เมื่อไทยนั่งประธานสิทธิมนุษยชนยูเอ็น...ระวังกระแสตีกลับปมชายแดนใต้และม็อบเสื้อแดง
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ท่ามกลางความยินดีปรีดาของรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับเกียรติเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชอาร์ซี (The United Nations Human Rights Council : UNHRC) เมื่อไม่นานมานี้ ถึงขนาดที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำไปโยงว่า แสดงว่านานาชาติเข้าใจการแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมของประเทศไทย
ทว่ายังมีเสียงท้วงติงทะลุกลางปล้องแสดงความเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยว่า การที่มี "คนไทย" ไปนั่งในตำแหน่งสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรระดับนานาชาติเช่นนี้ อาจจะกลายเป็น "หอก" ที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองได้เหมือนกัน โดยเฉพาะกับประเด็นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปฏิบัติการ "ขอคืนพื้นที่" ของทหารเพื่อสลายการชุมนุมของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ซึ่งล้วนมีคำถามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายประเด็น
สมชาย หอมลออ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ต้องขอแสดงความยินดีในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มี "คนไทย" ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานยูเอ็นเอชอาร์ซี แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วการที่ผู้แทนจากประเทศไทยได้รับเลือกนั้น น่าจะมาจากหลายสาเหตุและหลายปัจจัย อย่างเช่นเรื่องจังหวะเวลา เพราะถึงรอบของประเทศเอเชียที่จะต้องดำรงตำแหน่งนี้ ประกอบกับมีผู้สมัครและเสนอตัวไม่เยอะ เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่มีบางฝ่ายมองว่าการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานยูเอ็นเอชอาร์ซี แสดงว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยดีขึ้นนั้น สมชาย มองว่า เป็นเรื่องยากที่จะอ้างไปถึงขนาดนั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เช่น ในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ และมีการร้องเรียนมายังองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการถูกซ้อมทรมานผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว
“สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนกรณีที่มีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 89 ศพ ถึงขนาดที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดแน่ เพราะรัฐบาลอ้างว่าเกิดจากการกระทำของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย แต่ก็มีประจักษ์พยานและหลักฐานต่างๆ มากพอสมควรที่บ่งชี้ว่าผู้เสียชีวิตนั้นเกิดจากการกระทำของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารที่ออกปฏิบัติการในห้วงเวลานั้น ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือถ้าการตายเกิดจากการกระทำของทหารจริง ทหารได้ใช้กำลังและอาวุธตามสมควรแก่เหตุหรือไม่ หรือว่าเกินสมควรแก่เหตุ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่นานาประเทศให้ความสนใจ"
"ดังนั้นการที่มีคนไทยได้รับเลือกเป็นประธานยูเอ็นเอชอาร์ซี ผมไม่อยากให้ดีใจหรือคิดไปในทำนองว่าประเทศไทยไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่อยากให้ถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของเราให้ดีขึ้น เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก” สมชาย กล่าว
ขณะที่ สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า ไม่ทราบถึงกระบวนการขั้นตอนของการเลือกว่าเป็นอย่างไร แต่ทราบข่าวมาก่อนหน้านี้ว่ามีความพยายามสกัดไม่ให้ประเทศไทยเข้าร่วมในยูเอ็นเอชอาร์ซี ทว่าจู่ๆ กลับได้รับเลือกมา ถ้าผ่านกระบวนการโหวตจริง ก็ดูเหมือนข่าวที่ออกมาก่อนหน้าจะยังขัดแย้งกันอยู่ ที่สำคัญหากมองที่ผลงานแล้ว ประเทศไทยแทบไม่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนอะไรเลย ข้อเท็จจริงหลายเรื่องหลายราวก็ไม่โปร่งใส มีการปกปิด
“เรื่องนี้ถึงแม้ด้านหนึ่งอาจเป็นความภาคภูมิใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะถ้าประเทศไทยไม่สามารถพิทักษ์ไว้ซึ่งการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง ก็จะเป็นผลลบมากกว่าผลดี คือเป็นการประจานให้สังคมโลกรับรู้ว่าถึงแม้เราได้รับเลือกเป็นประธานยูเอ็นเอชอาร์ซีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการละเมิดสิทธิในประเทศของตนเองได้ ฉะนั้นนับจากนี้ทุกเรื่องที่มีปัญหารัฐจะต้องตรวจสอบให้เกิดความกระจ่างและรายงานต่อสาธารณชน"
ทนายสิทธิพงษ์ ยังเสนอว่า ในเมื่อผู้แทนจากประเทศไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญแล้ว ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่างๆ เพื่อหาคนผิด และนำมาสู่การลงโทษโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยเฉพาะปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นจำนวนมากจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้งหมด แต่กลับไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องในข้อหาละเมิดต่อประชาชนแม้สักคดีเดียว มีแต่การใช้เงินแก้ปัญหา นั่นก็เท่ากับยอมรับว่ามีการละเมิดจริง แต่ไม่ได้นำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
"เรื่องแบบนี้ถือเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐานจากกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนต้องเผชิญ ดังนั้นถ้าประเทศไทยไม่เร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ ข่าวดีที่คนไทยได้เป็นประธานยูเอ็นเอชอาร์ซี สุดท้ายประเทศของเราอาจจะถูกประจานมากกว่า" ทนายสิทธิพงษ์ กล่าว
เช่นเดียวกับ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจ (กลุ่มครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคง) ที่ตั้งคำถามว่า การกล่าวอ้างว่าประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องเคารพสิทธิมนุษยชน จึงมีคนไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญนั้น เหมือนเป็นการปกปิดความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหรือไม่
“ถ้ามองจากมุมของประชาชนแล้วเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิอยู่มากมาย แต่ได้รับการปกปิดจากรัฐ จนภาพลักษณ์ของรัฐเป็นลบในสายตาประชาชน แล้วอย่างนี้รัฐจะตอบคำถามกับสังคมโลกอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อคุณได้รับการยอมรับให้เป็นประธานยูเอ็นเอชอาร์ซี แต่กลับยังปกปิดข้อมูลในประเทศตัวเองอยู่" อัญชนา กล่าว
เป็นเสียงสะท้อนอีกด้านที่รัฐน่านำไปพิจารณา โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้!
รู้ไว้ใช่ว่า...
การเลือกประธานยูเอ็นเอชอาร์ซี เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้ว โดย นายสีหศักดิ์ ในฐานะตัวแทนจากประทเศไทยได้รับคามไว้วางใจจากชาติสมาชิก 41 ชาติด้วยคะแนนเอกฉันท์ ถือเป็นคนแรกของเอเชียที่ได้นั่งตำแหน่งนี้ และ นายสีหศักดิ์ ในฐานะประธานยูเอ็นเอชอาร์ซีคนใหม่ จะเริ่มทำหน้าที่ในปีหน้าแทน นายอเล็กซ์ ฟาน มิวเวน ที่กำลังจะหมดวาระ โดยตำแหน่งนี้มีวาระ 5 ปี
สำหรับ นายสีหศักดิ์ เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างพอสมควรในประเทศไทย เพราะเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงปี 2547
-----------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต