เมื่อฟิลิปปินส์เร่งเครื่องรับประชาคมอาเซียน ลุยเจรจากลุ่มแยกดินแดน (4)
คมวาทะ... "การเป็นผู้นำคืออีกด้านหนึ่งของเหรียญกษาปณ์แห่งความอ้างว้างโดดเดี่ยว คนที่เป็นผู้นำคนจะต้องแสดงบทตัวคนเดียวเสมอ และการแสดงบทอยู่คนเดียว ก็ต้องรับทุกสิ่งทุกอย่างเพียงลำพังคนเดียว...มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่ปรารถนาอยากจะได้เกี่ยวกับโลกใบนี้ ขอเพียงแต่เราอย่าเอาแต่คร่ำครวญถึงมัน หากแต่จงเปลี่ยนแปลงมัน" - ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์คอส
"Leadership is the other side of the coin of loneliness, and he who is a leader must always act alone. And acting alone, accept everything alone." "There are many things we do not want about the world. Let us not just mourn them. Let us change them." - Ferdinand Marcos
สู่สนามเลือกตั้ง
"คุณรู้ไหม" คอรี่ อากิโน พูด "เมื่อ 'นินอย' อยู่ในคุก ฉันเคยคิดว่าเราทุกคนได้รับส่วนแบ่งของความทุกข์ของแต่ละคน และเมื่อ 'นินอย' ถูกสังหาร ฉันรู้สึกช่างเต็มไปด้วยส่วนแบ่งของความทุกข์ทรมานมากมายเหลือเกิน..." – คอรี่ อากิโน
ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ย. ปี 1985 (พ.ศ.2528) นั่นเอง มาร์คอสสร้างความตกตลึงให้คนฟิลิปปินส์ทั้งประเทศเมื่อเขาประกาศทางสถานีโทรทัศน์สหรัฐช่องหนึ่งว่า เขาจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ใหม่ในเดือน ก.พ.ปีหน้า (ค.ศ. 1986) ซึ่งถือเป็นการกำหนดวันเลือกตั้งแบบ "ฉับพลัน" โดยให้เวลาเตรียมการแก่ฝ่ายตรงกันข้ามเพียงแค่ 2 เดือนเศษ มาร์คอสทำเช่นนี้ด้วยหวังที่จะแก้ข้อครหาที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวที่แล้ว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเขาโกงการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้รัฐบาลของเขาไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศทั้งในสายตาของประชาชนและนานาชาติ
คราวนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เลือกสตรีหม้าย -นางคอราซอน 'คอรี่' อาคีโน เป็นคู่ท้าชิงมาร์คอส ทีแรกนางลังเล แต่ภายหลังมีการล่าลายเซ็น "ลุ้น" ถึงหนึ่งล้านชื่อ 'คอรี่' ก็ตัดสินใจลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ในนามพรรค "องค์การแนวร่วมชาตินิยมประชาธิปไตย" (The United Nationalists Democratic Organizations - UNIDO) ของ นายซัลวาดอร์ เลาเรล ตามคำแนะนำของหัวหน้าพระราชาคณะแห่งมะนิลา พระคาร์ดินัล อาร์คบิชอบไฮมี ซิน ผู้ทรงอิทธิพล โดยนายเลาเรล ลงเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับ 'คอรี่' [1]
กลุ่มแยกดินแดนฯ หาเสียงให้ 'คอรี่'
"มีเรื่องตกอกตกใจนิดหน่อย" นูรฺ มิซัวรี เอ่ยขึ้น ขณะรำลึกถึงเหตุการณ์ในเช้ามืดที่หนาวเย็นวันหนึ่งในเดือน ม.ค. ปี 1986 (พ.ศ.2529) เมื่อเสียงเคาะประตูห้องพักในโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงมาดริด ประเทศสเปนดังขึ้น ระหว่างนี้ นูรฺ มิซัวรี ประธานและผู้ก่อตั้ง "แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร" (MNLF) กำลังอยู่ในระหว่างหลบหนีการติดตามจับกุมตัวของมาร์คอส ทำให้เขาระเห็จมาอยู่ในกรุงตรีโปลี ลิเบีย ด้วยความช่วยเหลือของ พ.อ.มุอัมมาร์ กัดดาฟี ที่จริง นูรฺ มิซัวรี่ พักอยู่ที่กรุงมาดริดแค่คืนเดียวคืนนั้น ระหว่างรอคอยขึ้นเครื่องไปคาซาบลังกา มอรอคโก เพราะมีการประชุมที่นั่น
บุรุษแปลกหน้าที่มาเคาะประตูห้องของ นูรฺ มิซัวรี่ คือ นายอาฆาเป หรือ 'บุตส์' อาคีโน น้องชายของ 'นินอย' ซึ่งบินมามาดริดตามคำขอร้องของ 'คอรี่' อากิโน พี่สะใภ้; 'บุตส์' มาขอความร่วมมือจากมิซัวรีให้ช่วย 'คอรี' สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.พ. ปีนั้นเอง
"ขอให้พี่ชายช่วยเราด้วยเถอะ" บุตส์เอ่ยขึ้น "ท่านควรจะช่วยเหลือเรารักษาประชาธิปไตยเอาไว้ นี่คือโอกาสเดียวที่เราจะได้ทำลายระบอบเผด็จการผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง" [2]
มิซัวรี ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับครอบครัวอาคีโน; 'นินอย' ผู้ล่วงลับเคยพบปะกับมิซัวรีในตะวันออกกลางหลายครั้งระหว่างมิซัวรีพำนักอยู่ที่นั่นในช่วงปี 1978-2001 (พ.ศ.2521 – พ.ศ.2544) หลัง 'นินอย' ออกจากคุก; 'นินอย' ได้สร้างพันธมิตรกับกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้กับระบอบมาร์คอส เขาให้ความเห็นอกเห็นใจการต่อสู้ของชาวโมโรมินดาเนา และเคยกล่าวในที่ปราศรัยหลายครั้งในเชิงให้การสนับสนุนชาวโมโรมินดาเนาในการกำหนดและเลือกชะตากรรมของตนเอง (self-determination)
ยิ่งกว่านั้น 'นินอย' ยังแสดงความจริงใจ "แม้แต่ให้สัญญาว่าจะรับรู้ความปรารถนาของพวกเขา (ชาวโมโร) ที่มีต่อแผ่นดินแม่ที่แยกตัวออกไป หรือแม้แต่ที่เป็นเอกราช (...even promising that he would recognize their aspirations for separate, even an independent, homeland) ถ้าสามารถโค่นล้มเผด็จการมาร์คอสลงได้" [3]
กระนั้นมิซัวรีก็ยังมิวายถามว่า MNLF จะได้อะไรจากการช่วยเหลือคอรี่ในการเอามาร์คอสลงจากเก้าอี้? มิซัวรียังคงจำคำตอบของ 'บุ๊ตส์' ที่กรุงมาดริดในเช้าวันนั้นได้ดี เขาเล่าว่า 'บุ๊ตส์' พูดว่า "ผมได้นำเอาคำพูดแห่งเกียรติยศของท่านคอรี่มายังท่านว่าถ้า...และว่าเมื่อไหร่ที่ท่านตัดสินใจที่จะช่วยเหลือ... และด้วยความช่วยเหลือนั้นสามารถส่งให้คอรี่ได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์... คำมั่นสัญญาทั้งหมดของ 'นินอย' -- คอรี่จะทำให้มันสำเร็จเป็นจริงขึ้นมา..ทั้งหมด!" [4]
สำหรับมิซัวรี เมื่อเขามองย้อนกลับไปในปี 1976 (พ.ศ.2519) ซึ่งเป็นช่วงที่กองกำลังของ MNLF ประสบความสำเร็จอย่างมาก มาร์คอสต้องส่งกำลังทหารถึงเกือบ 3 ใน 4 ของกองกำลังทั้งหมดไปยังมินดาเนา แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ตรงกันข้ามสถานการณ์กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม แม้ว่ามาร์คอสจะอาศัย "กองกำลังพลเรือนป้องกันบ้าน" (ILAGA) ที่ตนจัดตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ปฏิบัติการคู่ขนานกันไป สำหรับกองกำลังนี้เป็นกองกำลังติดอาวุธชาวคริสต์คลั่งศาสนา ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการปฏิบัติการณ์ไล่ล่าหัวมนุษย์ (cannibalism) เหมือนพวกชนเผ่าในป่าดงดิบ ถือเป็นกลุ่มที่ทำการต่อสู้กับพวก MNLF อย่างรุนแรง [5]
ในที่สุด OIC (องค์การการประชุมอิสลาม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นองค์การความร่วมมืออิสลาม) ก็ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง มาร์คอสตัดสินใจแก้เกมด้วยการส่ง นางอีเมลดา มาร์คอส สตรีหมายเลขหนึ่งของตนไป "พูดคุยสันติภาพ" กับ พ.อ.มุอัมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีลิเบียขณะนั้น กัดดาฟีและ OIC ซึ่งคอยให้ความช่วยเหลือมิซัวรี บีบให้มิซัวรียอมเข้าสู่กระบวนการ "พูดคุยสันติภาพ" กับมาร์คอส มิซัวรียอมวางอาวุธเพื่อแลกกับแนวคิดการจัดตั้งเขตปกครองตนเองในมินดาเนา โดยรวมเอา 13 จังหวัดกับ 9 เมืองในมินดาเนาเข้าด้วยกัน อันเป็นที่มาของ "สัญญากรุงตริโปลี 1976" [6]
อย่างไรก็ตาม คำสัญญานี้กลับไร้ผล แนวคิดการปกครองตนเองในข้อตกลงนี้กลายเป็นเรื่องหลอกลวง เมื่อปรากฏว่ามาร์คอสสามารถเกลี้ยกล่อมผู้นำ MNLF คนอื่นๆ หลายคนให้ยอมเป็นพวกด้วย มาร์คอส "อ่อยเหยื่อ" ด้วยการ "ตบ" ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ให้พวกนั้น มิซัวรี่ไม่เห็นด้วย การประกาศหยุดยิงล้มเหลว การปกครองตนเองตามสัญญิงสัญญาที่มาร์คอสให้ไว้เป็นเพียงฝันค้าง มิซัวรี่นำพลพรรคของ MNLF ต่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายรัฐต่อไปแม้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่เขาก็สามารถสร้างความยากลำบากให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นอย่างมาก
ดังนั้นคำขอร้องของ 'บุ๊ดส์' ในอีกทศวรรษต่อมาครั้งนี้ (ค.ศ. 1986) สำหรับมิซัวรีแล้วจึงไม่มีอะไรที่เขาจะสูญเสียอีก อันที่จริงย่างเข้าปี 1986 กองกำลัง MNLF ของมิซัวรี่ครอบครองพื้นที่เกือบทั้งหมดในมินดาเนา แต่มิซัวรี่ก็ยอมตกลง มิซัวรีรณรงค์ให้ชาวโมโรในมินดาเนาสนับสนุน นางคอรี่ อากิโน ก้าวไปถึงดวงดาวในตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ให้จงได้ เขาบันทึกเสียงลงในเทป ส่งไปให้พี่น้องชาวโมโรเปิดฟังอย่างเปิดเผย เขาขอให้ชาวโมโรทุกคนสนับสนุนนางคอรี่ อากิโน ทุกหนทุกแห่งในมินดาเนามีการเปิดเทปบันทึกเสียงมิซัวรี
มิซัวรีกล่าวว่า แม้แต่แม่ยายของเขาซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองโจโลในเกาะซูลู ก็ใช้วิธีเคาะประตูบ้านแบบบ้านต่อบ้านเพื่อหาเสียงให้คอรี่ [7]
จุดจบทรราชย์
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของฟิลิปปินส์ประกาศว่า การเลือกตั้งเมื่อ 7 ก.พ.1986 (พ.ศ. 2529) ผู้ชนะคือมาร์คอส ได้คะแนนเสียงทั้งสิ้น 10,807,197 คะแนน ส่วน คอรี อากิโน ได้ 9,291,761 เสียง แต่ "องค์กรเพื่อการเลือกตั้งเสรีแห่งชาติ" (NAMFREL) กลับประกาศให้คอรี อากิโนเป็นผู้กำชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 7,835,070 คะแนน ขณะที่มาร์คอสได้ 7,053,068 คะแนน ซึ่งเป็นไปตามโพล [8]
"คุณเป็นคนเดียวที่สามารถรวมฝ่ายค้านทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวได้" (You are the only one who can unite the opposition) มีคนบอกนาง วันรุ่งขึ้นนางคอรี่ อากิโน นำประชาชนในกรุงมะนิลาออกจากบ้านเรือนมารวมกันที่ริซาล ปาร์ค ที่ประชุมบาทหลวงคาธอลิคแห่งฟิลิปปินส์ (CBCP) ติเตียนการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าไม่โปร่งใส สภาสูงสหรัฐก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน
ขณะที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน กลับส่ง นายฟิลลิป ฮาบิบ ทูตสหรัฐมาพบนางคอรี่ เสนอแผนการแบ่งปันอำนาจระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยเชิญนางเข้าร่วมรัฐบาล แต่คอรี่ปฏิเสธ คอรี่โจมตีมาร์คอสว่าโกงการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้ประชาชนเลิกใช้บริการ รวมทั้งไม่ซื้อสินค้าของกลุ่มเพื่อนมาร์คอส การรวมตัวกันของประชาชนครั้งนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเบื่อหน่ายของชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อระบอบมาร์คอสซึ่งครองอำนาจมายาวนานถึง 20 ปี [9]
ภายในกองทัพเองก็เกิดการแตกแยกอย่างรุนแรง นายพลสองคนออกมาปรากฏตัวในที่ชุมนุม วันศุกร์ที่ 22 ก.พ.นั้นเอง นายพลฮวน ปนเซ เอนริเล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายพลฟิเดล รามอส รองผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ ซึ่งคุมสำนักงานตำรวจประกาศในการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนว่า ทั้งสองรู้สึกว่ามาร์คอสปล้นการเลือกตั้งครั้งนี้!
อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สถานีวิทยุ "ราดิโอ เวริตาสฺ" (Radio Veritas) ของโบสถ์โรมันคอธอลิคซึ่งเป็นสถานีวิทยุแห่งเดียวที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล กระจายเสียงการแถลงข่าวดังกล่าวแก่สื่อมวลชนไปทั่วประเทศ มาร์คอสเตือนให้เอนริเลและรามอสยอมแพ้ และ "หยุดการกระทำที่โง่ๆ" เสีย มาร์คอสมีผู้บัญชาการเหล่าทัพซึ่งคุมกำลังส่วนใหญ่ในกองทัพคือ นายพลฟาเบียน แวร์ ยืนอยู่ข้างฝ่ายเขา
เวลา 09.00 น. พระคาร์ดินัลไจมี ซิน ซึ่งทรงอิทธิพลในหมู่ชาวคริสตังอันเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด ส่งสารเรียกร้องให้ประชาชนไปร่วมในการประท้วงที่ถนนเอดซา เพื่อให้การสนับสนุนและร่วมปกป้องนายพลทั้งสองที่ยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน ปรากฏว่าไม่เพียงแต่ประชาชน แต่ทั้งพระและแม่ชีคาธอลิคก็เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงที่ถนนเอดซาอย่างชนิดมืดฟ้ามัวดิน ประมาณกันว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งสิ้นราวๆ 1-3 ล้านคน [10]
---------------------------------------(โปรดอ่านต่อตอน 5)------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ศ. ดร.นูรฺ พี. มีซัวรี ประธานและผู้ก่อตั้ง MNLF และอดีตผู้ว่าการ "เขตปกครองตนเองในมินดาเนามุสลิม" (ARMM) ให้สัมภาษณ์นักข่าวขณะถูกคุมขังในบ้านหลังเล็กๆ ของทางการในช่วงปี พ.ศ.2545–พ.ศ.2551 ในสมัย นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย เป็นประธานาธิบดี
2 การปฏิวัติของพลังประชาชน พ.ศ.2529 ที่ถนนเอดซาครั้งที่ 1
3 หนังสือพิมพ์ ดิ อินไควเรอร์ ของฟิลิปปินส์ ฉบับ 26 ก.พ. 1986 (พ.ศ. 2529) พาดหัวข่าวว่า "ทุกอย่างจบ มาร์คอสหนีแล้ว!"
เชิงอรรถ :
[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Corazon_Aquino; Retrieved: 12/08/2012
[2][3][4][7] ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากการสัมภาษณ์ นูรฺ มิซัวรี ระหว่างเขาถูกคุมขังในบ้านหลังเล็กๆ ของทางการ ในช่วงปี 2002-2008 สัมภาษณ์และเขียนโดย Sheila S. Coronel โปรดดู http://pcij.org/stories/nur-misuari/; Retrieved: 10/08/2012
[5][6] http://en.wikipedia.org/wiki/Moro_National_Liberation_Front; Retrieved: 23/08/2012 และ http://mnlfnet.com/The_Tripoli.htm; Retrieved: 12/08/2012
[8][9][10] http://english.turkcebilgi.com/EDSA+Revolution; Retrieved: 14/08/55