ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (3) เหลียวดูตัวเลข“งบเยียวยา” แลหน้าปัญหาความไม่สงบ
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
วันที่ 26-27 พ.ค.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 และรับหลักการในวาระแรก ซึ่งแม้สาระโดยรวมจะกลายเป็นการ “หาผู้รับผิดชอบ” จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ก็มีบางช่วงบางตอนที่ “แตะๆ” ถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน
“ทีมข่าวอิศรา” เคยสรุปตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลทุ่มลงไปกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 7 ปีงบประมาณพุ่งไปถึง 1.25 แสนล้าน (หนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันล้านบาท) ซึ่งเป็นงบที่เรียกกันว่า “งบฟังก์ชั่น” ใช้สำหรับแผนงานและโครงการดับไฟใต้เท่านั้น ไม่รวมงบรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือนข้าราชการและค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
และไม่รวม “งบเยียวยา” ที่รัฐมอบให้ผู้สูญเสีย ผู้เสียหาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
จากการเก็บข้อมูลของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ศูนย์เยียวยาประจำ 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา เฉพาะพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย อ.จะนะ อ.เทพา และ อ.นาทวี ได้สรุปรายงานการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ
สูญเสียด้านร่างกายและชีวิตเฉียดหมื่น
ผู้ที่ได้รับความสูญเสียด้านร่างกาย ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไป อันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2553 รวมทั้งสิ้น 9, 022 ราย แยกเป็น
จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่รัฐ 1,646 ราย ประชาชนทั่วไป 1,466 ราย รวม 3,112 ราย เสียชีวิต 945 ราย บาดเจ็บ 2,170 ราย ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 3,087 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 25 ราย
จ.ยะลา เจ้าหน้าที่รัฐ 1,124 ราย ประชาชนทั่วไป 1,936 ราย รวม 3,060 ราย เสียชีวิต 1,031 ราย บาดเจ็ฐ 2,029 ราย ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 3,057 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 ราย
จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่รัฐ 1,254 ราย ประชาชนทั่วไป 1,154 ราย รวม 2,408 ราย เสียชี่วิต 946 ราย บาดเจ็บ 1,462 ราย ได้รับความช่วยเหลือแล้วทั้งหมด
จ.สงขลา เจ้าหน้าที่รัฐ 116 ราย ประชาชนทั่วไป 326 ราย รวม 442 ราย เสียชีวิต 140 ราย บาดเจ็บ 302 ราย ได้รับความช่วยเหลือแล้วทั้งหมด
รวมตัวเลขจากทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่รัฐ 4,140 ราย ประชาชนทั่วไป 4,882 ราย รวม 9,022 ราย เสียชีวิต 3,059 ราย บาดเจ็บ 5,963 ราย ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 8,994 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 28 ราย
สูญเสียด้านทรัพย์สิน 1,966 ราย
ในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบด้านทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือ มีทั้งสิ้น 1, 966 ราย แยกเป็น
จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่รัฐ 23 ราย ประชาชนที่วไป 385 ราย รวม 408 ราย ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว 408 ราย
จ.ยะลา เจ้าหน้าที่รัฐ 39 ราย ประชาชนทั่วไป 823 ราย รวม 862 ราย ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว 859 ราย
จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่รัฐ 126 ราย ประชาชนทั่วไป 371 ราย รวม 497 ราย ได้รับความช่วยเหลือแล้วทั้งหมด
จ.สงขลา เจ้าหน้าที่รัฐ 26 ราย ประชาชนทั่วไป 173 ราย รวม 199 ราย ได้รับความช่วยเหลือแล้วทั้งหมด
รวมข้อมูลจากทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่รัฐ 214 ราย ประชาชนทั่วไป 1,752 ราย รวม 1,966 ราย
หญิงหม้ายร่วม 2 พันราย-เด็กกำพร้า 3.7 พัน
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เป็นผู้หญิง และต้องกลายเป็น “สตรีหม้าย” มากถึง 1, 959 ราย และมี "เด็กกำพร้า" 3,717 ราย แยกเป็น
จ.นราธิวาส สตรีหม้าย 599 ราย เด็กกำพร้า 1,356 ราย เป็นชาย 663 ราย หญิง 693 ราย
จ.ยะลา สตรีหม้าย 584 ราย เด็กกำพร้า 942 ราย เป็นชาย 484 ราย หญิง 458 ราย
จ.ปัตตานี สตรีหม้าย 706 ราย เด็กกำพร้า 1,284 ราย เป็นชาย 632 ราย หญิง 652 ราย
จ.สงขลา สตรีหม้าย 70 ราย เด็กกำพร้า 135 ราย เป็นชาย 65 ราย หญิง 70 ราย
รวมสตรีหม้าย 1,959 ราย เด็กกำพร้า 3,717 ราย เป็นชาย 1,844 ราย หญิง 1,873 ราย
งบเยียวยา 6 ปีไฟใต้ 2.2 พันล้าน
ดังที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า งบเพื่อการ “เยียวยา” ผู้สูญเสียและผู้เสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ได้รวมกับ “งบดับไฟใต้” ที่เป็น “งบฟังก์ชั่น” เพราะงบเยียวยาได้รับจัดสรรจาก “งบกลาง” ของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งแต่เดือน มิ.ย.2547 จนถึงสิ้นเดือน ก.ย.2552 ใช้ไปแล้วทั้งสิ้น 2,225 ล้านบาทเศษ แยกเป็นรายปีได้ดังนี้
ปี 2547 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 25,027,500 บาท
ปี 2548 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 93,673,334 บาท แผนงาน/โครงการภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 297,002,975 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 390,676,309 บาท
ปี 2549 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 192,836,890 บาท แผนงาน/โครงการภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ 277,272,124 บาท รวมเป็น 470,109,014 บาท
ปี 2550 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 298,858,998 บาท แผนงาน/โครงการภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ 189,486,340 บาท รวมเป็น 488,345,338 บาท
ปี 2551 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 360,277,297 บาท แผนงาน/โครงการภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ 217,726,890 บาท รวมเป็น 578,004,187 บาท
ปี 2552 เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย 253,305,079 บาท แผนงาน/โครงการภายใต้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ 44,878,600 บาท รวมเป็น 289,189,679 บาท
รวม 6 ปีงบประมาณใช้เงินไปทั้งสิ้น 2,225,318,527 บาท
แลหน้าปัญหาความไม่สงบ
พิจารณาจากตัวเลขผู้สูญเสีย ผู้ได้รับผลกระทบ และงบเยียวยารายปีแล้ว แม้ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าตัวเลขงบประมาณที่สูงขึ้นทุกปีจะสะท้อนการ “เข้าถึง” ผู้ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมมากขึ้นก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ความไม่สงบได้ก่อผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน
ยกเว้นปี 2552 ที่งบเยียวยาลดลงอย่างฮวบฮาบ
ประเด็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก็คือ ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดนี้ เป็นกลุ่มที่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยรัฐ จึงยังมีผู้ได้รับผลกระทบที่เป็น “กลุ่มตกค้าง” เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ของรัฐอีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยเฉพาะครอบครัวผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงที่ยังคงรอคอยความช่วยเหลือ
และแม้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยภาพรวมจะ “ดูดีขึ้น” ในช่วงที่ผ่านมา แต่ตัวเลขเยียวยาที่สะท้อนปัญหาในเชิงลึกอีกมิติหนึ่งกลับไม่ได้ลดลง เฉพาะเดือน ก.พ.2553 ข้อมูลจากศูนย์เยียวยาประจำจังหวัด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไปทั้งสิ้น 96 ราย ยอดเงิน 14,109,500 บาท และแนวโน้มกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง...
บางทีการที่สื่อสารมวลชนไม่ได้ประโคมข่าวภาคใต้เหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นแต่ประการใด!
----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพและตาราง :
1 นางยะหะรอ หมานเต๊ะ ผู้สูญเสียลูกชาย นายอารูมิง ยามา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หาดใหญ่เจอนัล ไปในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา
2 ตารางแสดงผู้สูญเสียด้านร่างกายและชีวิตตลอด 6 ปีไฟใต้
3 ตารางแสดงผู้สูญเสียทรัพย์สินจากสถานการณ์ความไม่สงบ
4 ตารางแสดงจำนวนสตรีหม้ายและเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรง
5 ตารางแสดงตัวเลขงบเยียวยารายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547-2552
อ่านประกอบ :
- สำนักงบชำแหละขุมทรัพย์ดับไฟใต้ "ไร้แผนงาน-ขาดตัวชี้วัด"
- ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (2) "จีที 200-เรือเหาะ-สติ๊กเกอร์" เครื่องมือเพื่อความมั่นคงในอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง
- ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (1) เทียบสถิติเหตุรุนแรงลดลงจริงหรือ?