"ฟิลิปปินส์-เอ็มไอแอลเอฟ"บรรลุข้อตกลงสันติภาพ ลุยตั้งเขตกึ่งปกครองตนเอง
สื่อเครือเนชั่นรายงานเมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 และ 8 ต.ค.2555) ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้นกับกลุ่ม "แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามิกโมโร" หรือ The Moro Islamic Liberation Front (MILF) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งเขตกึ่งปกครองตนเองในชื่อใหม่แทนชื่อเดิมที่ล้มเหลว
ข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวนับเป็นความคืบหน้าสำคัญของความพยายามยุติการสู้รบกับเอ็มไอแอลเอฟ และกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่ยืดเยื้อมานาน 40 ปี
ประธานาธิบดีเบนิกโน่ อาคิโน่ แถลงว่า รัฐบาลสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามิกโมโร หลังจากการเจรจารอบล่าสุดระหว่างสองฝ่ายที่มาเลเซียซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 2 ต.ค.2555 สิ้นสุดลงเมื่อวันเสาร์ที่ 6 ต.ค.
ความสำเร็จของการบรรลุข้อตกลงล่าสุดเป็นผลมาจากความพยายามเจรจานานถึง 15 ปีเพื่อหาทางยุติการสู้รบที่ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตไปมากกว่า 150,000 คน โดยในการเจรจามีมาเลเซียเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย และคาดว่าจะมีพิธีลงนามข้อตกลงล่าสุดที่กรุงมะนิลาในวันที่ 15 ต.ค.นี้
ข้อตกลงที่เป็นเอกสารยาว 13 หน้า มีเนื้อหากำหนดกรอบแนวทางสู่การจัดตั้งเขตกึ่งปกครองตนเองบนเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวคริสต์ โดยจะตั้งชื่อเขตกึ่งปกครองตนเองแห่งใหม่ว่า "บังซาโมโร" แทนชื่อเดิมคือ "เขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา" หรือ ARMM
ประธานาธิบดีอาคิโน่ บอกว่า เขตปกครอง ARMM ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 23 ปีที่แล้วเป็นการทดลองที่ล้มเหลว ไม่สามารถแก้ไขสงคราม ความยากจน การโกงการเลือกตั้ง ระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง และกองกำลังกลุ่มต่างๆ ได้ ประชาชนยังคงไม่คุ้นเคยกับระบบ และคนที่ไม่พอใจก็เลือกใช้อาวุธเป็นทางออก
เขาให้ความมั่นใจว่า ข้อตกลงใหม่นี้จะปูทางสู่การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในมินดาเนา เพราะจะมีการยุบกองกำลังแบ่งแยกดินแดนเอ็มไอแอลเอฟที่มีสมาชิกราว 12,000 คน และเขาให้สัญญาว่าจะทำให้กระบวนการจัดตั้งคณะบริหารเขตปกครองตนเองบังซาโมโรมีความโปร่งใสเท่าที่จะทำได้
ข้อตกลงจะกำหนดหลักการกว้างๆ ในหลายเรื่อง เช่น ขอบเขตอำนาจการปกครองตนเอง รายได้ และดินแดน โดยหากการเจรจามีความคืบหน้าต่อเนื่องก็คาดว่าจะสามารถลงนามในข้อตกลงฉบับสมบูรณ์และจัดตั้งเขตกึ่งปกครองตนเองใหม่ได้ภายในปี 2559 ก่อนที่ประธานาธิบดีอาคิโน่จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งในปีเดียวกัน โดยจะจัดให้มีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนต่อกฎหมายการจัดตั้งเขตกึ่งปกครองตนเองบังซาโมโร ซึ่งข้อตกลงนี้จะไม่ขัดต่อหลักการที่ว่า ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งประเทศ และประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกัน
นอกจากนี้ อาคิโน่ บอกว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยังทำหน้าที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงต่างประเทศและการคลังในบังซาโมโร ส่วนประชาชนในบังซาโมโรจะได้รับส่วนแบ่งภาษี รายได้ และผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค รวมทั้งจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
มินดาเนาเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแร่ เช่น ทองคำ ทองแดง และเป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดของประเทศ โดยเขตกึ่งปกครองตนเองบังซาโมโรจะครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด มีประชากรกว่า 4 ล้านคน
ย้อนอดีตความขัดแย้งและความรุนแรง 40 ปีมินดาเนา
ปี 2515 ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศเพื่อกำจัดกองกำลังติดอาวุธกลุ่มมุสลิมและคอมมิวนิสต์ ขณะที่กลุ่มมุสลิมที่ต้องการแยกดินแดนในมินดาเนาทางภาคใต้ของประเทศได้ก่อตั้งองค์กรที่เรียกว่า แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร หรือ เอ็นเอ็มแอลเอฟ (The Moro National Liberation Front; MNLF) โดยมี นายนูร์ มิซัวรี เป็นผู้นำ
ปี 2517 กองกำลังเอ็นเอ็มแอลเอฟมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และกองทัพได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสู้รบกันอย่างดุเดือด
ปี 2518 รัฐบาลจัดการเจรจากับนายมิซัวรีในเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียและผู้นำเอ็มเอ็นแอลเอฟตกลงเจรจาในประเด็นการตั้งเขตปกครองตนเอง
ปี 2519 โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียในขณะนั้น เป็นสักขีพยานในการลงนามระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในการตั้งเขตปกครองตนเองใน 13 จังหวัดและ 9 เมืองในมินดาเนา
ปี 2521 ซาลามัต ฮาชิม หนึ่งในแกนนำเอ็มเอ็นแอลเอฟ แยกตัวออกจากเอ็มเอ็นแอลเอฟ และประกาศจะสู้รบต่อไปเพื่อแยกดินแดนเป็นรัฐอิสระ
ปี 2524 ซาลามัต จับมือกับ มูรัด เอบราฮิม แกนนำอีกคนหนึ่ง จัดตั้งกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามิกโมโร หรือ เอ็มไอแอลเอฟ
ปี 2532 รัฐบาลประธานาธิบดีคอราซอน อาคิโน เจรจากับกลุ่มเอ็มเอ็นแอลเอฟ จนสามารถจัดตั้งเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา หรือ ARMM ได้
ปี 2539 เอ็มเอ็นแอลเอฟ ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลประธานาธิบดีฟิเดล รามอส
ปี 2540 กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ ตกลงจะเจรจาสันติภาพกับรัฐบาล แต่ในปีถัดมา ประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า ประกาศทำสงครามกวาดล้างเอ็มไอแอลเอฟ
ปี 2546 ประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ทำข้อตกลงหยุดยิงกับเอ็มไอแอลเอฟ เพื่อปูทางสู่การเจรจาสันติภาพ
ปี 2551 รัฐบาลประกาศข้อตกลงสันติภาพให้เอ็มไอแอลเอฟ ควบคุมพื้นที่กว่า 700 เมืองและอำเภอ แต่ข้อตกลงล้มไปเพราะศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เอ็มไอแอลเอฟจึงเปิดฉากโจมตีชาวคริสต์ในมินดาเนา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 400 คน
เดือน ส.ค.ปี 2554 ประธานาธิบดีเบนิกโน่ อาคิโน จัดการเจรจาลับกับ นายมูรัด เอบราฮิม หัวหน้ากลุ่มเอ็มไอแอลเอฟที่ญี่ปุ่น เพื่อรื้อฟื้นกระบวนการสันติภาพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีและหัวหน้ากลุ่มเอ็มไอแอลเอฟได้พบปะและเจรจากันแบบตัวต่อตัว
7 ต.ค. 2555 หลังรัฐบาลสานต่อการเจรจากับกบฏหลายรอบที่มาเลเซีย ประธานาธิบดีอาคิโน่ ประกาศว่าบรรลุข้อตกลงร่วมกับเอ็มไอแอลเอฟ ในการจัดตั้งเขตกึ่งปกครองตนเองใหม่
อุปสรรคและความท้าทายที่ยังรออยู่
"ทีมข่าวอิศรา" รายงานข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า เขตกึ่งปกครองตนเองทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่ถูกอ้างถึงในข้อตกลงสันติภาพนั้น เอ็มไอแอลเอฟถือว่าเป็น "ดินแดนตกทอดจากบรรพบุรุษ"
และแม้การพูดคุยครั้งล่าสุดที่มาเลเซียระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับเอ็มไอแอลเอฟ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพ ทว่าก็ยังมีประเด็นที่เป็นอุปสรรคและความท้าทายรออยู่อีกมาก
นายกาซาลี จาฟา (Ghazali Jaafar) รองประธานฝ่ายกิจการการเมืองของเอ็มไอแอลเอฟ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เรามีความสุขมาก และขอขอบคุณประธานาธิบดีในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นเพียง "โรดแมพ" (แผนที่เดินทาง) ที่ยังไม่มีบทสรุปใดๆ ในสาระสำคัญ เช่น ขนาดของดินแดนที่จะรวมกันเป็นเขตกึ่งปกครองตนเอง
Rommel Banlaoi ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสันติภาพ ความรุนแรง และก่อการร้ายแห่งฟิลิปปินส์ กล่าวกับเอเอฟพีว่า มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างจุดยืนของทั้งสองฝ่ายซึ่งต้องการการถกแถลงร่วมกันต่อไป และการกำหนดเส้นตายให้กระบวนการสันติภาพสำเร็จก่อนปี 2559 เป็นเรื่องยาก เนื่องจากการเจรจาในส่วนที่สำคัญที่สุดเพิ่งจะเริ่มต้น
นักวิเคราะห์อีกหลายรายให้ทัศนะตรงกันว่า ประเด็นสำคัญที่สุดที่จะเป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ฝ่าย คือจะแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรมหาศาลในมินดาเนากันอย่างไร เพราะจากถ้อยแถลงของประธานาธิบดีอากิโนก็ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ที่ชัดเจน
ปัญหาต่อมาก็คือ เอ็มไอแอลเอฟ ต้องการให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรับรองสถานภาพทางกฎหมายของเขตกึ่งปกครองตนเอง และให้อำนาจการปกครองตนเองที่อาจจะมากกว่าอำนาจที่รัฐบาลกลางจะยอมรับได้ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่รัฐบาลอากิโน่ปฏิเสธมาตลอด เพราะมีผลต่อเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคาธอลิกที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
ในขณะที่ นายอากิโน่ บอกว่า ข้อตกลงสุดท้ายจะต้องผ่านการรับรองโดยการทำประชามติ
และแม้จะไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาก็ต้องพิจารณากฎหมายพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับเขตปกครองตนเองที่จะเกิดขึ้นใหม่อยู่ดี ซึ่งรัฐบาลนายอากิโน่วางเป้าหมายไว้ว่ารัฐสภาจะให้ความเห็นชอบในเรื่องนี้ในปี 2558 เพื่อให้เหลือเวลามากพอที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดผลในทางปฏิบัติก่อนที่นายอากิโน่จะหมดวาระการเป็นประธานาธิบดี
ทว่าหากกระบวนการสันติภาพต้องล่าช้าออกไป สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงเมื่อฟิลิปปินส์มีประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าต้องไม่ใช่นายอากิโน่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์กำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว เป็นเวลา 6 ปี ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดใหม่อาจมีมุมมองใหม่ต่อปัญหานี้แตกต่างจากรัฐบาลนายอากิโน่ก็ได้
ด้านท่าทีของชาติมหาอำนาจ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ สนับสนุนให้เกิดก้าวต่อไปของข้อตกลงสันติภาพเพื่อให้เกิดผลอย่างสมบูรณ์ ขณะที่รัฐบาลอังกฤษยินดีกับข้อตกลงสันติภาพ แต่ก็ระบุว่ายังมีหลายสิ่งที่ต้องสานต่อ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แผนที่ประเทศฟิลิปปินส์ และเกาะมินดาเนาทางตอนใต้
2 นายเบนิกโน่ อากิโน่
อ่านประกอบ : ชุดที่ 1 ว่าด้วยความพยายามของฟิลิปปินส์ในการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนให้สำเร็จก่อนนับหนึ่งประชาคมอาเซียน
เมื่อฟิลิปปินส์เร่งเครื่องรับประชาคมอาเซียน ลุยเจรจากลุ่มแยกดินแดน (1)
http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/15728--1.html
เมื่อฟิลิปปินส์เร่งเครื่องรับประชาคมอาเซียน ลุยเจรจากลุ่มแยกดินแดน (2)
http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/15968--2.html
เมื่อฟิลิปปินส์เร่งเครื่องรับประชาคมอาเซียน (3) ย้อนอดีต"ภาวะฉุกเฉิน"ระบอบมาร์คอส
http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/16138--3-.html
อ่านประกอบ : ชุดที่ 2 ว่าด้วยเบื้องหลังความล้มเหลวของการเจรจาครั้งก่อนเมื่อปี 2551 ภายหลังศาลสูงวินิจฉัยว่าข้อตกลงสันติภาพขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่ง"ทีมข่าวอิศรา"ได้ลงพื้นที่จริงที่มินดาเนาด้วย
จากชายแดนใต้ถึงมินดาเนา (1) บทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4161&Itemid=4
จากชายแดนใต้ถึงมินดาเนา (2) ย่างก้าวสู่นักข่าวสันติภาพ
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4163&Itemid=4
จากชายแดนใต้ถึงมินดาเนา (3) เมื่อหนทางสู่สันติสุขถูกตั้งคำถาม
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4173&Itemid=58