แม่ทัพภาค4 คนใหม่...จุดเปลี่ยนไฟใต้-การเมืองนำทหาร?
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
หลังจากปฏิบัติการ "กระชับวงล้อม" จนสามารถสลายม็อบเสื้อแดงได้สำเร็จเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ดูเหมือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะลุย "กระชับอำนาจ" ด้วยการตั้งคนที่ตัวเองไว้วางใจเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ เพื่อวางฐานทางการเมืองให้แข็งแกร่งต่อไป จนหลายๆ ครั้งชักจะออกอาการ "ย่ามใจ" และ "มันมือ"
โดยเฉพาะการเปิดตำแหน่ง "ที่ปรึกษา (สบ 10)" นอกฤดู เพื่อผลักดัน พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผงาดขึ้น "พลตำรวจเอก" แต่งตัวรอเป็น ผบ.ตร.ตัวจริงเสียงจริงคนใหม่
ถึงนาทีนี้ว่ากันว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาดถึงขนาด "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" แม่ทัพสีกากีน่าจะหนีไม่พ้น พล.ต.ท.อัศวิน (ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ ผบ.ตร.พาสชั้นมาจากพลตำรวจโท) ขณะที่กองทัพบกนั้น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนั่งจ่อเป็นรอง ผบ.ทบ.อยู่ในปัจจุบัน
ส่วนเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) คนใหม่ ก็ต้องขานชื่อ พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ซึ่งฝึกงานเป็นรองเสนาธิการทหารบกมาระยะหนึ่ง และสร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะปฏิบัติการ "กระชับวงล้อม" จนสามารถ "ขอคืนพื้นที่ (ยืน)" ให้กับทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลเทพประทานได้สำเร็จ
หากทุกอย่างเป็นไปตามโผนี้ กองทัพบกก็จะมี ผบ.ทบ. และ เสธ.ทบ.คู่บุญ เพราะเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) ด้วยกัน...
คนวงในกระซิบให้ฟังว่า ตำแหน่งหลักๆ ดังที่ไล่เรียงมา เห็นทีจะไม่มีอะไรต้องลุ้น จะมีก็แต่ตำแหน่งที่สมควรลุ้น เพราะรับผิดชอบวาระแห่งชาติ "ดับไฟใต้" นั่นก็คือตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 เพราะค่อนข้างชัดเจนว่าปลายปีนี้ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน ถึงเวลาต้องโบกมือลาไปรับโบนัส "พลเอก" และอาจเข้าไลน์ "5 เสือ ทบ." เพื่อรอเกษียณอายุราชการในปีหน้า หลังจากเหน็ดเหนื่อยเป็นแม่ทัพดับไฟใต้มานานถึง 2 ปีเต็ม
ประเด็นที่ตั้งคำถามกันให้แซ่ดทั้งที่ชายแดนใต้และส่วนกลางก็คือ ใครจะมาดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ในห้วงที่ "ไฟใต้" ยังคงลูกผีลูกคน เพราะนายทหารประเภท "ดี-เด่น-ดัง" แทบจะยังไม่มีใครอาสา เนื่องจาก 6 ปีที่ผ่านมา แม่ทัพภาคที่ 4 แต่ละคนนั้น เวลาไปรับตำแหน่งก็นั่งเครื่องบินไป แต่เวลากลับ แทบจะหามกลับเกือบทุกราย
ฉะนั้นแคนดิเดตที่เห็นเด่นชัดส่วนใหญ่จึงเป็นนายทหารที่อยู่ในไลน์ "ทัพ 4" อยู่แล้ว เท่าที่พอเห็นหน้าเห็นตาจนถึงขณะนี้มีดังนี้
1. พล.ท.กสิกร คีรีศรี (ตท.11) ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) จุดเด่นของ พล.ท.กสิกร คือเป็น "คนใน" ของกองทัพภาคที่ 4 อยู่แล้ว รับราชการอยู่ในภาคใต้มานาน ที่สำคัญ พตท. หรือ พตท.43 เดิม ก็คือหน่วยบัญชาการใช้กำลังในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่พร้อมๆ กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และมาปรับยศ ผบ.พตท.เป็น "พลโท" ในภายหลัง ทำให้กองทัพภาคที่ 4 มีนายทหารยศ "พลโท" ถึง 2 คน
และ พล.ท.กสิกร ก็เป็น ผบ.พตท.ที่ครองยศ "พลโท" เป็นคนแรก เรียกว่ารู้งาน รู้โครงสร้างเป็นอย่างดี ลูกน้องในพื้นที่สนับสนุนพอสมควร แต่จุดอ่อนของ พล.ท.กสิกร ก็คือเหลืออายุราชการอีกเพียงแค่ปีเดียว
2. พล.ต.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ (ตท.13) รองแม่ทัพภาคที่ 4 คนที่หนึ่ง จุดเด่นของ พล.ต.อุดมชัย ก็คือเป็นรองแม่ทัพอันดับ 1 ซึ่งโดยประเพณีทหารก็มีโอกาสและความชอบธรรมสูงที่จะก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพ ประกอบกับ พล.ต.อุดมชัย มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำศาสนาในพื้นที่ จัดว่าเป็นนายทหารที่ได้รับการยอมรับในระดับน่าพอใจคนหนึ่ง
จุดอ่อนของ พล.ต.อุดมชัย ยังแทบไม่มีให้เห็น อายุราชการก็ยังเหลืออีก 3 ปี และหาก ผบ.ทบ.คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็น ตท.12 พล.ต.อุดมชัย ก็จัดเป็นนายทหารรุ่นน้อง จึงไม่น่ามีปัญหาเรื่องการบังคับบัญชา ติดเพียงแค่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการแม่ทัพภาคที่ 4 จาก ตท.12 หรือไม่เท่านั้นเอง
3. พล.ต.จำลอง คุณสงค์ (ตท.14) รองแม่ทัพภาคที่ 4 คนที่สาม เป็นนายทหาร "สายพิราบ" ที่ได้รับแรงสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากเอ็นจีโอและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ และยังเป็นลูกหม้อ "ทัพ 4" อีกคนหนึ่ง เคยผ่านตำแหน่งสำคัญๆ มามากมาย รวมทั้งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 (ผบ.พล.ร.15) กองพลใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะด้วย
จุดอ่อนของ พล.ต.จำลอง ดูจะเป็นเรื่องอ่อนอาวุโส ซึ่งผู้บังคับบัญชาอาจมองว่า "ยังรอได้" ไม่ต้องรีบตั้งในปีนี้
ส่วน พล.ต.สำเร็จ ศรีหร่าย (ตท.13) อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยเป็นชื่อที่มาแรงเมื่อ 2-3 ปีก่อน ระยะหลังเงียบหายไป แม้จะยังช่วยงานอยู่ในพื้นที่ก็ตาม โอกาสและความเป็นไปได้จึงน้อยกว่าแคนดิดเดต 3 คนแรก
อย่างไรก็ดี ยังมีชื่อนายทหารจากนอกกองทัพภาคที่ 4 ที่ถูกพูดถึงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่ว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ.คนใหม่ ต้องการแม่ทัพภาค 4 ที่มาจากรุ่นเดียวกัน นายทหารคนที่ว่านี้ก็คือ พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ (ตท.12) หัวหน้าชุดประสานงานภูมิภาค ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (หน.ชปภ.ศอฉ.) อดีตรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (รองผบ.นสศ.) หรือ "นักรบหมวกแดง"
จุดแข็งของ พล.ท.จเรศักดิ์ ก็คือเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.ประยุทธ์ และยังรู้มือ เชื่อใจ เนื่องจากทำงานใน ศอฉ.ช่วงปราบม็อบเสื้อแดงมาด้วยกัน แต่จุดอ่อนของนายทหารอดีตรองผบ.นสศ.ผู้นี้ก็คือ ความเชี่ยวชาญพื้นที่อาจจะน้อยไปนิด หากต้องไปรับผิดชอบภารกิจพิเศษถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงอาจเจอแรงต้านจากทหารในพื้นที่ได้เหมือนกัน
แคนดิเดตทั้งหมดที่ไล่เรียงมา ล้วนพิจารณาจากฐานการทำงานใน "ระบบทหาร" ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ต้องนั่งควบเก้าอี้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) และเป็น ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บังคับบัญชาภารกิจ "ดับไฟใต้" ในโครงสร้างที่ให้ทหารเป็น "พระเอก" ด้วย
ปัจจุบัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีหน่วยงานหลักที่อยู่ในสายบังคับบัญชา 2 หน่วย คือ พตท. กับ ศอ.บต. โดยมีแม่ทัพภาค 4 นั่งบัญชาการสูงสุด ซึ่งจะเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ "การทหารนำการเมือง" ก็คงไม่ผิด (แม้รัฐบาลทุกชุดจะยืนยันว่าเป็นยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" ก็ตาม)
คำถามก็คือทิศทางที่ดำเนินการและมีพัฒนาการมาตลอด 6 ปีเศษนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจแล้วหรือไม่ เพราะสถิติเหตุร้ายก็ยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่งานพัฒนาที่ทหารเร่งทำก็ดู "ลักลั่น" ไม่ตรงกับความถนัดมากนัก
ถามใจแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ จะปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ เพราะ "ไฟใต้" ก็ไม่ต่างอะไรกับ "ก้างตำคอ" ของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีฐานเสียงสำคัญจากภาคใต้พรรคนี้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลมาเกือบ 2 ปี สถานการณ์ในภาพรวมก็ไม่ได้ดีขึ้นดังที่หลายฝ่ายวาดหวัง
อย่าลืมว่า "พลวัต" ของปัญหาภาคใต้น่าจะเลยจุดที่ต้องใช้ "กำลังทหาร" แก้ไขไปแล้ว เพราะกระแสที่พูดกันหนาหูในพื้นที่ขณะนี้คือ "การเปิดโต๊ะเจรจา" และ "การจัดรูปการปกครองแบบพิเศษ" ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุนี้การพิจารณาตั้งแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ โดยไม่ยอมฉีก "กฎเกณฑ์" แบบเดิมๆ เช่น ยึดอาวุโสอย่างเดียว หรือคิดแค่ว่าอยู่รุ่นไหน อาจก้าวไม่ทันพลวัตของปัญหา ฉะนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะคัดสรรนายทหารผู้มีวิสัยทัศน์ในการ "เปิดแนวรุกทางการเมือง" จริงๆ ทั้งการเมืองในพื้นที่ การเมืองในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ เข้ามารับผิดชอบแทนการทำงาน “รูทีน” เหมือนที่ผ่านๆ มา
ทั้งนี้ก็เพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของปัญหาภาคใต้ที่กลุ่มขบวนการพยายามใช้ยุทธศาสตร์ "โลกล้อมไทย" มาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีปมละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไขสำคัญนำไปสู่การเคลื่อนไหวในเวทีสากล ทั้งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ซึ่งมีเพื่อนบ้านของไทยอย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นสมาชิกสำคัญ
วันนี้ได้เวลา "เปลี่ยนโจทย์" ไฟใต้แล้ว ติดอยู่แค่ว่ารัฐบาลและกองทัพพร้อมจะ "เปลี่ยนโจทย์" หรือยัง?
--------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) พล.ท.กสิกร พล.ต.อุดมชัย พล.ต.จำลอง พล.ต.สำเร็จ