ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไทยส่งออกโลด เร่งรณรงค์บริโภคในประเทศ
สศก.เผยเกษตรอินทรีย์ไทยส่งออกโลด ข้าวหอมมะลิเติบโตร้อยละ 18 ประเมินเกษตรปลอดสารลดป่วยจากร้อยละ 25 เหลือ 4 ลดปุ๋ยเคมีไร่ละ 500 บ. ดินเสื่อมลดลงร้อยละ 60 เร่งรณรงค์บริโภคในประเทศ
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 ของ สศก.ว่าเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์มีอัตราการเจ็บป่วยจากการลดใช้สารเคมีลงเหลือร้อยละ 4 จากเดิมร้อยละ 25 ซึ่งช่วยลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยปีละ 5,550 บาท ลดต้นทุนการผลิตจากการลดใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเฉลี่ยไร่ละ 558 บาท ลดปัญหาดินเสื่อมสภาพร้อยละ 60
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดินของเกษตรกรยังดำเนินการได้ในพื้นที่จำกัด เนื่องจากในช่วงระยะปรับเปลี่ยนเป็นระบบเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลาและต้องเอาใจใส่ดูแลมาก ซึ่งเกษตรกรทำได้จำกัดตามแรงงานสมาชิกในครัวเรือน สำหรับการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยพบว่าข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไทยสามารถแข่งขันได้ดีมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2551 มีปริมาณ ส่งออก 3,663 ตัน จนถึงปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 5,967 ตัน หรืออัตราการเติบโตร้อยละ 18
ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ที่จะดำเนินการระยะต่อไป จะยกระดับให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการบริโภคสินค้าปลอดภัย เพื่อสามารถขยายตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้เกษตรกรหันมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นด้วย .