ชายแดนใต้กับพลัง"ข่าวลือ" อธิบายผ่าน"ทฤษฎีสื่อ"ของ "พีระพงษ์ มานะกิจ"
ปรากฏการณ์ "เมืองร้าง" ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ก.ย.2555) เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงไทยตกอยู่ในภาวะเสมือนกำลังต่อสู้กับ "ศัตรูที่ไร้ตัวตน" นั่นคือ "ขบวนการข่าวลือ" ว่าด้วยการข่มขู่ให้หยุดทำงานและหยุดค้าขายในวันศุกร์
ที่ต้องเรียกว่า "ข่าวลือ" เพราะหาต้นตอของ "คำขู่" มิได้ แม้กระทั่งเหตุคาร์บอมบ์ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.ย.2555 ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าคือ "คำขู่" อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนเปิดกิจการในวันศุกร์
"ทีมข่าวอิศรา" เคยนำเสนอบทวิเคราะห์จากการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่เพื่อชี้ว่า ข่าวลือเที่ยวนี้ไม่ใช่ข่าวลือธรรมดา แต่เป็นข่าวลือ 2 ชั้น กล่าวคือนอกจากขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์แล้ว ยังปล่อยข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายดำเนินการด้วย
หลายคนที่นั่งอยู่ในส่วนกลางอ่านบทความชิ้นนี้แล้วหัวเราะ ไม่เชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบัน (เป็นความไม่เชื่อ ภายใต้ความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่ารัฐไม่ทำเรื่องแบบนี้หรอก)
แต่อย่างไรก็ดี ยังมี "ทฤษฎีสื่อ" จากมุมมองของคนที่ทำงานกำกับดูแลสื่ออย่าง พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเคยรับราชการทหาร เคยเป็นรองโฆษกกระทรวงกลาโหม และทำวิจัยเรื่องปัญหาชายแดนใต้สมัยเป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) จนได้รับรางวัลมาแล้ว อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างเห็นภาพ
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ เล่าถึงมุมมองของเขาต่อปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองจากปัญหาการเมือง ซึ่งหลายคนชี้นิ้วไปที่ "สื่อ" ว่าเป็นต้นเหตุ แม้แต่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ยังระบุในรายงานฉบับสมบูรณ์ว่า สื่อมีบทบาทในการยั่วยุและขยายวงความขัดแย้ง ซึ่งมองเผินๆ ก็น่าจะถูกต้อง และง่ายดีที่จะคิดเช่นนั้น แต่ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ คิดลึกกว่านั้น
"หลักคิดเรื่องการประชาสัมพันธ์ นามธรรมกับรูปธรรมต้องสอดคล้องกันถึงจะมีประสิทธิภาพ ผมอยากอธิบายว่า นามธรรมทุกอย่างต้องมีรูปธรรมรองรับ อย่างความขัดแย้งในประเทศของเราไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสื่อเสนอข่าวหรือสร้างข่าวขึ้น แต่มันมีรูปธรรมจริงๆ รองรับอยู่ มีสิ่งที่คนบางส่วนเห็นว่าไม่ยุติธรรมหรือไม่ถูกไม่ต้องอยู่จริง แล้วสื่อก็รายงานเรื่องเหล่านั้น ฉะนั้นสื่อจึงไม่ได้เป็นคนผิดเสมอไป"
"ลองเทียบกับปัญหาภาคใต้ สมมติคุณพูดว่าคุณรักคนมุสลิมเท่ากับคนพุทธ คำพูดนั้นเป็นนามธรรม ก็ต้องดูว่ามีรูปธรรมรองรับหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือในส่วนกลางมีการชุมนุมปิดล้อมศูนย์กลางการบริหารประเทศอย่างยาวนานหลายเดือน เมื่อมีการควบคุมจัดระเบียบการชุมนุม ตำรวจที่ดำเนินการกลับถูกดำเนินคดีอาญา และถูกให้ออกจากราชการ"
"ส่วนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนไปล้อมโรงพัก สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส แค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง จากนั้นก็มีการเข้าไปจัดระเบียบการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจนมีคนตายไป 85 คน แต่ไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนต้องรับผิดชอบ อย่างนี้ก็เท่ากับว่ารูปธรรมไม่ตรงกับนามธรรม จึงทำให้ไม่มีใครเชื่อนามธรรมนั้น"
หลักคิดของ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ หากนำมาอธิบายย้อนกลับ ก็จะเข้าใจว่าเหตุใด "ข่าวลือ" ที่ชายแดนใต้จึงมีพลังมากกว่า "ข่าวจริง" ในมุมของรัฐ ซึ่งรัฐพยายามสื่อสารผ่านสื่อกระแสหลักทุกแขนง นั่นเพราะ "ข่าวลือ" ในพื้นที่มีรูปธรรมรองรับ แต่ "ข่าวจริง" ของรัฐ ชาวบ้านอาจยังมองไม่เห็นรูปธรรมใดๆ
จากหลักคิดดังกล่าวทำให้ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ สรุปในเบื้องต้นว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แท้ที่จริงแล้วคือสงครามการผลิตซ้ำทางความคิด โดยใช้ "สื่อบุคคล" เป็นเครื่องมือสำคัญ
"มีการผลิตซ้ำทางความคิดหลายเรื่อง เช่นแนวคิดเชื้อชาตินิยม เมื่อก่อนเรียกตัวเองว่าไทยมุสลิม วันนี้เรียกตัวเองว่ามลายูมุสลิม มีการผลิตซ้ำทางความคิดในเรื่องประวัติศาสตร์ อ้างว่ารัฐปัตตานีล่มสลายเพราะถูกสยามยึดครอง ทั้งที่ในบางมิติไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดคนไทยในเชิงเชื้อชาติ และการผลิตซ้ำทางความคิดเหล่านี้ก็เกิดผลเป็นความรุนแรง เช่น ต้องยิงครู เพราะเป็นสัญลักษณ์และเครื่องมือผลิตซ้ำทางความคิดของรัฐไทย"
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ ชี้ว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าว ศูนย์ดุลของสงครามที่ชายแดนใต้จึงไม่ใช่การแย่งยึดพื้นที่ทางกายภาพ ฉะนั้นส่งกำลังพลลงไปอีก 5 แสนนายก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้ครอบความรู้สึกนึกคิดของเยาวชนและคนในพื้นที่ผ่านสื่อบุคคล วิทยุชุมชน โดยใช้อุดมการณ์ เชื้อชาติ และประวัติศาสตร์รองรับ
"ขณะที่รัฐไทยยังตั้งโจทย์ผิด คิดว่าสาเหตุเพราะคนในพื้นที่ยากจนจึงไปเป็นโจร จริงๆ ไม่ใช่ มันเป็นสงครามอุดมการณ์เชื้อชาติ คนจนคิดแค่เรื่องปัจจัยสี่ แต่ บิน ลาเดน ไม่ได้จน จึงคิดเรื่องอุดมการณ์กับเชื้อชาติและศาสนาเพื่อต่อกรกับสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับคนภาคใต้เขาไม่ใช่โจร สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ แต่มันเป็นสงครามประชาชน พื้นฐานมันเป็นแบบนี้ หากมองผิดก็ตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่ต้น"
เขายังยกตัวอย่างที่เป็นผลของการตั้งโจทย์ผิด ซึ่งก่อความเสียหายร้ายแรงกว่าเดิม
"อย่างเช่นการติดอาวุธให้ชาวบ้าน การสร้างหมู่บ้านป้องกันตนเอง เป็นแนวคิดยุคสงครามเย็นที่ไทยรบกับลาวกับเวียดนาม เราก็ให้ประชาชนตามแนวชายแดนมีส่วนร่วมต่อสู้กับข้าศึกภายนอก ซึ่งก็ถือว่าใช้ได้ผล แต่ปัญหาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกันเอง การทำแบบนี้อาจทำให้คนไทยฆ่ากันเองหรือไม่"
"ในยุคสงครามเย็นนั้น โครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเหมือนปิรามิด ถ้าเจรจากับส่วนยอดได้ก็จบ แต่ที่ชายแดนใต้วันนี้มีลักษณะเป็นฟิวชั่น เครือข่ายเป็นแนวราบและไม่รู้จักกัน จึงไปมุ่งเจรจาที่ส่วนยอดไม่ได้ ถ้าคิดแบบสงครามเย็น ปราบแค่กายภาพก็จบแล้ว แต่ที่ภาคใต้มันไม่ใช่ มันต้องดูภายในด้วย (หมายถึงเรื่องจิตวิญญาณ ความเชื่อ) เพราะมันเป็นสงครามอุดมการณ์ของคนสามจังหวัด การเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาคู่ปราบปรามจึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง"
เมื่อถามว่า แล้วแนวทางที่ถูกต้องคืออะไร พล.ท.ดร.พีระพงษ์ บอกว่า ต้องตัดความชอบธรรมของกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ด้วยการให้มี "เขตปกครองพิเศษ"
"การให้เขตปกครองพิเศษจะตัดเงื่อนไขที่กลุ่มขบวนการสร้างขึ้นได้หลายอย่าง จากนั้นก็ตัดแนวคิดญิฮาด (เชื่อว่าทำสงครามได้เพราะดินแดนแห่งนี้เป็นของมุสลิมมาก่อน แต่ถูกยึดครองโดยคนต่างศาสนา) ด้วยการชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยเป็นรัฐชาติแล้ว แต่เป็นรัฐชาติที่เป็นพหุวัฒนธรรม เคารพความแตกต่างด้วยการให้เขตปกครองพิเศษ ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐปัตตานีไม่ใช่รัฐอิสลามมาแต่เดิม แต่เป็นพหุวัฒนธรรม เพียงแต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวปลุกระดมพยายามตัดตอนความจริง"
แต่กระนั้น พล.ท.ดร.พีระพงษ์ บอกว่า การให้เขตปกครองพิเศษอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ปัญหาจบลงได้ ต้องมีการทำงานด้านอื่นๆ ตามมา โดยเป้าหมายคือสร้างเอกภาพบนความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา หรือ Unity of Diversity สิ่งสำคัญคือการมองปัญหาอย่ามองผิด กลุ่มขบวนการไม่ได้ทำสงครามแย่งชิงมวลชนโดยใช้ความดีเหมือนคอมมิวนิสต์ ขบวนการไม่ได้ทำให้ประชาชนรัก แต่ทำให้ประชาชนกลัว
ส่วนกลุ่มคนที่มามอบตัวหรือแสดงตัวกับแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงบอกว่าเป็นจุดเริ่มของกระบวนการสันติภาพนั้น พล.ท.ดร.พีระพงษ์ บอกว่า พวกนี้เป็นพวกรีไทร์แล้ว เป็นแค่ยาหมดอายุ ไม่ได้เป็นผู้นำทางยุทธศาสตร์ "ถ้าตัวจริงมอบตัวเหตุการณ์ต้องเบาลง แต่นี่ยังมีระเบิดอยู่ แสดงว่าไม่ใช่ตัวจริงที่ปฏิบัติการอยู่ในปัจจุบัน"
พร้อมกับย้ำทิ้งท้ายว่าปัญหาภาคใต้นั้นอย่าตั้งโจทย์ผิด เพราะจะทำให้แก้ปัญหาผิดทิศผิดทางไปมากกว่าเดิม!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ในวันที่ดำรงตำแหน่ง กสทช.
อ่านประกอบ :
- จับตา"สงครามอุดมการณ์ใหม่" จากไฟใต้ถึงเสื้อแดง
http://www.isranews.org/south-news/special-talk/53-2009-11-15-11-15-38/2143-qq.html
- ส่งทหาร 3 แสนนายลงใต้ก็ไม่สงบ! เพราะศูนย์ดุลการรบอยู่ที่"สงครามความคิด"
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4727&Itemid=86