เศรษฐกิจโลกขยับราคายางพาราไทย สศก.ชี้พยุงราคา 3 หมื่นล.ส่งผลเสียระยะยาว
ถกสถานการณ์ยางพาราไทย ได้แรงเศรษฐกิจโลกส่งราคาขยับ คาดปลายปี100บ./กก. สศก.ชี้นโยบายพยุงราคารัฐ 3 หมื่นล.ช่วยได้ระยะสั้น ส่งผลเสียระยะยาว
วันที่ 4 ต.ค. 55 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่อสถานการณ์ยางพาราในประเทศไทยว่า สภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคายางพาราในไทยและตลาดโลก ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นภายหลังสหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ทำให้ยอดจำหน่ายยานพาหนะในสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีที่ผ่านมาและเพิ่มมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2551 ขณะเดียวกันปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปเริ่มชะลอตัวเนื่องด้วยมาตรการทางการคลังในการปรับลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณ ประกอบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งสัญญาณในเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก แม้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องอย่างรวดเร็วก็ตาม
สำหรับสถานการณ์การผลิตยางพาราในตลาดโลกพบว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเทศผู้ผลิตยางพาราหลัก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งไทยยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตยางสูงสุดในโลกในสัดส่วนร้อยละ 30 ของการผลิตในตลาดโลก อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือ เวียดนาม ลาวและกัมพูชา เป็นประเทศที่มีบทบาทในการผลิตยางพารามากขึ้นในระยะหลัง ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการขาย(อุปทาน)ยางพาราในตลาดโลก( World Supply) ต่อไปในอนาคต โดยในปี 2554 เวียดนามมีสัดส่วนการผลิตยางพาราร้อยละ 7 ในตลาดโลก
โดยปริมาณการใช้ยางพาราของโลกอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี โดยจีนเป็นประเทศที่มีการใช้ยางพารามากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 35 หรือ 3.4 ล้านตันของการใช้ยางพาราในโลก รองลงมาได้แก่ อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและยุโรป ทั้งนี้จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกซึ่งมีแนวโน้มเชิงบวกมากกว่าเชิงลบจึงคาดการณ์ได้ว่า ความต้องการซื้อ(อุปสงค์)ยางพาราในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 ตัวเลขการใช้ยางพาราจะอยู่ที่ 63.8 ล้านตันต่อปี
สำหรับสถานการณ์ยางพาราในประเทศไทย จากตัวเลขสถิติการผลิตยางพาราตั้งแต่ปี 2531 – 2555 พบว่า ผลผลิตรวมของยางพาราในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยอาจมีสาเหตุมาจากการเร่งกรีด หรือ ต้นยางมีอายุมากขึ้น
โดยราคายางพารา ราคาส่งมอบ ณ เดือนพฤศจิกายนที่ตลาดล่วงหน้า(AFET) ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 103.50 บาท สาเหตุมากจากตัวเลขการผลิตในสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนที่มีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ4เดือน ประกอบกับมาตรการจำกัดการส่งออกยางจำนวน 3 แสนตันซึ่งถือเป็นการจำกัดการส่งออกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ สภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (เริ่ม 1 ต.ค. 55) ส่งผลให้ปัจจุบันราคายางแผ่นดิบปรับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 90 บาทต่อกิโลกรัม และคาดการณ์ว่าอาจเพิ่มขึ้นแตะระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงปลายปี
ดร.จารึก กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามนโยบายการจำกัดการส่งออกยางพาราของไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณความต้องการยางในตลาดยางโลก อาจส่งผลต่อการปรับตัวของราคายางพาราให้เพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลควรลดการใช้มาตรการแทรกแซงราคายางพาราลงและไม่ควรทำในระยะยาวเพราะจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีโดยเฉพาะในช่วงปลายปี ซึ่งธรรมชาติของตลาดยางจะมีอุปทานลดลงอยู่แล้วเพราะอยู่ในช่วงฤดูฝนซึ่งยางพาราผลัดใบ โดยเชื่อว่าควรปล่อยให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นเองตามกลไกตลาดโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ในระยะยาวรัฐบาลอาจจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราโดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปมารองรับการผลิตให้มากขึ้น และควรมีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ยางพารา รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจยางพาราในประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสศก. กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มดีขึ้นและส่งผลต่อราคายางซึ่งย่อมปรับตัวสูงตาม แต่เชื่อว่ารัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราในกรอบวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรับซื้อยางพาราประมาณ 3 แสนตัน (ในราคายางแผ่นดิบกก.ละ 100 บาท,ยางแผ่นรมควันชั้น3 กก.ละ 104 บาท )ต่อไป เนื่องจากหากประกาศยกเลิกโครงการในขณะนี้ย่อมส่งผลต่อราคายางพาราที่จะปรับตัวลดลงในทันที รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีเงินจำนวนนี้อยู่ในมือ เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือในภาวะจำเป็น ซึ่งหากกลไกตลาดโลกสามารถยกระดับราคายางได้ดี รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินรับซื้อเพื่อพยุงราคายางก็เป็นได้
ที่มาภาพ ::: http://bit.ly/RetXpZ