‘ชุมชนสุทธาวาส’ ปัญหาที่ดินคนจน “ต้องแก้ปัญหาตนเอง ก่อนร้องขอรัฐ”
คนจนบุกรุกและโดนไล่รื้อออกจากที่ดินสาธารณะของรัฐ เป็นปัญหาที่ปรากฏอยู่เสมอและแก้ไม่ตก ยิ่งไล่รื้อยิ่งบุกรุกเพราะไม่มีที่ไป ‘บ้านมั่นคง’ จึงเป็นทางออกบนความร่วมมือของรัฐ-ชาวบ้าน
เร็ว ๆ นี้ ชุมชนสุทธาวาส อ.เมือง จ.อ่างทอง 11 ครัวเรือน ได้รับมอบเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะจากกระทรวงมหาดไทย ตามโครงการบ้านมั่นคง นับเป็นชุมชนที่ 5 ต่อจากชุมชนศาลาแดง จ.เชียงใหม่ ชุมชนโพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม ชุมชนหนองตาเหล็ก จ.อุดรธานี และชุมชนเหล่าเกวียนหัก จ.ขอนแก่น ภายใต้ความร่วมมือของสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เทศบาลเมืองอ่างทอง เครือข่ายชุมชนด้านที่อยู่อาศัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดูเหมือนการดำเนินงานมอบสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินค่อนข้างล่าช้าเมื่อเทียบกับจำนวนชุมชนที่เดือดร้อนอาศัยในที่ดินสาธารณะ 738 ชุมชน อยู่ในกระบวนการแก้ปัญหาเพียง 92 ชุมชน 5,837 ครัวเรือน โดยมีพื้นที่นำร่องก่อสร้างบ้านมั่นคง 20 ชุมชน ทั่วทุกภาคของไทย รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 112 ชุมชน ทั้งที่ ‘บ้านมั่นคง’ เป็นข้อเรียกร้องที่ชุมชนต่างโหยหา
คนจนเมือง ขออยู่อาศัยในบ้านมั่นคง ไม่คิดครองกรรมสิทธิ์ที่ดินสาธารณะ
น้ำอ้อย ยังประดิษฐ์ ประธานชุมชนสุทธาวาส กล่าวถึงสภาพปัญหาก่อนจะมีบ้านมั่นคง ว่าชุมชนสุทธาวาสชื่อเดิมชุมชนโรงถ่าน มีสภาพความเป็นอยู่แออัด เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติดและแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รายได้น้อย ชาวบ้านยากจนได้ตั้งบ้านเรือนบนพื้นที่สาธารณะริมคลองซึ่งหวั่นวิตกตลอดเวลาว่าจะถูกไล่รื้อ จึงรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมพัฒนา เช่น จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และพยายามหาทางออกเรื่องที่ดิน กระทั่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการบ้านมั่นคง ของรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนรับผิดชอบ ชาวบ้านสุทธาวาส 33 ครัวเรือนจึงได้รับความช่วยเหลือให้สร้างบ้านมั่นคงในที่ดินสาธารณะ 2 ไร่ 1 งาน ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างเสร็จและส่งมอบแล้ว 11 หลัง เสียค่าเช่ารายปีให้เทศบาลเมืองอ่างทองเพียงปีละ 100 บาทเท่านั้น
“ชาวบ้านไม่คิดครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ แต่จะดูแลให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” เสียงใสของ ‘ปุ้ย’ ทองสุข พุ่มสงวน ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ จ.ราชบุรี เล่าว่าที่ผ่านมาคนจนในเมืองถูกมองว่าอยู่สลัมทำให้บ้านเมืองสกปรก และก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ตกเป็นจำเลยสังคมและโดนไล่รื้อ บางครั้งถูกดำเนินคดี หรือหากได้รับความช่วยเหลือจากรัฐก็ไม่เต็มที่
เป้าหมายของโครงการบ้านมั่นคง เป็นการขับเคลื่อนการทำงานระหว่างประชาชนกับภาครัฐไปในทิศทางเดียวกัน เกิดการพัฒนาไปสองด้าน คือคนจนจะยังมีชีวิตอยู่ได้ดีภายใต้การดูแลประโยชน์พื้นที่ของรัฐ เช่น เสียค่าเช่าพื้นที่จัดการดูแลอย่างเป็นระบบ แต่หากภาครัฐคิดแต่จะไล่รื้อ คนจนไม่มีที่ไปก็ต้องบุกรุกต่อไปเรื่อย ๆ เป็นปัญหาไม่จบสิ้นให้รัฐต้องตามแก้
ชุมชนต้องช่วยตัวเองก่อนโอดครวญขอรัฐ
วิศว ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการ จ.อ่างทอง มองว่ายุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินรูปแบบต่างๆ คนในชุมชนจะต้องรู้จักพื้นฐานชีวิตของตนก่อนว่าอยู่ตรงจุดไหน หากเกิดปัญหาก็ต้องร่วมมือกันแก้ไขเองเสียก่อน มิใช่มาโอดครวญว่าถูกละเลยจากภาครัฐตลอด โดยไม่แก้ปํญหาตนเอง เมื่อชุมชนเกิดการรวมตัวที่เข้มแข็งแล้ว คงไม่มีภาคส่วนใดปฏิเสธการช่วยเหลือ
ชุมชนสุทธาวาสจึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอีกหลายแห่งทั่วประเทศกับการรับสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะ เพราะผู้นำระดับท้องถิ่นให้ความสำคัญ เนื่องจากเห็นความตั้งใจของชาวบ้านที่สามัคคีขจัดปัญหายาเสพติดได้ ซี่งในอดีตถือเป็นแหล่งมั่วสุมใหญ่ในพื้นที่ ทุกภาคส่วนก็อยากจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่หากยังมีคนเสพหรือขายยาอยู่คงไม่เกิดขึ้น
แก้ปัญหาที่ดินชาวบ้าน-ที่ดินรัฐอย่างยั่งยืนต้อง ‘โฉนดชุมชน’
เชาวลิต อาสนสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่พนักงานกรมที่ดิน จ.อ่างทอง ชี้แนวทางความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะว่า การขอใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะมีระยะเวลา 5 ปีในการถือครอง เมื่อครบกำหนดจะต้องส่งคืนตามกฎหมาย หรือต่ออายุการถือครองออกไป อย่างไรหลายคนแอบหวั่นว่าอาจโดนไล่รื้อได้อีก ดังนั้นการจัดการชุมชนยั่งยืนที่ดีจึงควรขอโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านได้บริหารจัดการกันเอง แต่ต้องสร้างความมั่นใจก่อนว่าชุมชนจะมีความสามัคคีกัน จึงจะบริหารจัดการพื้นที่โฉนดชุมชนให้ยั่งยืนได้
พอช. เผย 10 ปี บ้านมั่นคงไม่กระเตื้อง เหตุชาวบ้านไม่สนอง
ชัยวิชญ์ภณ ตังกิจ ผู้จัดการภาคกลาง พอช. ที่ขับเคลื่อนโครงการบ้านมั่นคงใน จ.อ่างทอง แสดงความเห็นว่า สังคมไทยปัจจุบันมีคำ 2 คำเกิดขึ้น คือ ‘ขอ’กับ ‘ฝาก’ซึ่งความจริงการพัฒนาไม่จำเป็นต้องขอและฝาก แต่ให้ใช้ความร่วมมือขับเคลื่อน เพราะต้องเข้าใจว่าหน่วยงานรัฐจะมีนโยบายทิศทางการปฏิบัติหน้าที่ชัดเจน บางครั้งจึงไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้ทุกเรื่อง ฉะนั้นคนในชุมชนจะต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาขั้นพื้นฐานเองภายใต้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะ ‘ปัญหาของเรามีไว้แก้ มิใช่ไว้ขอคนอื่น’
“สาเหตุที่ยากจนเพราะเราไม่แก้ไขตนเองหรือเปล่า” คำปรารภของนักพัฒนาที่ถามเครือข่ายบ้านมั่นคงกลางเวที ชวนให้คิดว่าไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถแก้ไขปัญหาท้องถิ่นได้ดีเท่าคนในชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาหลายโครงการที่ภาครัฐดูแลจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะลงทุนด้วยตัวเงินโดยขาดการตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน จึงไม่สามารถสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของที่จะดูแลได้
ชัยวิชญ์ภณ ยังกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการบ้านมั่นคงที่ สอช.ร่วมกับเครือข่ายผลักดันคนจนเป็นแกนนำหลักในการแก้ปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัยจนสำเร็จนั้นครบรอบ 10 ปีได้ เพราะใช้หลักการข้างต้นตลอด อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังประสบปัญหาขาดเครือข่ายชุมชนทำงานจริงจัง ทำให้การขับเคลื่อนพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยล่าช้า เพราะชุมชนหลายแห่งลงชื่อเป็นคณะทำงาน แต่เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ลงพื้นที่ช่วยเหลือกลับไม่มีผู้ใดร่วมขับเคลื่อนจริงจัง ทำให้ขาดความเชื่อมั่นจากองค์กรภายนอก
“คนในชุมชนต้องร่วมกันคิดและวางเป้าหมายกำหนดกรอบเวลาในการทำงานให้ชัดเจน มิเช่นนั้นโครงการบ้านมั่นคงอาจจะไม่เกิดขึ้นในชุมชนได้” ผู้จัดการภาคกลาง พอช. กล่าว
........................................................
วันนี้การแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชนสุทธาวาสส่งผลให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยมั่นคง เพราะมีความสามัคคี และสามารถสร้างความเชื่อถือให้ทุกภาคส่วนมั่นใจว่าจะอยู่ร่วมพัฒนาท้องถิ่นยั่งยืนได้ จึงเป็นเสมือนรางวัลชีวิตของคนจนเมืองที่รอคอยนับสิบปี.