"เรือเหาะ"ฉลุย ทบ.รับได้บินสูงแค่ 3 พันฟุต ต่ำกว่าสเปค 2 กิโลเมตร อ้างแบกน้ำหนัก แต่เสี่ยงถูกยิง!
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันพุธที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา พ.อ.วิวรรธน์ สุชาติ รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก แถลงกรณีมีการนำเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์โครงการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องเพดานบินของเรือเหาะที่สเป็คกำหนดไว้ 10,000 ฟุต หรือราว 3 กิโลเมตร แต่จากการทดสอบหลายครั้งที่ผ่านมา เรือเหาะตรวจการณ์กลับบินได้เพียง 1 กิโลเมตร
“เรื่องเพดานบินเป็นคุณลักษณะเฉพาะของเรือเหาะ และได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นจะบิดเบือนไม่ได้ แต่มีข้อสงสัยว่าเรือเหาะบินได้จริงหรือไม่ ขอเรียนว่าที่เรือเหาะบินได้ 10,000 ฟุต คือเรือเหาะตัวเปล่า แต่การบินจริงของเรามีกล้อง 2 ตัว เครื่องส่งสัญญาณ อุปกรณ์อื่นๆ และเจ้าหน้าที่อีก 4 คน”
“การใช้เรือเหาะเขามีคู่มืออยู่ว่าน้ำหนักเท่านี้ อากาศเท่านี้ แรงลมเท่านี้ อุณหภูมิเท่านี้จะบินได้สูงเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนการตรวจรับ ก็ต้องตรวจรับไปตามคู่มือ สรุปได้ว่าในการบิน 10,000 ฟุต เป็นไปตามสเป็คของโรงงาน มีหน่วยควบคุมการบินของสหรัฐฯรับรอง แต่การบินใช้งานจริงจะใช้ 2,500-5,000 ฟุตแล้วแต่สถานการณ์ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเราว่าจะบรรทุกน้ำหนักเท่าไหร่ สภาพอากาศขณะนั้นเป็นอย่างไร ภารกิจของเราคืออะไร”
“ดังนั้นกรณีที่บอกว่าบินได้ไม่ตรงตามสเป็คแล้วตรวจรับ ขอให้เลิกพูดได้แล้ว เพราะถ้ากรรมการไปตรวจรับ และไม่ตรงตามสิ่งที่ถูกต้อง กรรมการก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องถูกตรวจสอบอยู่แล้ว”
พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการเติมก๊าซฮีเลี่ยมในบอลลูนนั้น มีคนสงสัยว่าราคาแพงเกินจริงหรือไม่ ขอชี้แจงว่าก๊าซฮีเลี่ยมราคาลูกบาศก์เมตรละ 1,000 บาท เป็นราคาปกติที่ซื้อกันในประเทศ หากเติมเต็มๆ ในตัวเรือเปล่าจะตกประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งมีคนสงสัยว่าบินทุกครั้งต้องเติมก๊าซทุกครั้งหรือไม่ คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับว่าเราบินสูงขนาดไหน เป็นเทคนิคการบินตามคู่มือ และสามารถตรวจสอบคู่มือได้ว่าเมื่อบินไปสูงเท่านี้ จะใช้ก๊าซฮีเลี่ยมอย่างไร
“แน่นอนเมื่อเอาเรือเหาะลงมาแล้วมีการสูญเสียฮีเลี่ยมก็ต้องเติม แต่ไม่ได้หมายความว่าขึ้นบินครั้งหนึ่งต้องเติม 100,000 บาท อาจจะเติมครั้งละ 5,000 บาท 10,000 บาท หรือ 30,000 บาท ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงาน แต่ไม่ใช่วงเงินที่สูง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เพดานบินของเรือเหาะเลยระยะยิงของปืนเล็กยาวหรือไม่ พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวว่า ระยะยิงหวังผลของปืนเล็กยาวประมาณ 600 เมตร หรือ 1,800 ฟุต ระยะยิงไกลสุด 2,000 เมตร อย่างไรก็ดี หากเรือเหาะถูกยิงก็คงจะเป็นรู แต่ไม่ระเบิด เพราะฮีเลี่ยมไม่ติดไฟ เมื่อถูกยิงก็จะค่อยๆ ร่อนลง
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักในการใช้เรือเหาะคือการปฏิบัติภารกิจในยามวิกาล (เวลากลางคืน) เพื่อดูว่ากลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ทำอะไรบ้าง ซึ่งการปฏิบัติการของเราสามารถหาข่าวได้เยอะมาก
“หากเขายิงเป็นชุด ก็มีโอกาสโดน แต่เราประเมินความเสี่ยงแล้ว และเราจะมีชุดคุ้มกันดูแลอยู่” รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก กล่าว
เมื่อถามว่า คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะ ได้ลงนามตรวจรับแล้วหรือยัง พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวว่า สัญญาต้องดูเป็น 2 ส่วน คือ
1.เรือเหาะพร้อมกล้อง ส่วนนี้พร้อมที่จะให้คณะกรรมการตรวจรับทดสอบอยู่แล้ว และคณะกรรมการก็ได้เดินทางไปทดสอบเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าเป็นไปตามสเปค
2.กล้อง 3 ตัวกับเฮลิคอปเตอร์ ขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้คณะกรรมการยังไม่ตรวจรับ ส่วนเรื่องเพดานบินที่ทดสอบสามารถทำระยะได้ 3,100 ฟุต ซึ่งคณะกรรมการให้ผ่าน
เมื่อถามว่า มีแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชาให้คณะกรรมการเร่งตรวจรับเรือเหาะหรือไม่ พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “พูดอย่างนี้ไม่แฟร์ คณะกรรมการไม่มีใครมากดดันใครได้” เมื่อซักว่า ตั้งแต่จัดซื้อจนถึงวันนี้ที่ยังไม่สามารถตรวจรับบางส่วนของระบบเรือเหาะได้ ใช้เวลาเท่าไหร่ พ.อ.วิวรรธน์ กล่าวว่า ประมาณ 1 ปีเศษ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา บางโครงการจัดซื้อได้เร็ว บางโครงการก็ช้าแตกต่างกัน
“ในสัญญามีกำหนดเรื่องค่าปรับอยู่แล้วตามเวลาที่เสียไป แต่ตอนนี้ในสัญญายังไม่มีกำหนดการตรวจรับและส่งมอบที่ชัดเจน แต่เรื่องค่าปรับมีเกณฑ์กำหนดอยู่ เมื่อส่งมอบแล้วถึงจะคิดระยะเวลาที่เลยกำหนด หรือระยะเวลาที่ยกเว้นค่าปรับ”
รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก กล่าวด้วยว่า ระบบเรือเหาะเป็นสิ่งที่กองทัพบกอยากมี เพราะถือเป็นเครื่องลาดตระเวนทางอากาศ ส่วนที่มีการพูดกันว่าซื้อมือสองมาจากบริษัทกันตนา (บริษัทสร้างภาพยนตร์ในประเทศไทย) นั้น ไม่ใช่แน่นอน เป็นการพยายามเอาเรื่องมาโยงกัน การใช้เรือเหาะมีมานานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว และมีการศึกษามาตลอด แต่ช่วงหลังเทคโนโลยีสูงขึ้น และคุณภาพของกล้องดีขึ้นมาก จึงเห็นว่าน่าจะนำมาใช้ในภารกิจตรวจทางอากาศได้เป็นอย่างดี
เปิดปูม"เรือเหาะฉาว"
อนึ่ง กองทัพบกโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้งบประมาณจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ทำสัญญาซื้อ “ระบบเรือเหาะตรวจการณ์” จาก บริษัทเอเรียล อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน (Arial International Cooperation) ในราคา 350 ล้านบาท โดยเรือเหาะลำนี้ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ สกาย ดรากอน (SKY DRAGON)
สำหรับข้อมูลจำเพาะของเรือเหาะลำนี้ คือรุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร) ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ 0 -10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง
เกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)
ทั้งนี้ หลังจากเรือเหาะถูกส่งถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ปีที่แล้ว ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกไปฝึกการใช้งานเรือเหาะตรวจการณ์กับทางบริษัทผู้ผลิต และได้มีการก่อสร้างโรงจอดที่กองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อโรงจอดสร้างเสร็จ จึงเคลื่อนย้ายเรือเหาะไปไว้ที่โรงจอดดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2552 และเริ่มทดลองใช้ ทว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจรับและใช้งานจริงได้
ที่ผ่านมามีข้อสังเกตจากบุคคลในแวดวงธุรกิจเรือเหาะว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อน่าจะแพงเกินไป เพราะเรือเหาะของบริษัทแอร์ชิป เอเซีย ที่นำเข้าและจดทะเบียนก่อนที่กองทัพจะจัดซื้อ และมีขนาดใกล้เคียงกับเรือเหาะ “สกาย ดรากอน” นั้น มีราคาเพียง 30-35 ล้านบาทเท่านั้นเอง แต่เรือเหาะของกองทัพบก เฉพาะตัวบอลลูนอ้างว่ามีราคาสูงถึง 260 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเรือเหาะตรวจการณ์ว่าอาจเป็น "สินค้ามือสอง" เพราะสั่งซื้อและได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือน ทั้งๆ ที่หากเป็นของใหม่จะต้องใช้เวลาสร้างอีกร่วม 1 ปี ขณะเดียวกันก็ยังมีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับราคาเติมก๊าซฮีเลี่ยมที่สูงถึง 3 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เรือเหาะลำใกล้เคียงกันเติมเพียงครั้งละ 7-8 แสนบาท
-----------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : คุณปัญญา ทิ้วสังวาลย์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่น เอื้อเฟื้อบทสัมภาษณ์รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก
อ่านประกอบ : ข่าวและสกู๊ปข่าวทั้งหมดเรื่อง "เรือเหาะตรวจการณ์" ในเว็บอิศรา...
- เปิดสเปคเรือเหาะต้องลอยสูง 3 กิโลฯ ทบ.มึนทดลองบินจริงได้แค่พันเมตร
- สงสัย ทบ.ซื้อเรือเหาะ"มือสอง" เทียบราคาส่อแพงเกินจริง 8 เท่า
- เรือเหาะวุ่นหนัก ผบ.ทบ.ตรวจซ้ำยังพบปัญหา ใต้เดือดฆ่าเผาเจ้าของร้านขายถ่านกลางเมืองปัตตานี
- เรือเหาะยังวุ่น"บินต่ำ-กล้องไม่สมบูรณ์" ผบ.ทบ.ขึงขัง "ไม่รับ-ไม่จ่าย" หากผิดสเปค
- ได้ผู้รับเหมารายใหม่ติดตั้งกล้องวงจรปิดพันล้าน บิ๊กกองทัพยอมรับระบบ "เรือเหาะ" ไม่สมบูรณ์
- ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (2)..."จีที 200-เรือเหาะ-สติ๊กเกอร์" เครื่องมือเพื่อความมั่นคงในอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง
- "เรือเหาะ"ถึงใต้แล้ว จับคู่ ฮ.ตรวจการณ์ใช้งานจริงต้นปีหน้า
- "เรือเหาะติดกล้อง"จ่อล่องใต้ เร่งสร้าง"โรงจอด"ใน พล.ร.15
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4955&Itemid=86
- รัฐแจงข้อดี"เรือเหาะ" หวังทำแผนที่ทางอากาศ สกัด-ป้องปรามกลุ่มป่วนใต้
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4511&Itemid=86
- ผวา"เรือเหาะติดกล้อง"แอบมองละเมิดสิทธิ์!
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4509&Itemid=86
- วิจารณ์แซ่ดรัฐทุ่ม 350 ล้านซื้อ "เรือเหาะติดกล้อง" สู้กลุ่มป่วนใต้!
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4501&Itemid=86