ติดอาวุธทางปัญญานักข่าว จากสนามอบรมทำข่าวสืบสวนทุจริต
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา มีการอบรมเชิงปฏิบัติการการทำข่าวสืบสวนการทุจริตคอรัปชั่น โดยสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสัญญา ธรรมศักดิ์ ร่วมกับสถาบันอิศรา ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน 2555 โดยมีผู้สื่อข่าวจากองค์กรสื่อหลายสำนัก และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าร่วมอบรม รวมทั้งสิ้น 27 คน
เริ่มต้น "ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึงการทำข่าวสืบสวน เกิดขึ้นโดยนักข่าวเป็นคนเริ่มทำก่อน แล้วเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ นำข้อมูลจากข่าวไปใช้ประโยชน์ขยายผลดำเนินคดีต่อไป วิธีการได้ประเด็นข่าวสืบสวนโดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ คือ มีคนนำข้อมูลมาบอก และ นักข่าวจับประเด็นข่าวจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง
สำหรับข่าวสืบสวนมีหลายประเภท ประเภทที่นักข่าวนิยมทำกันมากที่สุดก็คือข่าวสืบสวนการทุจริต เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง อย่างไรก็ตามวิธีการทำข่าวสืบสวนการทุจริตก็สามารถนำไปใช้กับการทำข่าวประเภทอื่นได้เช่นกัน เช่น ข่าวบันเทิง ข่าวสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของนักข่าวในการคิดหาประเด็นให้เป็นข่าวเชิงสืบสวน
จากนั้น "สมชัย สุวรรณบรรณ" ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รับไม้ต่อ บรรยายในหัวข้อ “จรรยาบรรณเส้นแบ่งในการทำข่าวสืบสวนการทุจริต”
ผอ.ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การทำข่าวเชิงสืบสวนมีหลักที่สำคัญ 2 เรื่อง
1.เนื้อหาของข่าวต้องเป็นเรื่องของผลประโยชน์สาธารณะ (public interest) ไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ของบุคคลหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
2.วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลต้องถูกต้องตามหลักจริยธรรม คุณธรรม เช่น กรณีหนังสือพิมพ์ News of the World ที่ใช้วิธีการผิดกฎหมายและผิดหลักจริยธรรมมาโดยตลอดเพื่อได้มาซึ่งข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลของบุคคลธรรมดา เพื่อให้หนังสือพิมพ์มียอดขายเพิ่มขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลที่ล้วงลึก ในที่สุดผู้บริโภคก็ยอมรับพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้ ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องประกาศปิดตัวไปในที่สุด
นอกจากการยึดผลประโยชน์สาธารณะและวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องเป็นที่ตั้งแล้ว ผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สื่อมวลชนต้องช่วยกันสร้างค่านิยมสาธารณะ (public value) ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย เช่น สร้างค่านิยมไม่ให้ประชาชนยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกกรณี แม้ว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชั่นนั้นด้วยก็ตาม
3 มือรางวัลข่าวสืบสวน ถ่ายทอดประสบการณ์
ในด้านประสบการณ์จริงในการทำข่าวสืบสวนการทุจริต การอบรมครั้งนี้ก็ได้นักข่าวผู้ช่ำชองด้านข่าวสืบสวนระดับมือรางวัลถึงสามคนมาถ่ายทอดประสบการณ์
ได้แก่ เสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้ได้รับรางวัลข่าวสืบสวนยอดเยี่ยม เรื่องขบวนการบุกรุกที่ดินราชพัสดุ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และ อาคม ไชยศร ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
นักข่าวมืออาชีพทั้งสามเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนกระแสหลักทำข่าวสืบสวนเชิงทุจริตน้อยเกินไป ในขณะที่กระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นพัฒนาไปมาก จนกระบวนการนำเสนอข่าวแบบเดิมไม่ส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ดังนั้นสื่อกระแสหลักจะต้องทำหน้าที่ให้หนักมากขึ้น อย่างเชื่อมั่นว่า ข่าวเชิงสืบสวนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้ ขอเพียงนักข่าวอย่าเพิ่งท้อถอยเสียก่อน
สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เล่าประสบการณ์จากการทำข่าวขบวนการบุกรุกที่ดินราชพัสดุที่สวนผึ้ง ราชบุรีตอนหนึ่งว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข่าวชิ้นนี้มีความสมบูรณ์คือการมีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจน จนผู้กระทำผิดไม่สามารถบิดพลิ้วได้ ในที่สุดก็นำไปสู่การยึดที่ดินที่ถูกบุกรุกไปคืนมา โดยระหว่างลงพื้นที่ทำข่าวก็ต้องเผชิญกับการขมขู่จากผู้มีอิทธิพลจนถึงขนาดถูกขู่ฆ่า แต่สถาพรก็ยืนยันที่จะเดินหน้าทำข่าวต่อไป เพราะได้พิจารณาแล้วว่าถ้าหยุดทำข่าวนี้ จะส่งผลเสียหายหลายอย่างทั้งต่อตนเอง และต่อสังคม
“ถ้าเราหยุด คนอาจมองว่า เรากลัวหรือรับเงินจากผู้มีอิทธิพลไปแล้ว ถึงได้เงียบไป เลยหาทางออกด้วยการยื่นเรื่องต่อสมาคมนักข่าวฯ เพื่อเป็นหลักประกันต่อสาธารณะว่าเรากำลังทำข่าวนี้อยู่ ถ้าเกิดเรามีอันเป็นไป ก็แน่ใจได้เลยว่า เป็นเพราะคนที่เสียผลประโยชน์จากการทำข่าวของเรา” สถาพร บอกเล่าในเวที
ด้าน อาคม ไชยศร เสนอมุมมองต่อประเด็นทางจริยธรรม หากนักข่าวต้องพบเจอสถานการณ์ที่แหล่งข่าวพยายามเสนอเงินให้ ว่า การที่นักข่าวรับเงินหรือผลประโยชน์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากแหล่งข่าว อย่างไรเสียก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
“ถ้าคุณรับเงินเข้ากระเป๋าเมื่อไหร่ ไม่ใช่แค่คุณได้เงิน แต่คุณเป็นทาสเขาแล้ว เพราะเขากุมความลับสำคัญชิ้นหนึ่งของคุณไว้แล้ว ความลับนี้จะรบกวนจิตใจคุณตลอดไป แม้ว่าเขาจะแฉหรือไม่แฉเรื่องออกมาก็ตาม ทุกอย่างมันเริ่มต้นที่ครั้งแรก เมื่อทำครั้งแรกได้ ก็จะมีครั้งที่สอง และในที่สุดก็จะทำตลอดไป” อาคม เชื่ออย่างนั้น
ในวันที่สามของการอบรม มีการแบ่งผู้เข้าอบรมเป็นกลุ่ม ๆ ลงพื้นที่ใน จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อทำข่าวเชิงสืบสวนในประเด็นต่าง ๆ ตามที่แต่กลุ่มได้คิดและตกลงร่วมกัน โดยกลุ่มที่ได้รางวัลดีเด่นในครั้งนี้ คือกลุ่มที่นำเสนอข่าวเรื่องงบประมาณการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่นำเสนอข่าวอย่างมีข้อมูลรอบด้าน สามารถสังเคราะห์ข้อมูลจนเกิดเป็นแผนผังความสัมพันธ์ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองและนักธุรกิจในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน
ในแง่การทำงานกลุ่ม ที่ผู้อบรมในแต่ละกลุ่ม ประกอบด้วยนักข่าวที่มาจากสนามข่าวที่ต่างกันทั้งโทรทัศน์-วิทยุ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ จะทำให้กระบวนการทำงานบางอย่างแตกต่างกันบ้าง แต่ที่สำคัญกว่าคือ ต่างฝ่ายต่างได้แลกเปลี่ยนทักษะประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โดยมีจุดร่วมอยู่ที่วิธีคิด และวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อทำข่าวสืบสวน
นี่คือสิ่งที่ทุกคนได้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันในการอบรมครั้งนี้
นางสาวอัจฉรา กัตติกา เจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริตปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรม กล่าวว่า หลายเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการของ ป.ป.ช.เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจากผู้สื่อข่าวซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการปราบปรามการทุจริตได้ การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมข่าวสืบสวนครั้งนี้ทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานและมุมมองของสื่อมวลชนมากขึ้น ในทางกลับกันสื่อมวลชนก็จะได้เข้าใจกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช.มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ ป.ป.ช.ในการประสานงานกับสื่อมวลชนต่อไป
ด้านนายจตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การมาอบรมครั้งนี้ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการและแนวความคิดในการทำข่าวสืบสวนการทุจริตหลาย ๆ อย่าง แต่ต้องลองดูว่าเมื่อถึงสนามการทำงานจริงจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำข่าวแล้วได้ผลดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ยอมรับว่าที่ผ่านมาข่าวสืบสวนการทุจริตที่ออกสู่สายตาประชาชนยังมีน้อย เนื่องจากองค์ประกอบในการทำข่าวประเภทนี้ในบางครั้งไม่เอื้อต่อการทำงานของผู้สื่อข่าว เช่น เรื่องความปลอดภัย เพราะการทำข่าวสืบสวนการทุจริตคือการลงไปต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องซึ่งอาจเกิดอันตรายย้อนกลับมาสู่ผู้สื่อข่าวได้หลากหลายวิธี นอกจากนี้ยังรวมถึงวิธีคิดและทัศนคติในการทำข่าวของผู้สื่อข่าวเอง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรมากพอสมควร
นายธนิก วิไลลักษณ์ ตัวแทนจากเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีโอกาสมาร่วมการอบรมกับเพื่อนๆสื่อมวลชน ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้การกระบวนการลงพื้นที่ทำข่าวและการหาแหล่งข้อมูลโดยวิธีการที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจากเพื่อนๆสื่อมวลชนที่มีประสบการณ์ตรง อย่างไรก็ดียังรู้สึกว่าปัจจุบันข่าวสืบสวนการทุจริตมีน้อยในสื่อกระแสหลัก ซึ่งควรนำเสนอให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน
เชื่อทำข่าวสืบสวน ช่วยลดทุจริตได้
ในวันสุดท้ายหลังการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของแต่ละกลุ่ม ก็ได้รับเกียรติจากนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มากล่าวปิดงาน
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วยการทำข่าวสืบสวนเชิงทุจริต โดยมีหลายกรณีที่ ป.ป.ช. ได้นำข้อมูลที่สื่อนำเสนอไปดำเนินการต่อจนสามารถชี้มูลความผิดต่อผู้กระทำการทุจริตได้
กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชั่นมีจำนวนมาก และมีความลึกลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ที่ดำเนินการโดยนโยบายสูงสุดของรัฐ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล
“การทำงานข่าวสืบสวนของสื่อเพื่อช่วยลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงมีความสำคัญมาก บ้านเมืองจะไปทางไหนก็ได้ แต่ขอให้ไปด้วยการตัดสินใจของประชาชนที่ได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ครบถ้วน ไม่ใช่รู้ข้อมูลเพียงครึ่งเดียว เราต้องช่วยกันดูแลไม่ให้การทุจริตคอร์รัปชั่นทำลายบ้านเมืองไปมากกว่านี้ เพราะผมเชื่อว่าสังคมนี้ยังเป็นสังคมที่น่าอยู่ และจะน่าอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน” นายกล้านรงค์กล่าว
ก็เป็นอันว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำข่าวเชิงสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชั่น” ในครั้งนี้ ได้ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่นักข่าวอาชีพ ตั้งแต่วิธีการคิดประเด็น การได้มาซึ่งข้อมูล การยึดหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำงาน และยึดมั่นในอุดมการณ์ทำข่าวเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ
และด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่า สังคมเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้.