ดัน 38 มาตรฐานผัก-ผลไม้สู้เออีซี เอกชนหวั่นเปิดต่างชาติแย่งงาน-ยึด รง.ไทย
มกอช. ดันมาตรฐานผัก-ผลไม้สู้อาเซียน 38 เรื่อง เอกชนหวั่นเออีซีดึงต่างด้าวแย่งงานไทย ทุนต่างชาติกว้านซื้อ รง.กระทบเอสเอ็มอี เตือนประชานิยมทำชาติเจ๊งเหมือนยุโรป
วันที่ 9 ต.ค. 55 นายธรรมรัต หวั่งหลี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ที่ปรึกษารมว.กษ.) เป็นประธานแถลง ‘ครบรอบ 10 ปี วันสถาปนาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)’ ณ สำนักงานมกอช. บางเขน โดยกล่าวว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนมีบทบาทต่อกันมากขึ้น หากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 58 ซึ่งคาดว่ามูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารไทยในอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้นจากปี 54 ที่มีมูลค่าการส่งออก 2.4 แสนล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังถือว่าอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย
ด้านนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผอ.มกอช. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยได้ประกาศมาตรฐานอาเซียนแล้ว 29 เรื่อง เน้นผลไม้และผักเป็นหลัก ได้แก่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง เงาะ มะละกอ ส้มเปลือกอ่อน ส้มโอ มังคุด แตงโม ฝรั่ง ลางสาด ลองกอง กล้วย มะพร้าวอ่อน ขนุน เมล่อน สละ ชมพู่ และละมุด นอกจากนั้นยังมีกระเจี๊ยบเขียว กระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง พริก แตงกวา มะเขือยาว ข้าวโพดหวาน ฟักทอง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วย
นอกจากนี้ปี 55-56 มกอช. ยังร่วมพิจารณายกร่างมาตรฐานอาเซียนเพิ่มอีก 9 เรื่อง ได้แก่ มะขามหวาน กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ขมิ้น เม็ดกาแฟ เม็ดโกโก้น้อยหน่า ชา และเห็ด เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายหลักของอาเซียนที่จะร่วมเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันและยังมีบทบาทในการกำหนดค่ามาตรฐานสารพิษตกค้าง (เอ็มอาร์แอล) ในสินค้าเกษตรอาเซียน โดยประกาศใช้เป็นมาตรฐานแล้ว 40 ค่ามาตรฐาน ซึ่ง 30 มาตรฐานเสนอโดยไทย อีกทั้งยังผลักดันมาตรฐานจีเอพีผักและผลไม้ รวมถึงกุ้ง โดยเฉพาะจีเอพีกุ้ง เนื้อหาจะยึดของไทยเป็นหลัก เพื่อสามารถเกื้อหนุนได้
สำหรับกระบวนการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าของอาเซียนมี 2 แนวทาง คือ 1. การปรับมาตรฐานกลางโดยเป็นมาตรฐานกึ่งสมัครใจ และ2. การลงนามบันทึกข้อตกลงการยอมรับร่วม (เอ็มอาร์เอ) มีข้อดีในแง่ที่สินค้าจะถูกตรวจสอบที่ประเทศต้นทางเท่านั้น ไม่มีการตรวจซ้ำที่ปลายทาง ทำให้การส่งออก-นำเข้ามีความคล่องตัว แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องสินค้าพืชอาจมีศัตรูพืชเล็ดลอดเข้าประเทศได้
ขณะที่เวทีเสวนา ‘มกอช. กับภาคเอกชนสู่เออีซี’ นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อไทยเข้าสู่เออีซียังมีข้อได้เปรียบหลายด้านเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่น โดยเฉพาะด้านมาตรฐานสินค้าปลอดภัย แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา มาแย่งงานคนไทยได้ นอกจากนี้ยังกังวลว่าหากมกอช. ยังไม่ผลักดันระเบียบมาตรฐานต่าง ๆ เป็นกฎหมายจริงจัง อนาคตสินค้าเกษตรที่หลั่งไหลจากนอกประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่า จะกระทบเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย
ทั้งนี้ยังเสนอว่า เมื่อไทยเข้าสู่เออีซีซึ่งให้สิทธิปลอดภาษี ผู้ประกอบการควรนำอัตราภาษีที่ต้องจ่าย 20%ของแต่ละปีเดิมกลับมาพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารไทยจะช่วยต่อยอดคุณภาพได้ มิใช่ไม่เสียภาษีแล้วก็ไม่ทำอะไร พร้อมยืนยันว่าการดำเนินงานของมกอช. 10 ปีผ่านมามีทิศทางที่ถูกต้องแล้ว
รศ.นพ.วิรัตน์ วงศ์แสงนาค ผู้แทนสมาคมผู้ตรวจรับรองและวิเคราะห์คุณภาพ กล่าวว่า การรวมตัวเป็นเออีซีของอาเซียนกำลังเดินตามรอยกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะแนวคิดรวมสกุลเงินตราระหว่างประเทศที่มีวินัยกับไม่มีวินัยทางการเงิน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงและเป็นสาเหตุสำคัญให้อียูประสบภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ย้อนกลับมาในอาเซียน จะเห็นว่าหลายประเทศมีความแตกต่างทางสถานะการเงิน โดยเฉพาะไทยขาดระเบียบวินัยการใช้จ่ายเงิน เน้นประชานิยมมากเกินไป และหลายบริษัทดำเนินกิจการไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ไทยล้มละลายและจะส่งผลทั่วอาเซียน ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันให้ดี
นอกจากนี้จะเห็นว่าหลายประเทศกำลังมองไทยเป็นฐานธุรกิจ หนึ่งในนั้น คือ สิงคโปร์ทั้งด้านสุขภาพและเทคโนโลยี เพราะไทยขาดบุคลากรที่เพียงพอและชำนาญการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญให้ไทยขาดการต่อรองด้านมาตรฐานของสินค้า ต้องเดินรอยตามผู้ซื้อตลอด โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพราะเป็นชั้นเชิงที่ต้องการตั้งมาตรฐานที่ไทยทำให้ไม่ได้ จนต้องขอซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านเกษตรกรรมให้มากขึ้น
นายกุญญพันธ์ แรงขำ ผู้แทนสมาคมแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สำหรับวัตถุดิบอาหารแช่เยือกแข็งไทย ถือว่ากุ้งได้รับการยอมรับมาก เพราะมีโรคน้อย แต่วัตถุดิบประเภทอื่น เช่น ปลา ปลาหมึก หอย ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะมีทรัพยากรน้อย ทำให้อนาคตอาจแพ้ชาติอื่นในอาเซียนได้ เพราะไทยไม่มีวัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน ผิดกับเวียดนามที่มีทั้งปลา กุ้ง หอย
“กลัวอยู่เรื่องเดียวคือเงินทุนต่างชาติ เช่น อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ จะไหลมาซื้อโรงงานไทยเพราะพ่อค้าเราทุนน้อยสายป่านสั้นจึงตัดสินใจขายดีกว่า เลยมองไทยเป็นเหยื่ออันโอชะ ดังนั้นต้องวางมาตรการป้องกันอาหารไทยไม่ให้ถูกเอาเปรียบให้ได้ โดยรัฐกับเอกชนต้องคุยเรื่องนี้ให้จริงจังมากขึ้น” ผู้แทนสมาคมเยือกแข็งไทย กล่าว.