ส. ส่งออกข้าวจวกนโยบายจำนำทำแพ้ปท. เพื่อนบ้าน ชงรื้อโซนนิ่งเกษตร
3 องค์กรเศรษฐกิจเกษตรเผยผลส่งออกไทยไตรมาส 3 หดตัวกว่า 2 แสนล้าน เหตุจำนำข้าวทำราคาโด่งคุณภาพต่ำ-สายพันธุ์มั่วแพ้กัมพูชากับเวียดนาม ชงรื้อโซนนิ่งเกษตรวางแผนระยะยาว
วันที่ 8 ต.ค. 55 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร จัดแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร เรื่อง ‘สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารปี 55 และแนวโน้มในปี 56’ ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผอ. สถาบันอาหาร เปิดเผยถึงภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 8 เดือนแรก(ม.ค.-ส.ค.) ปี 55 ว่า มีมูลค่าการส่งออก 665,712 ล้านบาท โดยอาเซียนยังเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 24 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.6 ในปี 54 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น ส่งออกร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.6 ในปีก่อน ส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัวลงร้อยละ 10.4 และ 5.0 ทั้งนี้ในตลาดอื่น ๆ เกิดการหดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ได้แก่ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ลดลงร้อยละ 11.9 และ 9.8 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากการส่งออกข้าวเป็นหลัก รองลงมา คือ ผลไม้แปรรูป กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป และผักสด/แปรรูป
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกรวมตลอดไตรมาสที่ 3 มีโอกาสหดตัวร้อยละ 0.8 คิดเป็นมูลค่า 253,125 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าเป็นไตรมาสที่ 3 เป็นจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 55 ขณะที่ไตรมาสที่ 4 คาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ทำให้การส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท/เดือน รวมตลอดไตรมาสการส่งออกจะมีมูลค่า 240,520 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน
“การส่งออกข้าวจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากภาครัฐส่งมอบข้าวก่อนสิ้นปี หลังจากมีข่าวว่าจะมีการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้าดังกล่าวจะช่วยประคับประคองภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีได้”
รองผอ. สถาบันอาหาร กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 56 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากยังคงต้องพบกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศในปี 56 และแนวโน้มการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ส่วนปัจจัยนอกประเทศ เช่น ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากภัยแล้งในประเทศต่าง ๆ อีกทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งตัวหลังจากสหรัฐฯ ออกมาตรการคิวอี 3
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังเข้มแข็งจะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบของอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการส่งออกได้ระดับหนึ่ง ประกอบกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) น่าจะกระตุ้นการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยทั้งในและระดับภูมิภาคในปี 56 ได้ โดยคาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0-4.0 มูลค่าการส่งออก 1,030,000-1,080,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.0-10.0
นายอมร ยังพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยประจำก.ย. 55 อยู่ในระดับ 51.4 ซึ่งมากกว่า 50 ส่วนอีก 3 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 54.2 ซึ่งอยู่ในระดับดีเช่นกัน แต่หากพิจารณารายกลุ่มจะเห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านข้าวและเครื่องปรุงรสลดลง เนื่องจากต้นทุนข้าวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนเครื่องปรุงรสก็มีราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นเช่นกันและขาดแคลนแรงงาน ส่วนกลุ่มผลไม้แปรรูป กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป และผักสด/แปรรูปยังมีความเชื่อมั่นที่ดี
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า 9 เดือนแรกของปี 55 ภาคเอกชนไทยส่งออกข้าวรวม 5 ล้านตัน จากเป้าหมายทั้งปี 6.5 ล้านตัน ปริมาณลดลงจากปี 54 ประมาณ 44.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งปีคิดเป็น 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงราว 32% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 54 ที่เคยขายได้ 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสถานการณ์ตลาดข้าวหอมมะลิในจีนของไทยมีอัตราลดลง เพราะจีนสั่งซื้อข้าวขาวจากประเทศเวียดนาม ปากีสถาน และอินเดีย เพราะมีราคาถูกกว่า ทำให้ตัวเลขข้าวหอมมะลิลดลงร้อยละ 10 ขณะที่ข้าวขาวและข้าวนึ่งร้อยละ 49
“ปัจจุบันข้าวหอมมะลิไทยมีความบริสุทธิ์แพ้ข้าวหอมมะลิของกัมพูชาแล้ว เพราะข้าวหอมมะลิไทยมีข้าวอื่นปลอมปน เนื่องจากการเร่งปลูกข้าวโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ เพื่อรีบส่งขายในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวรัฐบาลต้องเดินหน้าแผนโซนนิ่งเกษตรทันที” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ กล่าว
ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าฯ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งวางแผนโครงสร้างอาหารและเกษตรกรรม 20 ปีข้างหน้า ไม่ใช่คิดจะปลูกข้าวในพื้นที่ใดก็ได้ อาจเกิดผลเสียต่อคุณภาพผลผลิตและธุรกิจเกษตรและอาหาร จะเห็นว่า “รัฐบาลคิดเรื่องเหล่านี้ไม่เป็น” หากเป็นเช่นนี้ต่อไปภาคเอกชนไทยจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน ถ้ารัฐบาลยังไม่รื้อโครงสร้างระบบการจัดการอาหารและเกษตรกรรมใหม่.
ที่มาภาพ : ผู้จัดการออนไลน์