แผนพัฒนาปี 2556 - 2560...อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ - ดินดีสม เป็นนาสวน
จากที่แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มปี 2551-2555 กำลังจะสิ้นสุดลง คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) จึงมอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ( สศก.) ในฐานะเลขานุการร่วมกับผู้เกี่ยวข้องจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2556-2560 นั้น
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สศก. ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2556-2560 เพื่อให้ได้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และเป็นแผนพัฒนาที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมจัดทำและให้การยอมรับ ทั้งจากผู้แทนภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป
สำหรับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทยนั้น มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนปัจจุบันปาล์มน้ำมันกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง โดยมีพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 4.5 ล้านไร่ ผลผลิตผลปาล์มสด 11.33 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.93 ล้านตัน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มไม่ต่ำกว่า 64,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ ภาคใต้ และมีการปลูกมากที่สุดใน จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร สตูล และ ตรัง ซึ่งจากปัญหาวิกฤติราคาน้ำมันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืช กล่าวคือ ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลัง และการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันร้อยละ 3 และร้อยละ 5 หรือที่เรียกกันว่าน้ำมัน บี 3 และ บี 5 ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จากที่ประเทศภาคีสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) มีเป้าหมายที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ซึ่งจะทำให้การค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศสมาชิกมีความเสรีมากขึ้นนั้น สำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้กำหนดให้น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง และทยอยลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มลงตามลำดับ จนถึงปี 50 เหลือร้อยละ 5 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 53 ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 รวมทั้งเมื่อถึงปี 58 ประเทศไทยภายใต้ เออีซี ต้องขจัดอุปสรรคทางการค้าให้หมดไป จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามาแข่งขันกับน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มภายในประเทศทั้งระบบอาจได้รับผลกระทบ โดยราคาน้ำมันปาล์มในประเทศจะต้องลดลงจนใกล้เคียงกับราคาน้ำมันปาล์มของมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย และส่งผลต่อราคาผลปาล์มที่จะต้องลดลงตามไปด้วย
แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม จำเป็นต้องมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผลสอดคล้องกับความต้องการบริโภคสำหรับใช้เป็นอาหารและพลังงานทดแทน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และลดอัตราการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ตลอดจนลดภาวะก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันทั้งประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านไร่ ในปี 55 พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กันไปด้วย
“หลังจากนี้ สศก. จะรวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ และจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้สอดคล้อง กัน และพัฒนาต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นางนารีณัฐ กล่าว.
ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th:9187/pixel.gif?key=node,158487" >