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้ที่ติดตามปัญหาความไม่สงบในดินแดนด้ามขวานมาตลอดอย่างแน่นอน
ข่าวนี้ปรากฏสู่สาธารณะเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยสื่อในเครือเนชั่นรายงานโดยอ้างคำกล่าวของ นายกัสตูรี มาห์โกตา โฆษกกลุ่มพูโล หรือองค์กรเอกภาพเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี (Patani United Liberation Organisation : Pulo) ที่ว่า การหยุดยิงชั่วคราวถูกกำหนดพื้นที่เฉพาะ อ.ระแงะ อ.ยี่งอ และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.จนถึงวันที่ 10 ก.ค.2553 โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงความจริงใจต่อรัฐบาลไทยเรื่องการเปิดเจรจาเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ขณะเดียวกันก็เพื่อพิสูจน์ว่า พีเอ็มแอลเอ็มสามารถควบคุมพื้นที่และสั่งการกองกำลังที่ปฏิบัติการอยู่ในท้องถิ่นได้จริง
"เจตจำนงของการหยุดยิงชั่วคราวครอบคลุมเฉพาะการโจมตีเป้าหมายที่เป็นกองกำลังของรัฐบาลไทยซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่เท่านั้น โดยพีเอ็มแอลเอ็มมีความยินดีที่จะบอกว่ามาตรการของเราสามารถลดความรุนแรงใน 3 อำเภอดังกล่าวลงได้ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา" นายกัสตูรี กล่าว
สาระของข่าวจริงๆ มีอยู่เท่านี้ แต่ก็มีหลากหลายประเด็นที่น่าวิเคราะห์เจาะลึกกันต่อไป...
“ข่าวจริง” หรือ “ข่าวปล่อย”
ประเด็นแรกที่คงเป็นคำถามอยู่ในใจของใครหลายๆ คนก็คือ ข่าวนี้มีมูลความจริงแค่ไหน? ทั้งนี้ หากพิจารณาจากรายงานข่าวของเดอะเนชั่น จะพบประเด็นที่อ้างแหล่งข่าวทหารซึ่งทำงานเชิงลึกอยู่ในพื้นที่ว่า มีความเคลื่อนไหวว่าด้วยการหยุดยิงฝ่ายเดียวของขบวนการพีเอ็มแอลเอ็มจริง ทั้งยังอ้างว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็ทราบดีถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว และจับตามองอยู่อย่างใกล้ชิด
แต่แหล่งข่าวที่เดอะเนชั่นอ้าง ก็ยังไม่มั่นใจในความสำเร็จของ “มาตรการหยุดยิง” ที่ประกาศโดยขบวนการพีเอ็มแอลเอ็ม
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบจากแหล่งข่าวหลายๆ แหล่งของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานระดับสูงในพื้นที่เกือบทุกหน่วยงาน ไม่รู้ระแคะระคายเกี่ยวกับข่าวนี้เลยแม้แต่น้อย
พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่อง และยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ ต้องขอเวลาตรวจสอบรายละเอียดก่อน
“เรื่องแบบนี้คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยได้ยินมาบ้าง แต่นานแล้ว และยังไม่ทราบว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปล่อย จึงไม่อยากวิเคราะห์ล่วงหน้า” พล.ท.กสิกร กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา”
ขณะที่นายทหารระดับรองๆ ลงมาใน พตท. และรับผิดชอบงานด้านยุทธการ ยอมรับตรงๆ เช่นกันว่า ไม่เคยได้ยินข่าวนี้เลย แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่มีหน่วยอื่นประสานข้อมูลอยู่ โดยที่ไม่แจ้งหน่วยกำลังหลักในพื้นที่
แหล่งข่าวระดับสูงจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ไม่ทราบเรื่องเลย และการประชุม ศอ.บต.เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็ไม่มีใครหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ความไม่สงบในภาพรวมในห้วงที่ผ่านมาดูดีขึ้นพอสมควร
ด้านบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความเห็นกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ข่าวที่ออกมาไม่น่าเป็นไปได้ เพราะช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังมีการสั่งการจากระดับแกนนำให้ก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และแต่ละจังหวัดก็จะเลือกใช้ยุทธวิธีที่แตกต่างกันไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดลงมาจากแกนนำระดับจังหวัด
กระนั้นก็ตาม แม้ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ หรือแม้แต่แนวร่วมระดับปฏิบัติการจะไม่ทราบความเคลื่อนไหวเรื่อง “มาตรการหยุดยิง” แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าว อาจทำเป็นการลับ เพราะจากข้อมูลของผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพ ยืนยันว่ามีความพยายามของฝ่ายทหารมาโดยตลอดที่จะเปิดการเจรจากับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งในและนอกประเทศ แต่ปฏิบัติการทั้งหมดจัดเป็น "ปฏิบัติการลับ"
แหล่งข่าวจากกรมกิจการชายแดนทหาร กล่าวว่า ความพยายามในการเปิดการเจรจามีอยู่จริง แต่หากสอบถามทางกองทัพจะได้รับการปฏิเสธเสมอ เพราะต้องการทำเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ และนโยบายในทางเปิดไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือกองทัพมีอยู่อย่างเดียวคือ “ไม่เปิดการเจรจา”
แกะรอย “กัสตูรี มาห์โกตา”
แม้จะยังสรุปแบบฟันธงไม่ได้ว่า ข่าวทดลองหยุดยิงในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.นราธิวาส คือ อ.ระแงะ ยี่งอ และเจาะไอร้อง ซึ่งประกาศผ่านกลุ่มที่อ้างชื่อว่าขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี หรือพีเอ็มแอลเอ็ม เป็นความจริงหรือไม่ประการใด แต่หากพิจารณาจากบุคคลที่ออกมาให้ข่าว คือ นายกัสตูรี มาห์โกตา รองประธานและโฆษกของกลุ่มพูโล ก็จะพบข้อเท็จจริงอีกหลายมิติ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีของ นายกัสตูรี และกลุ่มพูโลในระยะหลังๆ ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการเปิดการเจรจากับรัฐบาลไทย ทั้งยังพยายามแสดงบทบาทว่ากลุ่มพูโลมีส่วนอย่างสูงต่อการกำหนดสถานการณ์ดีหรือร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย
นายกัสตูรี เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อมาเลเซียเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ปีที่แล้วว่า กลุ่มพูโลตอบรับข้อเสนอของรัฐบาลมาเลเซียโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อเปิดการเจรจากับไทยเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“องค์การพูโลและองค์กรปลดปล่อยอื่นๆ ไม่ว่าในหรือนอกพื้นที่ คือองค์กรที่ทำการต่อสู้เพื่อเอกราชของปัตตานี แต่เราก็พร้อมเจรจากับไทย สุดแท้แต่ว่าทางไทยจะตระเตรียมอะไรหรือมีข้อเสนออะไร” นายกัสตูรีกล่าวในตอนนั้น พร้อมออกตัวว่า
“แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมรับข้อเสนอของไทยทั้งหมด เราพร้อมจะเจรจาโดยปราศจากเงื่อนไข แต่ต้องดำเนินการโดยฝ่ายที่สาม จะใครก็ได้ ถึงแม้ว่าเราอยากให้มาเลเซียมายืนอยู่ที่จุดนี้ เราอยากได้มาเลเซียเนื่องจากเราไม่เคยปฏิเสธบทบาทของมาเลเซียในการแสวงหาสันติภาพในภูมิภาคนี้”
แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งเดียวกัน เขาก็ยอมรับกลายๆ ว่าโอกาสของการเปิดเจรจามีอยู่ไม่มากนัก เพราะ “น่าเสียใจที่ว่าจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ไทยไม่เคยเลยที่จะใช้มาเลเซียเป็นฝ่ายที่สามในการเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหานี้”
การให้สัมภาษณ์ของนายกัสตูรี เกิดขึ้นภายหลังจากที่ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อว่า ไทยควรจะให้คนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิทธิปกครองตนเองระดับหนึ่งในพื้นที่ของตนซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
ข้อน่าสังเกตจากบทสัมภาษณ์ของนายกัสตูรีเมื่อปีที่แล้วก็คือ เขาอ้างว่านอกจากพูโลแล้วยังมีอีกอย่างน้อย 2 องค์กรที่ต้องการร่วมเจรจากับไทยด้วย และกลุ่มที่ว่านี้คือขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ หรือ “บีอาร์เอ็น” และขบวนการอิสลามปลดปล่อยปัตตานี หรือ “บีไอพีพี”
คำกล่าวของนายกัสตูรี สอดคล้องกับข้อมูลของเดอะเนชั่นที่อธิบายความเป็นมาของขบวนการ "พีเอ็มแอลเอ็ม" ที่ออกมาประกาศมาตรการหยุดยิงล่าสุดว่า มาจากการจับมือกันของสมาชิก "กลุ่มพูโล" กับกลุ่ม "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต"
กระนั้นก็ตาม ประเด็นดังกล่าวดูจะขัดกับข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไทย และกลุ่มขบวนการเก่าๆ ที่เคยเคลื่อนไหวในพื้นที่ แต่ปัจจุบันยุติบทบาทลงแล้ว ซึ่งสรุปตรงกันว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 6 ปีมานี้ เป็นฝีมือของขบวนการใหม่ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกับขบวนการต่างๆ ในอดีต และจุดยืนของ “กลุ่มใหม่” คือต่อสู้เพื่อเป้าหมายแบ่งแยกดินแดนเท่านั้นโดยไม่มีการเจรจา ยกเว้นว่ารัฐบาลไทยจะยอมมอบเอกราชให้
ภาพหลอน “หยุดยิง-เจรจา”
แปลกแต่จริงที่เรื่องราวของการ “หยุดยิง-เจรจา” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่ตกเป็นข่าวครึกโครมมาหลายครั้งแล้ว แต่กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติเลยแม้แต่ครั้งเดียว
17 ก.ค.2551 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ออกอากาศเทปบันทึกภาพคำแถลงของบุคคล 3 คนที่อ้างว่าเป็น “หัวหน้ากลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย” ประกาศหยุดยิงและหยุดก่อความไม่สงบตั้งแต่เที่ยงของวันที่ 14 ก.ค.2551
ถ้อยแถลงของบุคคลทั้งสามที่ไม่แจ้งแม้แต่ชื่อเสียงเรียงนาม สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไม่เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นประเทศไทยทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่เชื่อว่า “กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย” เป็น “ตัวปลอม” ไม่ใช่กลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จริงๆ
หนำซ้ำสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังคำแถลงหยุดยิงของ “กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย” กลับรุนแรงหนักกว่าเก่า ทำให้ความน่าเชื่อถือของกลุ่มดังกล่าวเข้าขั้นติดลบ และกระแสข่าวก็ค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงในแง่สถานการณ์เกิดขึ้นเลย
ต่อมาช่วงเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน ยังปรากฏภาพและข่าว พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น) ที่ประเทศอินโดนีเซีย ขณะเดินทางไปพบปะเจรจากับตัวแทนผู้นำชุมชนมุสลิมทางภาคใต้ของไทยซึ่งอ้างตัวว่ามีบทบาทในสถานการณ์ความไม่สงบ
แต่การพูดคุยเจรจาก็ส่อว่า “โอละพ่อ” เมื่อหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วย แม้แต่กองทัพเอง พร้อมใจกันออกมาปฏิเสธ “ไม่รู้-ไม่เห็น” กับบทบาทของ พล.อ.ขวัญชาติ และหลังจากนั้นข่าวคราวก็เงียบหายไปราวคลื่นกระทบฝั่ง
กระทั่งล่าสุด 10 ก.ค.2553 มีข่าวการประกาศ “หยุดยิง” และ “พร้อมเจรจา” ของขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี หรือพีเอ็มแอลเอ็ม โดยมี นายกัสตูรี มาห์โกตา โฆษกกลุ่มพูโล เป็นผู้นำสาร ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าจะกรุยทางไปสู่การ “เปิดโต๊ะเจรจา” ได้จริงหรือไม่
ความสับสนของนโยบาย
พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เคยให้สัมภาษณ์ใน “ดีพเซาท์ บุ๊คกาซีน” เล่ม 3 ชื่อปก “สงครามความรู้สึก ปม-ลึก-ไฟใต้” เมื่อต้นปี 2551 เอาไว้อย่างน่าสนใจ
พล.อ.ไวพจน์ บอกว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีหลายออปชั่น (ทางเลือก) และหนึ่งในออปชั่นเหล่านั้นก็คือ “การเจรจา” แต่ พล.อ.ไวพจน์ ก็ย้ำว่า การเจรจาเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง เพราะปัจจัยของความสำเร็จอยู่ที่ว่าคนที่เจรจาจะต้องได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ และมีอำนาจตัดสินใจจริงๆ ด้วย (พล.อ.ไวพจน์ ใช้คำว่า ต้องมี authority)
“หากคนเจรจาไม่มี authority ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเจรจา” พล.อ.ไวพจน์ สรุป
สอดคล้องกับ พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเคยมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการสันติภาพของอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ที่กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ความพยายามในการเจรจามีอยู่จริงในหลายๆ ระดับ แต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพมักออกมาปฏิเสธทุกครั้งที่มีข่าว จึงไม่ชัดเจนว่าแท้ที่จริงแล้วกองทัพและรัฐบาลมีนโยบายที่จะเปิดการเจรจาหรือไม่
จากเหตุผลทั้งหมดที่ไล่เรียงมา เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับเหตุรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดซึ่งยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะยุติ จึงทำให้เกิดคำถามว่า โอกาสและความเป็นไปได้ของ “มาตรการหยุดยิง” ในบางพื้นที่ เพื่อก้าวไปสู่ “จุดเริ่มต้น” ของ “การเจรจา” จะเป็นจริงได้แค่ไหน และขบวนการพีเอ็มแอลเอ็ม ควบคุมกองกำลังที่ปฏิบัติการอยู่ในสามจังหวัดได้มากน้อยเพียงใด
แม้ตลอด 1 เดือน (10 มิ.ย.ถึง 10 ก.ค.2553) ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ขบวนการพีเอ็มแอลเอ็มอ้างว่ามีการประกาศมาตรการหยุดยิงในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.นราธิวาส คือ อ.ระแงะ ยี่งอ และเจาะไอร้อง จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างเบาบางในพื้นที่ดังกล่าวจริง แต่ก็ยังเกิดเหตุโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่ “คนของรัฐ” ทั้งอดีตตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) รวมทั้งสิ้น 4 เหตุการณ์
แต่ที่น่าหวั่นใจมากกว่านั้นก็คือ เหตุรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจาก 3 อำเภอนี้ ต้องถือว่าเป็นช่วงที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อนแรงที่สุดในรอบปีเลยด้วยซ้ำ อาทิ เหตุการณ์ลอบโจมตีด้วยระเบิดขนาดใหญ่ 3 ครั้งในท้องที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในวันที่ 1-2 และ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งทหารหลัก ทหารพราน ชรบ. และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวมถึง 10 ศพ
คำถามก็คือการประกาศหยุดยิงในพื้นที่ 3 อำเภอ แต่กลับเกิดเหตุรุนแรงอย่างหนักในอีกหลายอำเภอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสงบแน่หรือไม่ และหากรัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบายในทางเปิดที่ชัดเจนในเรื่องของการ “เจรจา” กระบวนการสันติภาพที่เรียกกันว่า "พีซ ทอล์ค" (Peace Talk) จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงหรือ
ระวังวาทกรรมว่าด้วย “หยุดยิง-เจรจา” จะเป็นเพียงภาพมายาเหมือนเมื่อครั้งกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทยเคยฝากรอยช้ำเอาไว้เมื่อปี 2551 และยังตามมาเป็น “ภาพหลอน” ในอีก 2 ปีต่อมา!
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การแถลงข่าวหยุดยิงผ่านทีวีพูลของกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็น "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย" เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2551
2 นายกัสตูรี มาห์โกตา (ภาพจากเว็บไซต์ ดีพเซาท์วอทช์)
อ่านประกอบ :
- รองประธานพูโล : เราพร้อมเจรจาแบบไร้เงื่อนไขกับรัฐบาลไทย
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4947&Itemid=47
- เปิดเบื้องลึกเจรจากลุ่มป่วนใต้ที่อินโดนีเซีย
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4083&Itemid=86
- กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ฯ แถลงผ่านทีวีพูลประกาศหยุดยิง-ป่วนสามจังหวัด
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3887&Itemid=47
- รุมวิพากษ์ "แถลงหยุดยิง" แค่จัดฉาก-ของปลอม!
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3888&Itemid=86
- เปิดปมพิรุธกลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ฯแถลงหยุดยิง
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3889&Itemid=86