ประมงพื้นบ้านลุ้น กษ.จ่อช่วยลดราคาน้ำมัน
ก.เกษตรฯ เตรียมช่วยประมงขนาดเล็กใช้น้ำมันราคาถูก-เล็งตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานประมงแก้ปัญหาค้ามนุษย์-ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
วันที่ 8 ต.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านการประมง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ โดยนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือกันในเรื่องการช่วยเหลือการจำหน่ายน้ำมันราคาถูกแก่ชาวประมง ตามที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและผู้แทนชาวประมงจ.สมุทรปราการได้เสนอให้มีการให้ความช่วยเหลือจัดหาน้ำมันราคาถูกหรือลดราคาให้แก่ชาวประมงขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถออกไปเติมน้ำมันในโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลในเขตต่อเนื่องราชอาณาจักร(น้ำมันเขียว)ได้ เนื่องจากระยะทางไกลขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการรายงานว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านซึ่งใช้น้ำมันเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพถึงร้อยละ 30 -40 ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียด เช่น วิธีการปฏิบัติ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการฯต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการหารือกันในประเด็นแรงงานภาคการประมง ซึ่งเกิดข้อกล่าวหาเรื่อการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงไทยนั้น รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นกรรมการระดับชาติ เพื่อดำเนินการด้านแรงงาน โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอแผนการดำเนินงานเพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีหรือ Good Labour Practice (GLP) สำหรับแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงไทย ซึ่งเน้นเรื่องการจัดหาแรงงาน การจ้างงาน สวัสดิการ รวมถึงสภาพการทำงานของแรงงานประมงทั้งที่เป็นคนไทยและแรงงานต่างด้าวด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อร้องเรียนมาว่าแรงงานภาคการประมงขาดแคลนและเข้ามาทำงานได้เพียงระยะสั้น โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวร้อยละ 90 ที่ทำงานบนเรือประมง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานภาคประมง นำร่อง จำนวน 7 ศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล เพื่อให้มีแรงงานประมงทั้งไทยและต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะกิจการบนเรือประมงมาทำงานเท่านั้น โดยมีระบบการควบคุม ตรวจสอบ คุ้มครองแรงงาน ให้ความรู้เรื่องสิทธิที่พึงจะได้รับแก่นายจ้างและลูกจ้าง การจัดทำข้อตกลงการจ้างระหว่างกันที่ชัดเจน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการบังคับใช้แรงงานที่อาจนำไปสู่การค้ามนุษย์ โดยจะมีการทบทวนและปรับปรุงบันทึกความเข้าใจทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และพม่า เกี่ยวกับขั้นตอน ค่าธรรมเนียม และการเตรียมความพร้อม ในการทำงานตามลักษณะหรือสภาพงานเพื่อรองรับแรงงานต่างด้าวย้ายถิ่นให้สามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ทั้งนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เสนอแนวทางดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเพื่อรายงานที่ประชุมครม.ต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://news.hatyaiok.com/?p=115319