ปากคำจากทุกฝ่าย...พิสูจน์เบื้องหลังการตายคาค่ายทหาร
สุเมธ ปานเพชร / นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ข้อสงสัยจากกรณีการเสียชีวิตของ นายสุไลมาน แนซา อายุ 25 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงจาก อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ว่าเป็นการผูกคอตายเองจริงหรือไม่ ทำให้ “ทีมข่าวอิศรา” พยายามสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งญาติ่และเพื่อนของผู้ตาย ฝ่ายปกครอง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ รวมถึงผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ข้างห้องของสุไลมาน
ทั้งหมดก็เพื่อค้นหาเบื้องหลังการเสียชีวิตที่ยังคงเป็นปริศนาคาใจใครหลายๆ คน
เจ๊ะแว : ลูกผมไม่มีทางฆ่าตัวตาย
นายเจ๊ะแว แนซา อายุ 59 ปี บิดาของสุไลมาน เปิดใจกับ “ทีมข่าวอิศรา” โดยปฏิเสธข่าวที่ว่าเขาไม่ติดใจการเสียชีวิตของลูกชาย
“แม้ข้อสรุปจากทหารจะออกมาว่าลูกชายผมตายเพราะฆ่าตัวเองตายก็ตาม แต่ผมไม่เชื่อ เพราะผมมั่นใจในตัวลูกว่าไม่มีทางที่เขาจะฆ่าตัวตาย เพราะลูกผมรู้ว่ามันบาป”
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกของผม ขอให้เป็นกรณีตัวอย่างให้สังคมได้รับรู้ว่ายังมีการซ้อมทรมานผู้ต้องขังอยู่ และยิ่งกว่านั้นลูกของผมเป็นแค่ผู้ต้องสงสัย ไม่ใช่ผู้ต้องหา ฉะนั้นสังคมยิ่งต้องนำไปเป็นตัวอย่างกับกรณีอื่นๆ และจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาก็ตาม”
นายเจ๊ะแว เล่าว่า ตลอด 8 วันที่ลูกถูกควบคุมตัว เขาไปเยี่ยมลูกทุกวัน และพบความผิดปกติแทบทุกครั้งที่พบกัน
“ทั้ง 8 วันที่ลูกอยู่ในห้องขัง ผมเดินทางไปเยี่ยมเขาทุกวัน และไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะได้พูดคุยกับลูกแม้แต่จะสบตากัน เพราะลูกได้แต่ทำตัวแข็ง ออกมาเจอกันก็รับของแล้วก็กลับเข้าไปพร้อมกับผู้คุมที่ตามมาติดๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมแปลกใจ”
“สุไลมานเป็นเด็กรักครอบครัว ชีวิตแต่ละวันจะทำงาน อยู่บ้าน ไม่เอาเพื่อน (ไม่เป็นคนติดเพื่อน) ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ มีปัญหาอะไรก็จะมาคุยกันตลอด แต่ 8 วันที่เขาอยู่ในค่าย สภาพที่เจอลูกแต่ละวันมันไม่ใช่นิสัยของสุไลมาน ยิ่งมาสรุปว่าสุไลมานตายเพราะฆ่าตัวเองตายอีกยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างไรผมก็ไม่เชื่อว่าสุไลมานจะฆ่าตัวตาย”
นายเจ๊ะแว ยังบอกอีกว่า สุไลมานเป็นมีหน้าที่หาเงินเข้ามาจุนเจือครอบครัว เมื่อต้องเสียชีวิตไป สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวก็ต้องลำบาก
“ตอนนี้ก็ได้แต่คิดว่ามีก็กิน ไม่มีก็อด และน้องๆ ของสุไลมานที่ยังเรียนอยู่ ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหน เพราะเราไม่ใช่คนรวย เราเป็นคนหาเช้ากินค่ำ สุไลมานมีพี่น้องอีก 4 คน น้องคนสุดท้องยังเรียนอยู่โรงเรียนปอเนาะ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรยังบอกไม่ได้ ที่บอกได้ตอนนี้คือรู้สึกอัดอั้นใจที่ต้องเสียลูกชายไป”
“ผมอยากเรียกร้องแค่ความเป็นธรรม และขอให้เจ้าหน้าที่ทำกับสุไลมานเป็นคนสุดท้าย จะต้องไม่มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีก และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้ความเป็นธรรมด้วย ขอให้ทุกฝ่ายคิดว่าปัญหานี้คือปัญหาของทุกคน ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง”
เพื่อนบ้าน : ฆ่าตัวตายเป็นบาปใหญ่ของอิสลาม
นายอิลฮัม กะแว เพื่อนบ้านของสุไลมาน เชื่อคล้ายๆ กับนายเจ๊ะแวว่า สุไลมานน่าจะเสียชีวิตเพราะถูกทำร้ายมากกว่าฆ่าตัวตาย
“ดูจากสภาพศพแล้ว เปอร์เซ็นต์เป็นไปได้น้อยมากที่สุไลมานจะฆ่าตัวตายเอง เพราะร่างกายเขาช้ำ มีรอยเลือดออกมาทางอวัยวะเพศ หน้าแข้งมีรอย น่าจะถูกซ้อม แต่ผลชันสูตรกลับออกมาว่าเกิดจากการฆ่าตัวตาย” อิลฮัมกล่าว
“โดยหลักของอิสลาม แม้คนที่ไม่เรียนหนังสือเลยก็รู้ว่าการฆ่าตัวตายมันบาปใหญ่ ตายจากการฆ่าตัวตายคนจะไปละหมาดหรือเปล่าก็ไม่รู้ และน้อยคนนักที่จะฆ่าตัวตาย เพราะทุกคนล้วนกลัวบาปใหญ่ แต่หากสุไลมานฆ่าตัวตายจริง ก็ต้องย้อนกลับไปค้นหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องฆ่าตัวตาย เขาถูกทรมานอย่างหนักหรือไม่”
อิลฮัม บอกว่า เวลานี้ญาติๆ รู้สึกมืดแปดด้าน ประกอบกับไม่รู้กฎหมาย จึงไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าญาติจะไม่เอาความในเรื่องนี้
“ญาติๆ กลับมาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรได้ สุไลมานก็ตายไปแล้ว แต่อยากได้ความกระจ่าง อยากได้รับความเป็นธรรม อยากได้ข้อมูลที่แน่ชัดว่าตายจากอะไร ฆ่าตัวตายหรืออย่างไร จะได้จบ แต่นี่ไม่รู้เลยว่าตายอย่างไร เพราะอะไร ก่อนตายสุไลมานต้องเจออะไรบ้าง ญาติบอกว่าอยากให้มีการผ่าศพ แต่ก็สงสารศพ เพราะทุกคนเชื่อว่าก่อนที่สุไลมานจะตายเขาต้องเจอกับการทรมาน จึงทำให้สภาพศพออกมาเป็นลักษณะนี้”
อิลฮัม บอกด้วยว่า เขาเป็นรุ่นน้องของสุไลมาน 2 ปี เรียนประถมที่เดียวกัน แต่สุไลมานเรียน ป.6 ไม่จบ เพราะชอบทำงานช่วยเหลือครอบครัวมากกว่า ไม่ชอบเรียนหนีงสือ ไม่ค่อยคบเพื่อน
“ที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขาเป็นแกนนำยิ่งไม่เชื่อใหญ่เลย เป็นไปไม่ได้ที่ คนพวกนั้น (กลุ่มก่อความไม่สงบ) จะเอาคนที่ไม่รู้หนังสืออย่างสุไลมานไปเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร จะอ่านหนังสือจะพูดอะไรกับคนอื่นก็ไม่รู้เรือง มันเป็นไปไม่ได้เลย” อิลฮัมกล่าว
ฝ่ายปกครอง : ต้องมีบรรทัดฐานเรื่องความเป็นธรรม
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรายหนึ่งซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ใน จ.ปัตตานี ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า กรณีของนายสุไลมานอยากให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะจากที่ได้ดูศพ พบรอยแผลอยู่หลายแห่ง จึงอยากให้มีบรรทัดฐานเรื่องความเป็นธรรม
“มีผู้ต้องสงสัยส่วนหนึ่งที่ฝ่ายปกครองร่วมออกหมายด้วย (หมายเชิญตัวผู้ต้องสงสัยที่ต้องร่วมลงชื่อทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง) เมื่อออกหมายไปแล้วจะเป็นความรับผิดชอบของศูนย์ซักถาม (ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์) แต่ว่าความที่ฝ่ายปกครองต้องดูแลราษฎร จึงต้องส่งคนตามไปตรวจสอบ”
“เด็กคนนี้ (สุไลมาน) เป็นช่างไฟฟ้า พ่อทำงานก่อสร้าง แม่อยู่บ้าน นิสัยใจคอธรรมดาเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป ในความเห็นส่วนตัวมองว่าเป็นเด็กที่คุยได้ เด็กคนนี้ถูกควบคุมตัวในข้อหายิง นางนูรีซัน อาแวหลง อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 98 บ้านกูแว หมู่ 2 ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะกรีดยางอยู่ในสวนยางพาราหลังโรงเรียนตาดีกาบ้านกูแว เจ้าหน้าที่คิดว่าสุไลมานกับเพื่อนน่าจะมีส่วน ทางทหารจึงมาขอความร่วมมือเพื่อควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฝ่ายปกครองเห็นว่าเมื่อเป็นข้อสงสัย ก็ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เซ็นชื่อไป และมีการจับกุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.”
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง บอกด้วยว่า ได้ยินข่าวมาว่ามีการซ้อมทรมาน แต่ก็เป็นคำบอกเล่า ต้องให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
“กระทั่งเด็กคนนี้เสียชีวิตเมื่อคืนวันเสาร์ (30 พ.ค.) จากนั้นก็ประสานนำศพไปชันสูตร สรุปออกมาว่าเด็กฆ่าตัวตาย ที่นี้เรามาสังเกตสภาพแวดล้อมที่ผู้ตายอยู่ก็พบประเด็นน่าสงสัย จึงคิดว่าทำไมบ้านเมืองเรามีกรณีอย่างนี้บ่อยมาก จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ใหญ่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อเยียวยาและให้ความเป็นธรรม”
“เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกัน เพราะมีการเรียกร้องความเป็นธรรมจากญาติผู้เสียชีวิต เขาก็ร้องเรียนมาให้เราช่วยหน่อย ช่วยขอความเป็นธรรม และเรืองนี้ผมเองถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ อ.สายบุรี เกิดมาหลายกรณีแล้ว คนเราดีชั่วแต่ก็ไม่ได้เป็นโจรโดยสันดาน สิ่งแวดล้อมทำให้เขาเปลี่ยน จึงไม่ใช่เรืองที่เราจะต้องไปทำอะไรเขา ความเป็นมนุษย์เราเท่ากัน จึงอยากให้หลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกันดูข้อเท็จจริงด้วย”
ผอ.ศูนย์คุมตัว : พ่อไม่ติดใจ-ตายไร้เงื่อนงำ
พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวอิศรา” และอนุญาตให้เข้าไปตรวจดูสถานที่เกิดเหตุอีกครั้งเมื่อเย็นวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา
“ผู้ที่เข้าไปพบศพนายสุไลมานเป็นคนแรก คือคนที่เข้าไปส่งอาหารเช้าให้กับผู้ที่ถูกควบคุมตัว โดยผู้ส่งอาหารได้เรียกนายสุไลมานเพื่อรับอาหารเช้าหลายครั้งแต่ไม่มีเสียงตอบ จึงได้เปิดประตูเข้าไป ซึ่งสามารถเปิดได้เพราะประตูห้องพักของผู้ถูกควบคุมตัวทุกรายจะไม่มีกลอนประตู จากนั้นก็เห็นภาพศพนายสุไลมานผูกคอตายอยู่กับเหล็กดัดหน้าต่างภายในห้องพัก จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ”
“หลังจากที่ผมได้รับทราบเหตุการณ์ ก็ได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ทุกนายไม่ให้เข้าไปในที่เกิดเหตุ และได้รายงานไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 (พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร) กับ ผบ.พตท. (พล.ท.กสิกร คีรีศรี) พร้อมประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจเจ้าของพื้นที่ แพทย์ และชุดนิติวิทยาศาสตร์ของแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รวมถึงอัยการ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ และพ่อของผู้เสียชีวิตให้มายังที่เกิดเหตุเพื่อเข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมๆ กัน เพื่อความโปร่งใส และพบว่าผู้ตายได้ทำการผูกคอตายภายในห้องพักด้วยผ้าขนหนูของผู้ตายเอง”
“หลังจากที่ได้ทำการตรวจสอบและพูดคุยกับทุกฝ่าย ปรากฏว่านายเจ๊ะแว แนซา พ่อของนายสุไลมานที่มาอยู่ร่วมสังเกตการณ์การชันสูตรศพด้วย ได้เห็นกระบวนการทุกอย่าง ก็ไม่ได้แสดงความติดใจเอาความ โดยทางศูนย์ฯได้อำนวยความสะดวกเรื่องการเคลื่อนศพไปส่งยังภูมิลำเนาที่ อ.สายบุรี โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 26 ซึ่งดูแลพื้นที่เดินทางไปส่งศพด้วย”
พ.อ.ปิยวัฒน์ ย้ำด้วยว่า ตั้งแต่นายสุไลมานเข้ามาที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวันตามระเบียบของทางศูนย์ฯ ไม่ได้ปิดกั้นหรือปฏิบัติกับนายสุไลมานแตกต่างกับผู้ที่เข้ามาสู่กระบวนการซักถามรายอื่นๆ เลย
“หนึ่งวันก่อนที่จะพบศพผูกคอตายในห้องพัก นายสุไลมานยังออกมาร่วมกิจกรรมเล่นกีฬากับเพื่อนผู้ถูกควบคุมตัวรายอื่นๆ ตามปกติ ไม่ได้มีอาการหรือพฤติกรรมที่อาจจะนำไปสู่การผูกคอตายแม้แต่น้อย ที่ผ่านมานายสุไลมานก็ให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ได้สารภาพและให้ข้อมูลโยงใยไปถึงผู้เข้าร่วมขบวนการหลายคน และยังนำเจ้าหน้าที่ออกไปค้นจุดซุกซ่อนปืนของกลุ่มขบวนการในพื้นที่หมู่บ้านของเขาเองด้วย โดยเขาเป็นผู้นำทาง แต่ไม่พบปืน”
พ.อ.ปิยวัฒน์ ยืนยันว่า การเสียชีวิตของนายสุไลมานไม่มีเงื่อนงำใดๆ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีการใช้กำลังหรือทำร้ายผู้ถูกควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด
“ทางศูนย์ฯมีหน้าที่เพียงแค่ซักถาม พูดคุย และเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ที่ถูกควบคุมตัวเท่านั้น เราดำเนินการตามหลักมนุษยธรรมทุกอย่าง แต่หากยังมีกลุ่มบุคคลที่สงสัยและเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายสุไลมานอาจจะมีเงื่อนงำอื่นๆ อีก ก็สามารถตรวจสอบจากผลการชันสูตรศพ รวมไปถึงผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ ได้ตลอดเวลา”
ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ บอกด้วยว่า การผูกคอตายคาห้องพักของนายสุไลมาน นับเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นในศูนย์ฯ หลังเกิดเรื่องจึงได้สั่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯให้เฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ถูกควบคุมตัวรายอื่นๆ อย่างใกล้ชิดเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตการณ์ซ้ำรอยอีก
เพื่อนข้างห้อง : ไม่ได้ยินเสียงผิดปกติ
จากที่ได้โอกาสเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอีกรอบ ทำให้ “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับผู้ถูกควบคุมตัวอีก 2 ราย และได้สอบถามถึงการเสียชีวิตของนายสุไลมาน
นายดิง (ชื่อสมมติ และสงวนนามสกุล) ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ เล่าว่า รู้จักกับนายสุไลมานมานาน และเคยเข้าร่วมซุมเปาะ (สาบาน) พร้อมกับนายสุไลมานด้วย
“ผมกับเขาเข้าซุมเปาะเพื่อร่วมขบวนการพร้อมกัน และรู้จักกันในขบวนการ โดยมีนายปะดอ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ชักชวน และทุกครั้งที่มีการเรียกตัว สุไลมานจะเป็นคนมาตามผม เราเข้าขบวนการมาแล้วประมาณ 1 ปี”
"สุไลมานเข้ากับเพื่อนๆ ทุกคนได้เป็นอย่างดี แต่ค่อนข้างจะพูดน้อยและเก็บตัว ผมมาอยู่ที่ศูนย์ฯหลังเขา มาเจอกันในศูนย์ฯ ได้พูดคุยและทักทายกันตามปกติ รู้สึกตกใจมากเมื่อรู้ว่าเขาผูกคอในห้องพัก เพราะช่วงเย็นวันก่อนที่จะพบศพก็ได้เจอกัน และยังยิ้มแย้มทักทายกันตามปกติ สุไลมานไม่ได้แสดงสีหน้าเครียดหรือไม่สบายใจอะไร จึงไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาถึงผูกคอตาย”
ขณะที่ นายรอบี (ชื่อสมมติและสงวนนามสกุล) ผู้ต้องสงสัยอีกรายหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในศูนย์ฯ และพักห้องติดกับนายสุไลมาน เล่าว่า เข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฯก่อนสุไลมาน เมื่อสุไลมานเข้ามาก็สังเกตเห็นว่าวันแรกและวันที่สองไม่ค่อยพูดคุยกับใครเลย แต่พอเข้าวันที่สาม เขาก็เริ่มพูดคุยและออกมาเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ คนอื่น ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ เพียงแต่เป็นคนที่พูดน้อยเท่านั้น
“ในช่วงเย็นก่อนวันที่เขาจะเสียชีวิต เขาก็ยังมาเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ อยู่เลย พอตกกลางคืนประมาณ 3 ทุ่ม ผมเข้าห้องพักก่อน และได้ยินเสียงสุไลมานเข้าห้องพักประมาณ 4 ทุ่ม หลังจากนั้นได้ยินเสียงเปิดน้ำ เข้าใจว่าเขาคงจะอาบน้ำตามปกติทุกวัน เลยไม่ได้สนใจอะไร กระทั่งนอนหลับไป”
“ผมตื่นประมาณตี 5 เพื่อละหมาด จนกระทั่งประมาณเกือบ 6 โมงเช้า เพื่อนภายในศูนย์ฯมาเรียกเพราะเขาเอาอาหารเช้ามาแจก ผมได้ยินเสียงคนที่นำอาหารเช้ามาแจกเรียกสุไลมานอยู่นาน และได้ยินเสียงเปิดประตูเข้าไป ไม่นานก็วิ่งมาเรียกผมเข้าไปในห้องของสุไลมาน ก็พบว่าสุไลมานผูกคอตายอยู่กับหน้าต่างภายในห้องพัก จึงรีบวิ่งไปแจ้งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯทันที”
“ตอนนั้นรู้สึกตกใจมาก และไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เพราะเมื่อวานยังเจอเขาอยู่เลย ไม่คาดคิดเลยว่าเขาจะผูกคอตาย”
นายรอบี กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าสุไลมานคงผูกคอตายเอง ไม่ได้มีใครเข้ามาทำร้าย
“หากมีใครเข้าไปทำร้ายเขา ผมและเพื่อนๆ ที่อยู่ห้องติดๆ กันคงได้ยินเสียงร้องบ้าง เพราะผนังห้องและหน้าต่างเราติดกัน บางวันที่เขาอ่านอัลกุรอาน ผมยังได้ยินเลย หรือหากว่าจะมีใครเข้ามาทำร้าย ก็ต้องเดินผ่านหน้าห้องผมก่อน ผมก็จะต้องได้ยินเสียง แต่คืนนั้นไม่ได้ยินเสียงใครเลย” นายรอบี กล่าว
ทั้งหมดคือข้อมูลความเห็นจากทุกด้านที่สาธารณชนจักเป็นผู้ตัดสินว่าจะเชื่อใครหรือฝ่ายใด!
-------------------------------รู้จักความเป็นมาของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันทได้ในลิงค์ข่าวด้านล่าง------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายเจ๊ะแว แนซา บิดาของสุไลมาน
2 พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช
3 ภาพถ่ายนายสุไลมาน ซึ่งทางศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์อ้างว่าบันทึกไว้เมื่อวันเสาร์ที่ 29 พ.ค. ก่อนการเสียชีวิตเพียง 1 วัน โดยนายสุไลมานอยู่ในอาการยิ้มแย้ม
อ่านประกอบ :
- เทียบข้อเท็จจริง "ทหาร-องค์กรสิทธิ์" กับสาเหตุการเสียชีวิตคาค่ายทหารของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง
- บุกพิสูจน์ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ไขข้อข้องใจ "ซ้อม-ทรมาน" ผู้ถูกเชิญตัว