"ภาคบริการ" เทรนด์ใหม่ของโลก แหล่งสร้างงานขนาดมหึมา
เหลียวดูเศรษฐกิจโลกยามนี้ ยังไม่ค่อยสดใส ส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีความร้ายแรงค่อนข้างมาก กระเทือนทั้งโลกอย่างที่เห็น..
เมื่อเศรษฐกิจโลกยังร่อแร่ “ไทย” ประเทศไทยที่เพิ่งพาการส่งออก แน่นอนย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมยังมีผลกระทบต่อกันเป็นโดมิโน ไปยังประเทศที่ไทยค้าขายด้วย เช่น จีน คู่ค้ารายใหญ่ นั้น ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย มองถึงความท้าทายของประเทศไทย เมื่อตลาดหลักขยายตัวช้าลง ใช่ว่า การแข่งขันของประเทศต่างๆ จะลดลงด้วย
"เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่การแข่งขันไม่ได้ลดลงเลย จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นไทยต้องมองหาวิธีใหม่ๆ ในการพัฒนาตัวเราเอง สิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ต้องพยายามหนีให้พ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle income trap) จะผลิตสินค้าใช้แรงงานมาก และแรงงานราคาถูกไม่ได้แล้ว เราต้องผลักตัวเองให้ออกจากกับดักนี้ให้ได้”
ดร.กิริฎา มองว่า มี 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่สามารถทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม นั่นก็คือ
1. เน้นเรื่องการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะคนในประเทศ เพราะหากคนในประเทศไทยไม่เก่ง ก็จบ ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้ ในอนาคตการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องเป็นแบบทั่วถึง ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และได้ประโยชน์ด้วย (Inclusive Growth) มิใช่คนรวยก็รวยไป คนจนก็จนเหมือนเดิม การขยายตัวเช่นนี้ ถือเป็นการขยายตัวที่ไม่สมบูรณ์
และ 2. ภาคบริการ (service sector) ถือเป็นเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้รับการดูแล ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว เทเลคอม โลจิสติกส์ การธนาคาร บัญชี กฎหมาย วิศวกรรม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ
“ภาคบริการ ถือเป็นภาคที่ค่อนข้างใหญ่ 42% ของจีดีพี มีการจ้างคน 45% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ แต่กลับพบว่า เติบโตช้ากว่าภาคอุตสาหกรรม ทั้งๆที่ภาคบริการเป็นเครื่องยนต์ที่มีศักยภาพ” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสฯ ระบุ พร้อมเชื่อว่า หากสามารถจุดชนวนให้เดินหน้าได้ ภาคบริการจะเป็นตัวจักรหนึ่ง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินไปข้างหน้า
ถามว่า ในโลกปัจจุบัน “ภาคบริการ” สำคัญมากขนาดไหน ?
ดูได้จากการค้าขายในโลก จะพบว่า การค้าบริการระหว่างกันมีอัตราสูงกว่าการค้าขายสินค้ามากมาย โดยเฉพาะธุรกิจบริการ (business service) เช่น เทเลคอม การธนาคาร กฎหมาย การบัญชี วิศวกรรม สถาปัตยกรรม
อีกทั้งไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญ เราให้ความสำคัญเฉพาะการท่องเที่ยว บริการนักท่องเที่ยว แบบเดิมๆ เท่านั้น
เอดีบี ชี้ภาคการบริการแหล่งสร้างงานขนาดมหึมา
สอดคล้องกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ออกรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจเอเชีย ปี พ.ศ. 2555 ฉบับล่าสุด (Asian Development Outlook Update 2012 หรือ ADOU 2012) ระบุว่า ปัจจุบัน ภาคการบริการมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตทางเศรษฐกิจของเอเชีย
ภาคการบริการมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2553 โดยคิดเป็นอัตราส่วนถึง 2 ใน 3 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ และมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของ GDP ในจีน
นอกจากนี้ ภาคการบริการยังเป็น แหล่งการสร้างงานขนาดมหึมา โดยมีการว่าจ้างงาน 34% ของแรงงานในภูมิภาค ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตแบบทั่วถึงและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
แม้ว่าภาคการบริการในเอเชียจะมีนาดใหญ่และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ระดับของผลิตภาพแรงงาน (labour productivity) ของภาคการบริการในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังคงล้าหลังกว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว
-ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียมีระดับผลิตภาพแรงงานน้อยกว่า 20% ของระดับผลิตภาพแรงงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development-OECD)
- สัดส่วนการใช้การบริการเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศและการโทรคมนาคมสื่อสาร ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ส่งผลกระทบทางลบต่อประสิทธิผลและประสิทธิภาพของภาคการบริการ
-อุปสรรคต่อการพัฒนาการบริการในภาคธุรกิจที่ต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญ และงานบริการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเครือข่ายบรอดแบรนด์ ซึ่งภูมิภาคเอเชียยังคงล้าหลังกว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว
และที่สำคัญที่สุดก็คือ กฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งปกป้องบริษัทที่ได้รับการเอื้อประโยชน์จากคู่แข่งทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ทั้งนี้ รายงานของเอดีบี ระบุด้วยว่า การผ่อนคลายกฎระเบียบในประเทศและอุปสรรคด้านการค้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างตลาดการบริการที่มีศักยภาพในการแข่งขันและมีผลิตภาพสูงขึ้น ในภูมิภาคนี้
และนี่คือ...เทรนด์ใหม่ของโลก ที่ไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ขอเพียงภาครัฐสนใจและลงมือสนับสนุนภาคบริการอย่างจริงจัง..อีกแรง
{youtubejw}mne9FznFs54{/youtubejw}