เตรียมตั้งสนง.สำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนไทย เพื่อความมั่นคงอาหารภูมิภาค
เตรียมตั้งสำนักเลขาฯองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนในไทย ลดความเสี่ยงด้านอาหารในภูมิภาค ทำมาตรฐานสารพิษเกษตร 9 ชนิด เห็นชอบเลื่อนเปิดประชาคมอาเซียน 31 ธ.ค. 58
วันที่ 3 ต.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้(AMAF)ครั้งที่34 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี (AMAF+3) ครั้งที่12 ระหว่างวันที่ 27–28 กันยายน 2555 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดังนี้
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี (AMAF+3) ครั้งที่ 12 นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve Secretariat: APTERR Secretariat) เนื่องจากไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ประสานงานหลักมาตั้งแต่เป็นโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวฉุกเฉินในเอเชียตะวันออก (East Asia Emergency Rice Reserve: EAERR) ประเทศไทยจะดำเนินการทำความตกลงการเป็นประเทศเจ้าภาพ เพื่อรับรองสถานะและการดำเนินงานของสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินฯตามกฎหมายไทยต่อไป
การจัดตั้งสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสามในประเทศไทยนี้ จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการสต็อกข้าวและควบคุมการซื้อขาย รวมถึงการระบายสต็อกข้าวของภูมิภาคของ APTERR ที่ 13 ประเทศ ต้องสำรองไว้รวม 787,000 ตัน ได้แก่ จีน 300,000 ตัน ญี่ปุ่น 250,000 ตัน เกาหลี 150,000 ตัน เวียดนามและพม่าประเทศละ 14,000 ตัน ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย 12,000 ตัน มาเลเซีย 6,000 ตัน สิงคโปร์ 5,000 ตัน บรูไน กัมพูชา และลาว ประเทศละ 3,000 ตัน และไทย 15,000 ตัน ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนด้านการผลิตและราคาข้าวในภูมิภาค ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือภูมิภาคเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินขึ้น โดยความตกลงนี้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2555 ที่ผ่านมา
นายอภิชาติ จงสกุล เลขาธิการสํานักงาน
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุม AMAF+3 ครั้งที่ 12 ยังเห็นชอบกับแผนการดำเนินงานระยะเวลา 3 ปี (2556-2558) ของโครงการระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหารอาเซียน (AFSIS) และจะเป็นการพัฒนาให้กลายเป็นกลไกถาวร เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลระบบสารสนเทศด้านความมั่นคงด้านอาหารที่มีข้อมูลของสินค้า 5 ชนิด ซึ่งประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย และถั่วหลือง โดยจะมีการจัดทำรายงานคาดการณ์สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร 5 ชนิดดังกล่าวทุก 3 เดือน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการจัดทำตัวชี้วัดในการเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินให้กับ APTERR ได้เป็นอย่างดี
สำหรับสาระสำคัญจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้(AMAF) เน้นไปที่การติดตามความก้าวหน้าในการอำนวยความสะดวกในการค้าด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ โดยเฉพาะการบูรณาการให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค และเร่งรัดดำเนินการเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิกในการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยเห็นชอบข้อเสนอการเลื่อนกำหนดเวลาในการเป็นประชาคมอาเซียนเป็นวันที่ 31 ธ.ค. 2558 เนื่องจากนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกต่างๆยังไม่พร้อมเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังให้ความเห็นชอบมาตรฐานอาเซียนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการมีท่าทีร่วมกันด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ เช่น การกำหนดค่าสารพิษตกค้างสูงสุดของอาเซียน(ค่า MRLs) สำหรับสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มเติมอีก 9 ชนิด เช่น beta-cyfluthrin ในกะหล่ำปลี profenofos ในส้มโอ chlorpyrifos ในพริก โดยจะต้องนำไปปฏิบัติจริงเพื่อให้เป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรในภูมิภาค, และการกำหนดมาตรฐานพืชสวนของอาเซียน เช่น ชมพู่ ละมุด มะเขือยาว ฟักทอง และข้าวโพดหวาน เป็นต้น
ทั้งนี้ การประชุม AMAF ครั้งที่ 35 และการประชุม AMAF +3 ครั้งที่ 12 จะจัดขึ้น ณ ประเทศมาเลเซีย ในปี 2556
ที่มาภาพ ::: http://bit.ly/QNP84Y