“โรดแมพ”คนชายแดนใต้ ร่วมฟื้นไทยจากซากหักพัง
เลขา / สมศักดิ์ / นาซือเราะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุการณ์จลาจลเผาเมืองที่กรุงเทพฯและอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ภายหลังรัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้สังคมไทยทั้งสังคมต้องย้อนกลับมาใคร่ครวญถึงต้นตอของปัญหา และมองไปข้างหน้าร่วมกัน
ถึงเวลาที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องผสานมือเพื่อปฏิรูปประเทศไทย สร้างชาติใหม่ที่ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขความอยุติธรรม ที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งทั้งมวล
“ทีมข่าวอิศรา” สำรวจความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายแขนงและพี่น้องประชาชนชาวรากหญ้าจากชายแดนใต้ เพื่อร่วมเสนอ “ทางออก” ที่จะเป็น “โรดแมพ” หรือ “แผนที่เดินทาง” เพื่อฟื้นประเทศไทยจากซากปรักหักพัง
นักรัฐศาสตร์แนะเยียวยาไม่เลือกฝ่าย
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เสนอว่า การแก้ปัญหาต้องแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือระยะสั้นกับระยะยาว
ในระยะสั้น ต้องเน้นเรื่องการเยียวยาผู้สูญเสียจากเหตุการณ์โดยไม่เลือกฝักฝ่าย เหมือนกับเหตุการณ์ในภาคใต้ เรื่องใครผิดหรือถูกเรายังไม่รู้และยังโต้แย้งกันอยู่ แต่การช่วยเหลือผู้สูญเสียจะต้องเกิดขึ้นทันทีและเร่งด่วนด้วย ทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน
นอกจากนั้นยังต้องพยายามระวังป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบ เพราะบางกรณีอาจจะเกิดการใช้ความรุนแรงตอบโต้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ วิธีแก้คือจะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการจัดการที่เหมาะสม อย่าให้เกิดการปะทะกันจนมีการใช้ความรุนแรงต่อเนื่องและไม่สิ้นสุด สิ่งสำคัญคือทุกเรื่องที่เกิดขึ้นจะต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรมและชัดเจน
ความมั่นคงบนความสมานฉันท์
ส่วนในระยะยาว ผศ.ดร.ศรีสมภพ มองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญและเรื่องระบบการเมืองที่มีการโต้แย้ง คัดค้าน ฉะนั้นต้องแก้ตรงจุดนี้ด้วย คือจัดให้มีการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้ง รวมไปถึงข้อเสนอเรื่องการปรองดอง สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สังคมเห็นว่ามีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาจริงๆ
อีกด้านหนึ่งคือแนวทางลดความโกรธแค้นที่จะนำมาสู่การตอบโต้ในระยะยาว เพราะมีการเกรงกันว่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเหมือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ระยะยาว ฉะนั้นต้องมาพูดถึงยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความมั่นคง ต้องมาปรับเปลี่ยนเรื่องยุทธศาสตร์กันว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างความมั่นคงบนพื้นฐานของความสมานฉันท์ การอยู่ร่วมกัน และการให้อภัยได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในระยะยาว
“เรื่องการปรองดอง การอยู่ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ รัฐบาลต้องทำให้เห็นการตัดสินใจหรือการขับเคลื่อนทางการเมืองในเรื่องเหล่านี้ ส่วนการใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย เพื่อรับการตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมในการใช้กำลังว่ามีเหตุผลหรือไม่เพียงใด นี่คือความบริสุทธิ์ใจที่รัฐบาลจะต้องแสดง ไม่ใช่คิดแต่ว่าจะเอาชนะทางการเมืองเท่านั้น ทุกอย่างจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการตรวจสอบต้องมีความโปร่งใส เพื่อที่จะลดความรู้สึกโกรธแค้นและการตอบโต้กันในระยะยาวอย่างยั่งยืน”
“ต้องยอมรับว่ารูปแบบของความรุนแรงและการก่อความไม่สงบที่จะแฝงตัวไปทั่วประเทศนั้น ตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นวงกว้างขนาดไหน และจะยืดยาวขนาดไหน แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะยืดยาวออกไป จึงต้องเร่งแก้ทั้งยุทธศาสตร์การเมืองและยุทธศาสตร์ความมั่นคงบนพื้นฐานของความสมานฉันท์และปรองดอง”
เร่งสร้าง"พื้นที่ปลอดภัย"
ดังที่อาจารย์ศรีสมภพเสนอเอาไว้ คือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นด้วยการ “เยียวยา” อย่างเป็นธรรม เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งประเด็นนี้ ผู้มีประสบการณ์อย่าง แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (รับผิดชอบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เห็นว่า การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่กรุงเทพฯ มีความคล้ายคลึงกับการเยียวยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือนอกจากการเยียวด้วยเงินชดเชยแล้ว ยังจะต้องมีการเยียวยาด้านจิตใจ ต้องไปเยี่ยมเยียน เยี่ยมบ้าน ดูแลความรู้สึก
“เรามีทีมที่กรุงเทพฯ เป็นทีมที่ท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิตเป็นประธานเอง ที่ผ่านมาก็ได้สำรวจอารมณ์ทางการเมืองของคนกรุงเทพฯและภูมิภาคอื่นๆ โดยใช้กลไกของศูนย์สุขภาพจิตซึ่งมีอยู่ 14 แห่งทั่วประเทศ กับโรงพยาบาลจิตเวชของกรมที่มีอยู่ 17 แห่ง เราก็ได้สำรวจอารมณ์การเมืองของประชาชนส่งไปให้กรมสุขภาพจิตพิจารณาว่าอารมณ์ทางการเมืองตอนนี้อยู่ในระยะไหน จะได้วางกรอบการดูแลสุขภาพจิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม”
แพทย์หญิงเพชรดาว มองว่า ผลพวงจากความรุนแรงที่กรุงเทพฯ สามารถแยกผู้ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต และประชาชนทั่วไป ซึ่งการดูแลจะแตกต่างกัน การวางแผนการดูแลก็ต่างกัน ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง แต่เห็นภาพและรับรู้ข่าวสารจากสื่อแขนงต่างๆ ต้องยอมรับว่าภาพที่ปรากฏผ่านสื่อมีความร้ายแรง แต่ก็ร้ายแรงจริงเพราะมันเกิดขึ้นจริง ทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจ แม้จะโดยอ้อมก็ตาม แต่รัฐจะต้องเข้าไปดูแลเช่นกัน
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ จะมีวิธีดูแลอีกแบบหนึ่ง เน้นการประคับประคองให้การสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยและดูแลจิตใจเป็นการเฉพาะ ย้ำเตือนให้มีสติ ลดอารมณ์โกรธแค้น
“หมอมีเพื่อนที่กรุงเทพฯ เขามีสามี อยู่บ้านกัน 2 คน ปรากฏว่าบ้านนี้คนหนึ่งชอบเสื้อแดง อีกคนหนึ่งไม่เชียร์ใครเลย กลายเป็นครอบครัวที่มีปัญหามาก หมอก็เข้าไปให้คำปรึกษา แนะนำเขาว่าให้ลดการรับข้อมูลข่าวสาร และเลือกรับข้อมูลข่าวสาร พูดอะไรให้กลางๆ ไว้ ถ้าเกิดความเครียดให้หายใจเข้า-ออกลึกๆ”
“นอกจากนั้นก็เป็นการบริหารเวลา เพราะตอนนี้เข้าใจว่าทุกคนใจจดใจจ่ออยู่กับทีวี สื่อต่างๆ จะได้รับความสนใจสูงมาก หนังสือพิมพ์ขายหมดแผง เพราะทุกคนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ควรจะแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง ที่สำคัญคือควรจัดสรรเวลาสำหรับการฟังคนอื่น ไม่ว่าจะเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัว เราควรฟังเขา และแนะนำกันในสิ่งที่ดีๆ”
หมอเพชรดาว ยังบอกว่า อันที่จริงสถานการณ์ที่กรุงเทพฯกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบจะไม่ต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องความไม่ไว้วางใจกัน มีแต่ความหวาดระแวง ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และยังหวั่นเกรงเรื่องความไม่ปลอดภัย ไม่รู้ว่าก้าวออกจากบ้านไปแล้วจะได้กลับหรือเปล่า เพราะวัดที่ดูแล้วน่าจะปลอดภัย แต่ก็ยังมีคนเสียชีวิต เหมือนกับภาคใต้ ทั้งวัดทั้งมัสยิดน่าจะปลอดภัยจากเหตุการณ์ แต่กลับไม่ปลอดภัย ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่และรัฐบาลต้องเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
ปลดชนวนสองมาตรฐาน
ด้านความเห็นของ “ผู้นำนักศึกษา” ซึ่งถือว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ที่จะเป็น “พลัง” ในการคลี่คลายความขัดแย้งของสังคมไทย นายอับดุลเราะมัน มอลอ นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ให้น้ำหนักการนับหนึ่งกระบวนการปรองดองไปที่บทบาทของภาครัฐเป็นลำดับแรก
"รัฐบาลต้องให้ทหารถอยออกมาก่อน แล้วเปิดโอกาสให้ตำรวจเข้าไปทำงานแทน จะทำให้ความตึงเครียดลดลง จากนั้นกระบวนการสันติวิธีภาครัฐต้องเข้าไปมีบทบาท เข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายความมั่นคง เพื่อความมั่นใจของประชาชน จากนั้นจึงเริ่มเดินหน้าแก้ไขปัญหาระยะยาว"
"ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะคนไทยขาดจิตสำนึกหรือขาดคุณธรรม แต่มันมีปัญหาพื้นฐานอยู่จริง เช่น สองมาตรฐาน ซึ่งกลไกรัฐต้องลบคำๆ นี้ออกไปให้ได้ ทำให้คนในประเทศรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในระดับเดียวกัน เป็นพลเมืองเท่ากัน และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเหมือนๆ กัน" นายอับดุลเราะมัน กล่าว
ได้เวลา"สื่อ"ต้องปรับตัว
ตลอดหลายเดือนแห่งความสับสนอลหม่าน ขัดแย้ง และป้ายสี เสียงวิจารณ์สื่อมวลชนดังกระหึ่มจากทุกทิศทุกทาง บ้างก็ว่าสื่อไม่เป็นกลาง บ้างก็ว่าสื่อตกเป็นเครื่องมือของบางคนบางฝ่าย แต่ก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่มองว่าสื่อกลายเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งเสียเอง หรือกลายเป็นกระบอกเสียงของการปลุกระดม
"แผนปรองดอง" หรือ "โรดแมพ" ของนายกรัฐมนตรีที่เคยเสนอต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ก็ยังมีอยู่หนึ่งข้อจาก 5 ข้อที่พูดถึงการปฏิรูปสื่อ
นักวิชาการจากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี มองว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุดแล้ว แต่อาจจะมีบางคนบางสื่อที่วิเคราะห์อย่างลำเอียงหรือมีการชี้นำ แทนที่จะเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายแล้วสร้างความเข้าใจ
“แน่นอนว่าสื่อมีหน้าที่รายงานเหตุการณ์ให้ประชาชนรับรู้ความเป็นจริง แม้จะเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างการจลาจล เผา หรือปล้น แต่การทำเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและการให้ข้อมูลในมิติอื่นๆ เช่น การเคารพสิทธิของกันและกัน การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่สื่อต้องให้เนื้อที่และเวลาเช่นกัน”
ส่วนที่มีความพยายามเปรียบเทียบการทำงานของสื่อไทยกับสื่อต่างประเทศนั้น นักวิชาการจากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี เห็นว่า สื่อมวลชนต่างชาติจะนำเสนอเฉพาะประเด็นที่คิดว่ากลุ่มผู้รับสารของสื่อเหล่านั้นสนใจ คืออาจจะรายงานภาพรวมของสถานการณ์เท่านั้น โดยไม่ได้ให้ความสนใจรายละเอียด หรือไม่ก็รายงานรายละเอียดบางจุด แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญทุกจุด อาจจะติดปัญหาเรื่องกำลังคนหรือข้อจำกัดอื่นๆ ทำให้การรายงานข่าวที่ออกมาค่อนข้างแตกต่างจากสื่อมวลชนไทย
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น นักวิชาการด้านสื่อผู้นี้เห็นว่า เหตุการณ์จลาจลในกรุงเทพฯ และสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงเที่ยวนี้ จะเป็นบทเรียนสำคัญที่สอนให้สื่อมวลชนไทยได้ปรับตัว เตรียมตัว และเตรียมความพร้อมในการทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น
รากหญ้าชี้ต้อง"ปฏิรูปจิตสำนึก"
ลองมาฟังเสียงจาก "คนรากหญ้า" ตามร้านน้ำชาและตลาดนัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง นางตีเมาะ สาและ อายุ 69 ปี ชาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ที่ร้านข้าวยำ ใครๆ ต่างก็พูดคุยกันถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะรับไม่ได้กับภาพที่เห็น
“หลายคนวิจารณ์ว่าปัญหาทั้งหมดต้องโทษทั้งสองฝ่าย จะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ และบางคนก็มองว่ารัฐบาลตัดสินใจจัดการปัญหาช้าไป จึงทำให้ปัญหาบานปลายและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงตามมา”
นางตีเมาะ กล่าวต่อว่า ในความรู้สึกของนางเอง รู้สึกเป็นห่วงลูกหลานในอนาคต เกรงว่าปัญหาจะบานปลายไปอีก เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าทุกคนรู้สามัคคี รู้แพ้ รู้ชนะ มีใจเป็นนักกีฬา รู้คุณค่าของคนและสิ่งของ แต่เมื่อบางคนไม่ได้คิดแบบนั้น ประเทศไทยก็ต้องแหลกด้วยมือของคนไทยเอง
“ทางออกของปัญหานี้จะต้องทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ก่อน แต่ต้องมองที่ตัวบุคคล อย่าไปมองเหมารวม ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด คนเสื้อแดงไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด มีทั้งคนที่รักประเทศจริงๆ และคนที่ต้องการทำเพื่อตัวเอง ดังนั้นต้องแยกคนให้ออก ที่สำคัญรัฐต้องให้ความเป็นธรรมเสียก่อน ถ้าทำได้เชื่อว่าปัญหาจะยุติลงลงได้และไม่เกิดเป็นบาดแผลลึกเหมือนภาคใต้” ชาวบ้านจาก อ.โคกโพธิ์ กล่าว
ขณะที่ นายมะแอ ลาแตะ อายุ 55 ปี ชาวบ้านบ้านโมง ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เล่าว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ต่อเนื่องถึงวันที่ 20 พ.ค. ชาวบ้านพากันติดตามข่าวสถานการณ์ในกรุงเทพฯทางโทรทัศน์ตลอดทั้งวัน และที่วงนกเขาในหมู่บ้านก็มีการนั่งคุยเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมองว่าปัญหาจะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนมุมมอง และคนส่วนหนึ่งยังคิดถึงแต่ตัวเอง
“ทุกวันนี้ต้องบอกว่าคนไทยส่วนหนึ่งไม่มีจิตสำนึก ไม่รู้จักคำว่าอภัยซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่เป็นคนไทยเหมือนกัน ทุกคนเป็นพี่น้องกัน จะมาทะเลาะกันทำไม สุดท้ายประเทศไทยจึงไม่ต่างอะไรจากข้าวยำ”
นายมะแอ ยังบอกด้วยว่า ปัญหาในประเทศไม่มีทางแก้ไขได้ถ้าคนในประเทศเองไม่ช่วยกัน ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมมือ จากระดับครอบครัวถึงชุมชนถึงจังหวัดและถึงระดับประเทศ
ทั้งหมดนี้คือ “โรดแมพ” จากคนชายแดนใต้ที่มีประสบการณ์เผชิญความขัดแย้งและความรุนแรงมาไม่แพ้กัน ด้วยหวังว่าจะเห็นเช้าวันใหม่ของประเทศไทยซึ่งหมายรวมถึงดินแดนปลายด้ามขวานด้วย...เป็นเช้าที่สดใสกว่าที่ผ่านๆ มา
------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เพลิงที่กำลังลุกไหม้อาคารแห่งหนึ่งย่านคลองเตย ในเหตุการณ์จลาจลกลางกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 19 พ.ค. (ภาพโดย ทวีชัย เจาวัฒนา บรรณาธิการศูนย์ภาพเนชั่น)
2 ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
3 แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา
4 ความรุนแรงย่านสามเหลี่ยมดินแดง (ภาพนี้บันทึกและผ่านการตกแต่งโดย "ทีมข่าวอิศรา")