เวียดนามจ่อร่วมสภายางฯระหว่างปท.-กษ.สั่งลดปริมาณขายยาง17วัน/เดือน
“เต้น”เฮเวียดนามร่วมประชุมยางระหว่างปท.ในไทย เล็งตั้งสภายางฯจับมือลาว-กัมพูชา-พม่า เผยปรับเกณฑ์โครงการรักษาเสถียรภาพยางให้ขาย17วัน/เดือน-แสดงบัญชีทุกครั้งกันสวมสิทธิ์
เร็วๆนี้ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางว่า จากการเดินทางไปหารือด้านยางพาราร่วมกับนายเดียบ กิงห์ เติน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท และนายเหงียน กัม ตู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 55 ที่ผ่านมา โดยเวียดนามเห็นชอบในหลักการการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ(ITRC) (ได้แก่ประเทศผู้ส่งออกยางพารา 3 รายใหญ่ของโลก คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) โดยเฉพาะการลดปริมาณการส่งออกยางพาราเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางว่ามีประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารา โดยจะส่งตัวแทนมาร่วมสังเกตการณ์และให้ข้อคิดเห็นในการประชุมสภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้
โดยคาดหวังว่าในอนาคตประเทศเวียดนามซึ่งขณะนี้เป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 4 ของโลก รวมทั้ง ลาว กัมพูชา และพม่า จะร่วมมือกันกำหนดยุทธศาสตร์ด้านยางพาราในภูมิภาค ซึ่งอาจมีการจัดตั้งสภายางพาราแห่งอาเซียนเพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่มประเทศผู้ผลิตยาง รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ต่อไป ซึ่งหากร่วมมือกันได้จะทำให้ปริมาณการส่งออกยางพาราในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ของตลาดโลก (ปัจจุบันร้อยละ 70)
ด้านนายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยผลการประชุมฯว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การปฏิบัติงานของโครงการฯในส่วนของปริมาณผลผลิตจากเดิมที่ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯขายผลผลิตได้ 2 กก./ไร่/วัน เดือนละ 30 วัน เปลี่ยนเป็น2กก./ไร่/วัน เดือนละไม่เกิน 17 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการกรีดยางวันเว้นวัน และสถาบันเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติให้ข้าร่วมโครงการฯ หากไม่จัดทำรายงานซื้อขายและขายยางส่งให้เลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการฯระดับจังหวัดทุก 15 วัน ให้ตัดสิทธิ์การซื้อขายไว้ก่อนจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อตรวจสอบและป้องกันการสวมสิทธิ์ในการซื้อขายยาง
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 8 ต.ค. 55
ทั้งนี้ยางพาราที่โครงการรักษาเสถียรภาพรับซื้อจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 55 มีทั้งสิ้น 1.5 แสนตัน โดยใช้งบประมาณกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
ที่มาภาพ ::: http://www.rd1677.com/branch.php?id=43442