ฆ่าโหด 3 ศพพนักงานซีพี สัญญาณ"คนงานต่างถิ่น"เป้าสังหาร
อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุการณ์สังหารโหด นายกฤษฎา นวลขาว อายุ 35 ปี ผู้จัดการบ่อกุ้งบริษัทซีพี หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมลูกน้องอีก 2 คน คือ นางอินทวงศ์ ชาวกล้า อายุ 28 ปี และ นายวันศิริ สุริยะ อายุ 22 ปี ทั้งยังมี ว่าที่ร้อยตรีนิติการ อุตระ อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่ธุรการ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อเย็นย่ำของวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ทั้งหมดกำลังเดินทางด้วยรถกระบะออกจากฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัท ในท้องที่ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานีนั้น นับว่าสะเทือนขวัญอย่างยิ่ง
ที่ว่าสะเทือนขวัญไม่ใช่แค่เพราะแผนประทุษกรรมที่มีคนร้าย 1 คนออกมายืนโบกรถ ทำให้นายกฤษฎาจอดคุย แล้วก็มีคนร้ายอีกหลายคนฮือกันออกมา และใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอันตรายสำหรับคนทุกกลุ่ม แม้แต่ "คนจากนอกพื้นที่" ที่เข้ามาทำงานหรือเป็น "แรงงาน" ประกอบอาชีพสุจริต
แม้ในเวลาต่อมาตำรวจ สภ.หนองจิก จะยังไม่ตัดทิ้งประเด็นขัดแย้งทางธุรกิจที่อาจเป็นสาเหตุของการสังหารโหดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการโปรยตะปูเรือใบสกัดเส้นทางเข้า-ออกพื้นที่ทุกเส้นทางแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ให้น้ำหนักไปที่การกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
เบาะแสที่ตำรวจได้รับก็คือ มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นายยูกาลือนัย สะแต ซึ่งมีหมายจับคดีความมั่นคงหลายหมาย และเป็นแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่รับผิดชอบพื้นที่ ต.ท่ากำชำ ถึง ต.ตันหยงเปา อ.หนองจิก โดยมีการรวมตัวกับกลุ่มของ นายเสรี แวมามุ แกนนำที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา รอยต่อกับ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
สอดคล้องกับปากคำของเพื่อนร่วมงานบริษัทซีพีของผู้ตายทั้งหมด ที่เผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแน่นอน เพราะผู้ตายทั้งหมดเป็นทีมเดียวกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน ร่วมทำงานด้วยกันมานาน อีกอย่างซีพีก็มีนโยบายช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนทุกปัญหาและทุกพื้นที่
"ที่น่าสงสัยคือลักษณะการก่อเหตุ เพราะรถกระบะสี่ประตูที่ใช้เป็นพาหนะถูกปลดเกียร์ว่าง ที่มือของน้องผู้หญิงคือนางอินทวงศ์ ชาวกล้า ซึ่งเสียชีวิตคารถ ถือบัตรประชาชนอยู่ ทำให้เราสันนิษฐานว่าอาจมีคนแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่แล้วโบกรถให้จอด ปกติน้องๆ กลุ่มนี้จะไม่ออกไปไหนในเวลาเย็นหรือค่ำ แต่วันนั้นน้องผู้หญิงที่เสียชีวิตเกิดไม่สบาย พวกเขากำลังจะพากันไปหาหมอ"
"เราอดคิดไม่ได้ว่าทำไมรถถึงถูกปลดเกียร์ว่าง ทำไมในมือน้องผู้หญิงต้องถือบัตรประจำตัวประชาชน นี่เป็นคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับเหตุการณ์ในกรุงเทพฯหรือเปล่าที่เราไม่รู้ว่าใครเป็นไอ้โม่ง ทั้งหมดคงต้องรอผลชันสูตรและพิสูจน์หลักฐานของเจ้าหน้าที่เพื่อหาตัวคนร้ายต่อไป" เพื่อนร่วมงานของผู้ตาย ระบุ
"ลูกจ้าง-แรงงานต่างถิ่น"ตกเป็นเหยื่อ
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเดือนที่ผ่านมายังคงน่าวิตก เพราะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นถี่ยิบ ข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (ศจฉ.พตท.) ที่สรุปรายงานทุกวันก็ยังระบุเช่นนั้น ท่ามกลางเสียงถกเถียงกันในหมู่เจ้าหน้าที่เองว่า เหตุใดสถานการณ์จึงกลับมาปะทุรุนแรง
บ้างก็ว่ามี "การเมือง" ผสมโรง บ้างก็ว่าเป็น "เรื่องส่วนตัว" เสียเยอะ บ้างก็ว่าเป็นผลสะเทือนจากกรณีการเสียชีวิตปริศนาของ นายสุไลมาน แนซา ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
แม้ข้อสันนิษฐานต่างๆ จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถสรุปฟันธงได้เลยก็คือ บรรดาลูกจ้างและแรงงานต่างถิ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ
14 พ.ค.2553 คนร้ายจำนวน 4 คนใช้อาวุธปืนอาก้ากราดยิงใส่กลุ่มคนงานก่อสร้างของบริษัทไม่มีชื่อ ขณะที่กลุ่มคนงานกำลังนั่งเล่นอยู่หน้าบ้านพักศูนย์เด็กเล็กหลังเก่า หมู่ 3 ตรงข้ามสถานีอนามัยตำบลมะนังดำลำ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ประกอบด้วย นายคำนึง แสนคำ อายุ 21 ปี อาการสาหัส, นายคำนวณ แสนคำ อายุ 16 ปี น้องชายของนายคำนึง นายยอดชาย จำปาเกตุ อายุ 24 ปี นายไพรัช สมสือแสน อายุ 21 ปี และ ด.ช.ประเวศ หมื่นมี อายุ 14 ปี ทั้งหมดเป็นชาว อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
11 มี.ค.2553 คนร้ายลอบยิงและเผารถยนต์ของคนงานรับเหมาและเดินสายซ่อมแซมสายโทรศัพท์ของบริษัททีทีแอนด์ที บริเวณบ้านต้นไผ่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ประกอบด้วย นายเจือ สุวรรณวงค์ อายุ 35 ปี นายสมโชค สุวรรณชาตรี อายุ 25 ปี นายเอกรักษ์ พูนพันธ์ อายุ 25 ปี และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส1 ราย คือ นายสิทธิกร ไชยหมั่น อายุ 20 ปี
13 ม.ค.2553 ลูกจ้างบริษัทรับเหมางานของสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถูกยิงบนถนนสายชะเมาสามต้น-บาโงยือริง หมู่ 3 ต.บือแระ อ.สายบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายวิก รัตนรวมมาลา หัวหน้าคนงาน และบาดเจ็บอีก 4 ราย คือ นายแวอาแซ กอเละ กับนายหามะ กอเละ สองพี่น้อง และนายฮะรง หะยีลาเต๊ะ กับนายรุสลัน หะยีลาเต๊ะ น้องชาย นอกจากนั้น คนร้ายยังจุดไฟเผารถกระบะสีดำ รถบรรทุกหกล้อเล็ก และอุปกรณ์การทำงานเสียหายทั้งหมด
ส่วนที่บ้านตือระ หมู่ 8 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นไซต์งานก่อสร้างสะพาน ก็เคยเกิดเหตุคนร้ายบุกยิง นายจตุพล รัตน์สิทธิ์ อายุประมาณ 35-40 ปี นายสุวัฒน์ อักโขมี อายุ 34 ปี นายกวาง และนายเหลี่ยม (ไม่ทราบนามสกุล) จนเสียชีวิต โดยทั้งหมดเป็นคนงานก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) เจ.ที.พี.เอ็นจิเนียริ่ง ตั้งอยู่ อ.เมือง จ.ยะลา
นี่คือตัวอย่างบางเหตุการณ์ที่ "ทีมข่าวอิศรา" ยกมาให้เห็นว่า กลุ่มแรงงาน คนงาน หรือลูกจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากนอกพื้นที่ ตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงบ่อยครั้งจริงๆ
ผู้ว่าฯยะลารับพุ่งเป้าคนงานไทยพุทธ
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่มานาน วิเคราะห์ว่า ลักษณะการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบในช่วงหลังนี้ พบว่าพุ่งเป้าไปที่พนักงานบริษัท ลูกจ้าง หรือแรงงานต่างถิ่นเยอะ และส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยพุทธมากที่สุด ส่วนสาเหตุคิดว่าคนร้ายอาจต้องการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ
"เชื่อว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มขบวนการ เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่าเขาสามารถตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐได้ และเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่น" ผู้ว่าฯกฤษฎา ระบุ
ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ทุกฝ่ายต้องรีบแก้ไขและป้องกัน!
----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รถกระบะของผู้รับเหมาเดินสายโทรศัพท์บริษัททีทีแอนด์ที ซึ่งถูกราดน้ำมันจุดไฟเผาจนวอดหมดทั้งคัน เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา (ภาพผ่านการตกแต่งโดยกองบรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา)