“อาศิส พิทักษ์คุมพล” จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของเมืองไทย กับความคาดหวังของคนชายแดนใต้
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้วิกฤตการณ์ "สงครามกลางเมือง" ในกรุงเทพฯจะร้อนแรงเพียงใด แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าประเด็นที่พูดถึงกันมากไม่แพ้กันในสังคมมุสลิมขณะนี้ก็คือ การสรรหาจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 แทน นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรีที่ถึงแก่อนิจกรรม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ค.2553 ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ คลอง 9 จ.ปทุมธานี คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 39 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 716 คน จากทั้งหมด 751 คน ทะยอยไปลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์เพื่อเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาจุฬาราชมนตรี นายมงคล สุระสัจจะ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง และผู้แทนเอกอัครราชทูตประเทศมุสลิมเข้าร่วมสังเกตการณ์
ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้เสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นจุฬาราชมนตรีอย่างกว้างขวางถึง 9 คน ประกอบด้วย นายสมาน มาลีพันธ์ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล นายวินัย สะมะอูน นายอรุณ อีซอ นายอรุณ บุญชม นายอิมรอน มะลูลีม นายทวี นภากร นายทองคำ มะหะหมัด และนายอรุณ วันแอเลาะห์
อย่างไรก็ดี ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 และกฎกระทรวง ระบุว่า หากมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเกิน 3 คน จะต้องใช้วิธีสรรหา โดยการจับสลากเลือกตัวแทนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คนเป็นกรรมการสรรหา เพื่อสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เหลือเพียง 3 คนโดยวิธีลงคะแนนลับ เมื่อได้ 3 ชื่อแล้ว ก็เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดลงคะแนนต่อไป
ปรากฏว่า 3 ชื่อสุดท้าย ได้แก่ นายอาศิส นายทวี และนายสมาน
ผลการลงคะแนนปรากฏว่า นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่ โดยได้คะแนนสนับสนุนถึง 423 คะแนน หลังจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีต่อไป
เปิดปูมจุฬาราชมนตรีคนใหม่
อนึ่ง นายอาศิส เป็นตัวแทนจากภาคใต้คนแรกที่ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี โดยเขาเป็นชาว จ.สงขลา อายุ 63 ปี ปัจจุบันเป็นรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นประธานชมรมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นยังเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วย
นายอาศิส เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งแวดวงราชการและภาคประชาชน ทั้งยังดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย อาทิ ที่ปรึกษาสภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เคยร่วมเป็นคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 (เหตุการณ์กรือเซะ) และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 หรือเหตุการณ์ตากใบ
ผลงานล่าสุดที่โดดเด่นอย่างยิ่งก็คือ โครงการก่อสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา งบประมาณกว่า 143 ล้านบาท ซึ่ง นายอาศิส เป็นแกนกลางคนสำคัญที่ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันทั้งภาครัฐ ฝ่ายการเมือง ภาคเอกชน และประชาชน กระทั่งโครงการประสบความสำเร็จ
วอนจุฬาราชมนตรีให้ความสำคัญ“ไฟใต้”
สำหรับความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีต่อจุฬาราชมนตรีคนใหม่นั้น เท่าที่ “ทีมข่าวอิศรา” สำรวจความคิดเห็นก็พบว่าส่วนใหญ่คาดหวังในตัวผู้นำสูงสุดในกิจการศาสนาอิสลามของประเทศไทยกันไม่น้อยทีเดียว
นายอับดุลเลาะ ตาเยะ ชาว อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี กล่าวว่า จุฬาราชมนตรีนั้นถือเป็นอามีรฺ หรือผู้นำสูงสุดของพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย ฉะนั้นจุฬาราชมนตรีจะต้องเป็นผู้ที่ยึดถือหลักการอย่างชัดเจน และสนองตอบการแก้ไขปัญหาของพี่น้องมุสลิม
“ผมอยากให้ท่านจุฬาราชมนตรีคนใหม่เพิ่มบทบาทการทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยสร้างการมีส่วนร่วมและลงพื้นที่บ่อยๆ เพื่อจะได้ทราบสถานการณ์และรับรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาประชาชนสามจังหวัดมองว่าจุฬาราชมนตรียังไม่มีบทบาทตรงนี้เท่าที่ควร จากที่ได้พูดคุยกันในวงน้ำชา ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้จักบทบาทของจุฬาราชมนตรีเพียงแค่การประกาศวันถือศีลอดและวันรายอเท่านั้น ส่วนบทบาทอื่นที่สมควรจะมีมักไม่ค่อยมี”
“นอกจากนั้นยังอยากให้จุฬาราชมนตรีมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ต้องไม่ผูกติดกับนักการเมือง มีความอิสระจากกลุ่มการเมืองต่างๆ และเดินหน้าเรื่องสินค้าฮาลาลให้ได้มาตรฐานสากล”
นางเจ๊ะรูฮาณี ลอแบลูวง แม่บ้านจาก ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่า อยากให้จุฬาราชมนตรีคนใหม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดมากกว่าที่ผ่านมา อย่าหลงในตำแหน่งจนไม่กล้าลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ปัญหาและรับทราบข้อเท็จจริง
นายอาดือนัน ซาการียา เด็กหนุ่มจาก อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนสามจังหวัด ก็อยากให้จุฬาราชมนตรีสนใจปัญหาภาคใต้มากๆ และมีใจเป็นกลาง ร่วมแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรม
ภารกิจลดขัดแย้งทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่
ขณะที่ อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี และอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า จุฬาราชมนตรีจะต้องเป็นแบบอย่างในหลักการของอิสลาม เป็นแบบอย่างในการบริหารกิจการอิสลามของประเทศและอุมมะฮฺ (ประชาชาติ) ด้วยความชาญฉลาด เสียสละ เข้มแข็ง ไม่โอนอ่อนตามกระแสการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ไม่ยึดติดกับอำนาจ และไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องจากอำนาจหน้าที่ที่สูงส่งนี้ ที่สำคัญคือต้องมีภาวะผู้นำเพียงพอที่จะสามารถชี้นำหลักชัยแห่งอิสลามทั้งในสังคมมุสลิมและสังคมทั่วไปได้อย่างไม่มีข้อสงสัย
“อย่าได้มองและเข้าใจเอาเองว่าผู้ที่เป็นจุฬาราชมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540) เท่านั้น เพราะหน้าที่หลักที่แท้จริงคือการรักษา ปกป้อง เสริมสร้างศักดิ์ศรี และยกระดับดัรญัด (สถานภาพ) ความเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์แบบบนหน้าแผ่นดินของพระองค์ต่างหาก”
“ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ จุฬาราชมนตรีจะต้องกล้าหาญในการชูธงความเป็นมุสลิมในประเทศนี้อย่างสมศักดิ์ศรีและเต็มเปี่ยมด้วยเกียรติภูมิอันสูงสุด ด้วยวุฒิพิสัยที่ทรงคุณค่า ทัศนวิสัยที่กว้างไกลบนพื้นฐานความรู้ทางศาสนาอย่างแตกฉาน มือและความคิดจะต้องประสานสิบทิศ ลดสารพันความขัดแย้งของสังคมประเทศให้น้อยลงและหมดสิ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนในประเทศและโลกมุสลิมอย่างแท้จริง”
นับเป็นความท้าทายของจุฬาราชมนตรีคนใหม่ในบริบทความขัดแย้ง...ทั้งในระดับชาติและจังหวัดชายแดนภาคใต้!
--------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อาศิส พิทักษ์คุมพล (ภาพจากเว็บไซต์คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย http://www.cicot.or.th/2009/)
อ่านประกอบ :
- เปิด "แคนดิเดท" จุฬาราชมนตรีคนใหม่
- จุฬาราชมนตรีสีขาว
- เปิดกฎกระทรวง พลิกกฎหมาย สรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่
- "จุฬาราชมนตรี"ถึงแก่อนิจกรรม ในหลวงพระราชทานดินฝังศพ