การรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2555 โดยกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
;วันที่ 9 ตุลาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2555 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการขายประกันภัยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และมีการบริหารจัดการที่ดีให้มีการกระจายความเสี่ยง และแต่งตั้งให้นายมานพ นาคทัต เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติแทนกรรมการรายที่ลาออก
ความคืบหน้าการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2555
1. เพื่อให้โครงการประกันภัยข้าวนาปี 2555 ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 เห็นชอบรูปแบบการประกันภัยตามโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2555 ที่เหมาะสม โดยให้ภาคเอกชนผู้รับประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการรับประกันภัยในโครงการด้วย ในสัดส่วนร้อยละ 0.25 ซึ่งรูปแบบการรับประกันภัยร่วม (co-insurance) นี้ จะช่วยให้การจัดการข้อมูลการรับประกันภัยและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรากฐานกลไกการประกันภัยพืชผลให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวและลดความเสี่ยงกับการขัดกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ในประเด็นการอุดหนุนสินค้าเกษตรอีกด้วย และคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้จัดทำประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดภัยพิบัติอื่นตามพระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้คำจำกัดความคำว่า “ภัยพิบัติ” ครอบคลุมถึงภัยพิบัติต่อพืชผลทางการเกษตร
2. การบริหารความเสี่ยงของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
2.1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (26 มิถุนายน 2555) เห็นชอบการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ 120 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับวงเงินความคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ ตลอดช่วงการเพาะปลูก สำหรับภัยธรรมชาติ 6 ภัย ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย และวงเงินความคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาด
2.2 อัตราเบี้ยประกันภัยดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 10.8 ของวงเงินความคุ้มครองสูงสุด เป็นอัตราต่ำกว่าอัตราตลาดที่ กค. ได้เคยหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และต่ำกว่าสถิติอัตราความเสียหายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศจากภัยธรรมชาติ ศัตรูพืชและโรคระบาดโดยเฉลี่ย 8 ปี (พ.ศ. 2547-2554) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.23
2.3 ในคราวประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 และวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 ได้พิจารณาพื้นฐานข้อเท็จจริงอัตราเบี้ยประกันภัยและอัตราความเสียหายดังกล่าวเห็นว่า การลดความเสี่ยงการรับประกันภัยของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติขึ้นอยู่กับความสามารถในการกระจายความเสี่ยงของพื้นที่เพาะปลูกที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่ง ธ.ก.ส. ในฐานะที่เป็นผู้บริหารโครงการจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี นอกจากกำหนดเป้าหมายรวมทั้งประเทศ ตามที่ ธ.ก.ส. คาดว่ามีความเป็นไปได้ประมาณ 4 ล้านไร่แล้ว ยังต้องมีการกระจายพื้นที่เพาะปลูกที่เข้าร่วมโครงการให้มีความหลากหลาย ทั้งในส่วนที่มีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง ความเสี่ยงต่ำและไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าว สูงที่สุดถึงร้อยละ 57.8 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ
2.4 ในกรณีที่มีการจัดการความเสี่ยงดีที่สุดจะทำให้กองทุนไม่เกิดความเสียหายจากการ รับประกันภัย ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สุด กล่าวคือพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 4 ล้านไร่ ที่เข้าร่วมโครงการเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดกองทุนอาจมีภาระการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 4,444 ล้านบาท
3. นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2555 เป็นไปอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ มีการกระจายความเสี่ยงภัยที่เหมาะสม พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในทุกพื้นที่ทั่วประเทศรับทราบรายละเอียดและนโยบายของรัฐตามโครงการนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการประกันภัย พืชผลทำหน้าที่กำกับดูแลการรับประกันภัยอย่างใกล้ชิดในช่วยระยะเวลาการขายประกันภัย ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 3 เดือน นับตั้งแต่วันเริ่มต้นการขายโดยทุกภาคยกเว้นภาคใต้ได้เริ่มต้นการขายตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2555 และภาคใต้จะเริ่มต้นการขายในวันที่ 27 สิงหาคม 2555
4. การแต่งตั้งนายมานพ นาคทัต ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของกองทุนส่งเสริม การประกันภัยพิบัติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนนายเสรี จินตนเสรี ที่ได้ลาออกไปตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2555