บึ้ม 2 จุด 8 ศพที่ชายแดนใต้...“นักรบรุ่นใหม่-คดีคาใจ” โหมไฟคุโชน
สุเมธ ปานเพชร / ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุระเบิดอย่างรุนแรง 2 ครั้งเมื่อวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ 1 กับ 2 ก.ค. ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.ยะหา จ.ยะลา ทำให้มีทหารหลัก ทหารพราน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เสียชีวิตรวม 8 ศพนั้น ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมา “ช็อค” สังคมไทยอีกครั้ง
พร้อมๆ กับคำถามที่เซ็งแซ่ว่า...เกิดอะไรขึ้น (อีกแล้ว) ที่ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน?
จะว่าไป เหตุรุนแรงที่สร้างความสูญเสียขนาดใหญ่กับกำลังพลลักษณะนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในระยะหลัง โดยเฉพาะการกดระเบิดอย่างแม่นยำ และยุทธวิธี “บึ้ม” แล้ว “กราดยิงซ้ำ”
ยุทธวิธีดังกล่าวเคยสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายความมั่นคงอย่างมากมายในช่วงปี 2550 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2551 โดยเฉพาะห้วงเวลากลางปีคล้ายๆ กับในปีนี้ กล่าวคือ
1. เหตุการณ์ดักโจมตีทหารรบพิเศษชุดปฏิบัติการทางจิตวิทยา (ปจว.) เมื่อเย็นวันที่ 9 พ.ค.2550 ที่ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิต 7 นาย
2. เหตุการณ์ลอบวางระเบิดและยิงซ้ำทหารพรานชุดเฉพาะกิจที่ 4105 เสียชีวิต 11 นาย ที่หมู่ 5 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อค่ำวันที่ 31 พ.ค.2550
3. เหตุการณ์ซุ่มโจมตีทหารชุดคุ้มครองครู สังกัด ร้อย ร.2514 ค่ายวิภาวดีรังสิต เสียชีวิต 7 นาย ที่บ้านบือซู หมู่ 6 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 15 มิ.ย.2550
รวม 3 เหตุการณ์สูญเสียกำลังพลไปถึง 25 นาย!
ถัดจากนั้น คือเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2551 เกิดเหตุการณ์ซุ่มโจมตีทหารชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) สังกัด ร้อย ร.2933 ในท้องที่หมู่ 4 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิตไปอีก 8 นาย
สาเหตุที่ทำให้การโจมตีของฝ่ายก่อความไม่สงบลดความรุนแรงลงในระยะหลัง เชื่อกันว่ามาจากมาตรการ “ปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุม” อย่างเข้มข้น ที่เรียกขานกันว่า “ยุทธการพิทักษ์แดนใต้” ในครึ่งหลังของปี 2550 ส่งผลให้สมาชิกขบวนการทั้งในระดับแกนนำและแนวร่วมถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก
การหวนกลับมาเกิดเหตุรุนแรงที่สร้างความสูญเสียขนาดใหญ่อีกครั้งในปีนี้ จึงมีคำถามว่า เป็นฝีมือของ “นักรบรุ่นใหม่” ที่เพิ่งผ่านการฝึกและเริ่มเข้าปฏิบัติการใน “พื้นที่สีแดง” ที่มีมวลชนของฝ่ายก่อความไม่สงบอย่างหนาแน่นหรือไม่?
จับตา “นักรบรุ่นใหม่”
ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ นักวิจัยในโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิเคราะห์ประเด็นนี้ โดยแบ่งเป็น 2 สมมติฐาน ได้แก่
1.ห้วงเวลาที่เกิดเหตุ ปัญญศักดิ์ มองว่า ช่วงกลางปีของทุกๆ ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่เดือน พ.ค.ถึง ก.ค. สถิติการก่อเหตุรุนแรงจะพุ่งสูงขึ้นเป็นประจำ แต่ยังอธิบายสาเหตุไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไร
2.ปฏิบัติการของนักรบรุ่นใหม่ ปัญญศักดิ์ บอกว่า ยุทธวิธีในการโจมตีเป้าหมายที่คนร้ายสามารถกระทำได้อย่างรุนแรงและแม่นยำ อาจเป็นฝีมือของ “เซลล์ใหม่” ที่ได้รับการฝึกทางยุทธวิธี รวมทั้งสรุปบทเรียนจากข้อผิดพลาดที่ผ่านมาของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ จนสามารถก่อเหตุได้อย่างสมบูรณ์มากกว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
“แต่ผมเชื่อว่า ‘เซลล์ใหม่’ ที่ผ่านการฝึกนั้น ยังคงมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง และอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างจำกัด คือเป็นพื้นที่ที่มีมวลชนของฝ่ายก่อการเคลื่อนไหวอย่างหนาแน่นอยู่แล้ว คือ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กับ อ.ยะหา จ.ยะลา” นักวิจัยในโครงการมั่นคงศึกษา สกว.ระบุ
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระดับสูงจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ในทำนองไม่เชื่อว่าเหตุการณ์รุนแรงที่สร้างความสูญเสียขนาดใหญ่ได้เช่นนี้ จะเป็นฝีมือของ “นักรบรุ่นใหม่” เพราะเป็นงานที่ยากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูง แต่ข้อสังเกตดังกล่าวนี้ ปัญญศักดิ์ มองต่างออกไป
“เป็นธรรมดาของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้หรือกองกำลังติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไหนก็ตาม เมื่อผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือผลิตนักรบรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนกองกำลังชุดเก่าที่ถูกจับกุมหรือเสียชีวิตจากการปะทะ รวมทั้งพวกที่หันหลังให้ขบวนการด้วย โดยบรรดานักรบรุ่นเก่าที่ยังเหลืออยู่ ก็จะขยับขึ้นเป็นครูฝึก เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้บรรดานักรบรุ่นใหม่ต่อไป”
“ที่สำคัญคือกองกำลังชุดเก่าจะศึกษาจุดบกพร่องในการปฏิบัติที่ผ่านมา เป็นบทเรียนในการปรับยุทธวิธีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดให้กับนักรบรุ่นใหม่ อย่าลืมว่าในขณะที่ฝ่ายรัฐมีการปรับยุทธวิธี ทางกลุ่มก่อความไม่สงบเองก็ต้องปรับกลยุทธ์เช่นกัน”
นักวิจัยจากโครงการความมั่นคงศึกษา สกว. ยังวิเคราะห์ว่า การผลิต “เซลล์ใหม่” เพื่อทดแทนนักรบรุ่นเก่าของฝ่ายขบวนการ ดูจะยังดำเนินการได้ไม่ยากและค่อนข้างปิดลับ เพราะน่าเชื่อว่าความเคลื่อนไหวของกองกำลังรุ่นใหม่เหล่านี้ยังปรากฏในฐานข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงน้อยมาก จึงทำให้เกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถป้องกันได้เช่นนี้
“สิ่งสำคัญคือกองกำลังรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยมีคดีติดตัว หรือทิ้งร่องรอยไว้ในที่เกิดเหตุ ทำให้การดักทางหรือสืบหาข่าวเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นฝ่ายความมั่นคงต้องเตรียมพร้อมมากขึ้นและไม่ประมาท เพื่อให้สามารถตั้งรับการโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” ปัญญศักดิ์ กล่าว
“คดีคาใจ”โหมไฟรุนแรง
ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือก “ห้วงเวลาก่อเหตุ” ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะการ “ฉวยจังหวะ” ในช่วงนี้ ต้องถือว่า “ได้สองต่อ” คือนอกจากจะสามารถตรึงบรรยากาศแห่งความ “น่าสะพรึงกลัว” เอาไว้ในพื้นที่ได้แล้ว ยังเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมในการ “ดิสเครดิต” และ “ตอบโต้” เจ้าหน้าที่รัฐได้อีกด้วย
อย่าลืมว่าตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มี “คดีคาใจ” เกิดขึ้นในพื้นที่หลายคดี และทำให้ภาพพจน์ขงอฝ่ายความมั่นคงเสียหายไปมากพอสมควร ได้แก่
1.การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ “สุไลมาน แนซา” ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงวัย 25 ปี ซึ่งพบเป็นศพในลักษณะมีผ้าผูกคอติดอยู่กับลูกกรงหน้าต่างภายในห้องพักของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. พูดง่ายๆ คือมีผู้ต้องสงสัยตายในค่ายทหารระหว่างถูกควบคุมตัว แม้ฝ่ายทหารจะพยายามยืนยันว่าเป็นการ “ผูกคอตายเอง” แต่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อ
2.เหตุระเบิดปริศนาหน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับสิบราย เมื่อค่ำวันที่ 8 มิ.ย. ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นระเบิดที่มาจากรถทหารขณะแล่นผ่านบริเวณนั้นพอดี แต่หลังเกิดเหตุฝ่ายหารพยายามบอกว่าไม่มีรถของกำลังพลแล่นผ่าน ทว่าในที่สุดก็มีภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดยืนยัน แต่ฝ่ายทหารก็ยังยืนกรานว่าเป็นระเบิดที่ถูกคนร้ายปาใส่รถ สร้างความฉงนสนเท่ห์ไปทั่ว
3.เหตุปาระเบิดที่หน้ามัสยิดนูรุลมุตตาลีน บ้านตะบิ้ง หมู่ 1 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 19 มิ.ย. ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เป็นเด็ก 2 คนและผู้หญิงวัยกลางคนอีก 1 คน เหตุการณ์ดังกล่าวมีการปล่อยข่าวในพื้นที่ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ฝ่ายรัฐจะยืนยันว่าเป็นความพยายามป้ายสีของกลุ่มคนร้ายก็ตาม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกใช้วิธีประชาสัมพันธ์ในรูปแบบปกติของฝ่ายความมั่นคงในเหตุการณ์อ่อนไหวทั้ง 3 เหตุการณ์ ทำให้พ่ายแพ้ “ขบวนการข่าวลือ” ของกลุ่มผู้ก่อการในพื้นที่ การเลือกจังหวะก่อเหตุสร้างความเสียหายขนาดใหญ่ให้กับกำลังพลและคนของรัฐในห้วงนี้ จึงทำให้ฝ่ายผู้ก่อการได้ประโยชน์ไปเต็มๆ
เมื่อผนวกเข้ากับความเคลื่อนไหวของบรรดา “นักรบรุ่นใหม่” ที่เปิดปฏิบัติการป่วนแบบ “ปูพรม” หลายสิบจุดใน 6 อำเภอของ จ.ยะลา คือ รามัน ยะหา บันนังสตา กรงปินัง ธารโต และเบตง เมื่อเช้ามืดวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงต้องบอกว่าสัญญาณความรุนแรงรอบใหม่กำลังเริ่มขึ้นแล้ว
คำถามจึงย้อนกลับมาที่ฝ่ายรัฐว่า เตรียมการรับมือเอาไว้หรือยัง?
-----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดในท้องที่ อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. ทำให้ทหารพลีชีพถึง 3 นาย