จาก “เจ้าแม่มาร์ธา” ถึง “สรยุทธไร่ส้ม” ความเหมือนที่แตกต่าง?
มีหลายคนบอกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” พิธีกรดังช่อง 3 ในเวลานี้ คล้ายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นกับ “มาร์ธา สจวร์ต” เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์ของชาวอเมริกัน เมื่อหลายปีก่อน
ด้วยความเป็น “ผู้มีอิทธิพล” จากการเป็น “สื่อมวลชน” และประสบความสำเร็จ ในการ “ทำธุรกิจ” แถมยังมีปัญหาจากคดีความเรื่องเงินๆ ทองๆ เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบวิบากกรรมที่ “สรยุทธไร่ส้ม” เจอในเวลานี้ ยังไปได้ไม่ถึงครึ่งทางที่ “คุณป้ามาร์ธา” เคยเจอ
เพราะในปี 2547 ที่ “มาร์ธา” ถูกลงโทษจากการเทขายหุ้นบริษัทยาแห่งหนึ่ง จำนวน 3,928 พันหุ้น หลังได้รับข้อมูล “วงใน” จากโบรกเกอร์รายหนึ่ง ว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทนี้กำลังจะตก หลังยาตัวหนึ่งที่พัฒนาขึ้น ไม่ผ่านการรับรองจาก อ.ย.ของสหรัฐอเมริกา
พฤติกรรมของเธอจึงถือเป็นการละเมิด "กฎอินไซเดอร์” เอาเปรียบนักเล่นหุ้นรายอื่นๆ
ในวันนั้น แม้เธอถูกจะลงโทษเพียงให้จำคุกเป็นเวลา 5 เดือน และกักบริเวณในบ้านพักตัวเอง อีก 5 เดือน
แต่การสอบสวนที่ใช้เวลานานกว่า 3 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ได้ทำลายชื่อเสียง และแน่นอน “ความน่าเชื่อถือ” ของไอดอลของแม่บ้านชาวอเมริกันรายนี้ไปจนเกือบหมดสิ้น
นอกจากจะถูกสื่อด้วยกันตามตรวจสอบไม่เว้นวัน
เอเจนซี่ต่างๆ ยังตัดสินใจถอนโฆษณาออกจากทั้งนิตยสาร Martha Stewart Living และรายการโทรทัศน์ Martha
เวลาเดียวกัน หุ้นบริษัท Martha Stewart Living Omnimedia ก็ร่วงหล่นจมดิน จนต้องปลดพนักงานออกกว่า 200 คน
ท้ายสุด เธอจำต้องพักงานและลาออกจากบริษัทตัวเอง เพื่อจำกัดวงความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปกว่าเดิม
ถือเป็นหายนะสำหรับ “เจ้าแม่มาร์ธา” โดยแท้
ในขณะที่ปี 2555 หายนะดังกล่าว ยังไม่เกิดขึ้นกับ “สรยุทธ” อาจเพราะสังคมไทยต่างกับสังคมสหรัฐฯ จึงยังไม่มีมาตรการทางสังคมใดๆ กับบุคคลที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ช่อง 9 ร่วมกับยักยอกเงินโฆษณาเกิน 138 ล้านบาท มาให้กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด
หรืออาจเพราะ “พิษ” จากเรื่องนี้ เป็นประเภทค่อยๆ ออกฤทธิ์ และวิ่งเข้าสู่หัวใจอย่างช้าๆ
เพราะแม้วันนี้เขายังมีสามารถจัดรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” หรือ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” พร้อมเปิดวีทีอาร์ย้อนรอยวีรกรรมตัวเองที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ได้ต่อไป
แต่อาการไม่ยอมรับจากผู้คนในสังคมต่อตัว “นักเล่าข่าว” คนดังนี้ นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในแวดวงสื่อมวลชนไทย ดังที่ “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” นักข่าวสาวจากช่อง 7 เขียนจดหมายเปิดผนึกตั้งคำถามแรงๆ ถึงตัวเขาว่า "ยังรักวิชาชีพสื่ออยู่ไหม?" หลังนักเล่าข่าวชื่อดังตอบโต้เสียงเรียกร้องให้เว้นวรรคจากการจัดรายการ ด้วยการร่อนใบลาออกจากการเป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งสมจิตต์เรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า “เป็นการทำร้ายวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างเลือดเย็นยิ่ง!”
กลับมาที่ “มาร์ธา” หลังเผชิญหายนะทั้งทางวิชาชีพและทางธุรกิจ พร้อมถูกตัดสินให้จำคุกรวมถึงกักบริเวณ
แทนที่จะอุทธรณ์เพื่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป เพราะยืนยันมาตลอดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด (เหมือนที่สรยุทธพูดย้ำหลายครั้ง ระหว่างแถลงตอบโต้ ป.ป.ช.ในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ว่า ทุกอย่างต้องไปพิสูจน์ในชั้นศาล)
เธอกลับถอยออกมา 1 ก้าว แถลงยอมรับบทลงโทษนั้น ก่อนพูดประโยคสำคัญ ที่ดลใจให้ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” สมัยยังเป็น บ.ก.นิตยสารโอเพ่น ต้องเขียนบทความเรื่อง “วรรคทองของมาร์ธา” ออกมา
ภิญโญได้บันทึกถึงเรื่องดังกล่าว ไว้เช่นนี้
“มาร์ธาให้เหตุผลที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์สูงมาก นั่นก็คือนอกจากจะบอกว่าเธอทนทุกข์กับเรื่องนี้มาเพียงพอแล้ว และต้องการจะรับโทษเพื่อยุติเรื่องนี้ ประโยคเด็ดของเธอก็คือ การตัดสินใจไม่อุทธรณ์ ก็เพื่อที่ว่าเธอจะได้ออกจากเรือนจำมาทันเวลาทำสวนในฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง
“อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ถ้าไม่ใช่ฝีมือของนักวางแผนประชาสัมพันธ์มือทอง ก็ต้องจัดว่ามาร์ธาแสดงออกถึงความเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง ทั้งกินใจและอธิบายตัวตนของเธอได้อย่างชัดเจน
“จะว่าไปคนที่ต่อสู้สร้างฐานะมาด้วยตนเองจนสามารถขึ้นมาเป็นต้นแบบให้กับผู้คนได้มากมาย มีฐานะการเงินที่มั่งคั่ง มีชื่อเสียงที่มั่นคงในสังคม กึคงมีน้อยคนเต็มทีที่คิดว่าในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า ตนเองจะต้องเผชิญชะตากรรมจนถึงขั้นติดคุกติดตารางเช่นนี้ แม้มาร์ธาจะยืนยันว่าเธอไม่ผิด แต่การทำกำไรเพียงน้อยนิดกลับมีราคาที่ต้องจ่ายเท่ากับอิสรภาพและความมั่งคั่งที่หดหายไปในพริบตา”
แน่นอนว่า การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่ “พิธีกรดังของไทย” ว่าจะเลือกเดินตามรอย “พิธีกรดังของสหรัฐฯ” (พักงาน-ยอมรับโทษ) หรือไม่
เพราะถ้าดูรายได้จากการประกอบธุรกิจ ทั้งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด ที่สูงถึง 2.6 พันล้านบาท (ข้อมูลถึงปี 2554 โดยสำนักข่าวอิศรา) น่าจะเรียกได้ว่า สรยุทธมีเงินเพียงพอที่จะัใช้ไปได้ตลอดชีวิตแล้ว
ที่สำคัญ หลังจาก “มาร์ธา สจวร์ต” รับโทษจนครบกำหนด เธอก็กลับมาประกอบอาชีพดังเดิม คือเป็นทั้งสื่อและนักธุรกิจ โดยบริษัทของเธอกลับมาทำกำไรได้ในเวลาเพียง 2 ปี ส่วนตัวเธอก็ใช้เวลาไม่นาน ในการรวบรวมชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ จนคัมแบ๊กกลับมาเป็น “สื่อเซเล็บของคนอเมริกัน” ได้ตามเดิม
ส่วนเส้นทางชีวิตของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป อยู่ที่การตัดสินใจของเจ้าตัวล้วนๆ !!!
-หมายเหตุ- บทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียน มิใช่ความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช.