ในเรื่องร้ายยังมีข่าวดี...ยธ.ตั้งคณะทำงาน 5 ชุดช่วยผู้ต้องขังแดนใต้
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามในคำสั่งที่ ยธ.224/53 เรื่องตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องการขอประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงอย่างเป็นระบบ
คณะทำงานทั้ง 5 ชุดมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม (นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์) และรองปลัดกระทรวงยุติธรรม คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นที่ปรึกษา
คณะทำงานทั้ง 5 คณะมีหน้าที่รวบรวมตรวจสอบข้อมูลผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีข้อมูลหรือความปรากฏว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม, ตรวจสอบข้อมูลผู้ต้องขัง ผู้ได้รับผลกะทบ และสรุปข้อมูลผู้ต้องขังเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินประกันตัว หรือกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในเรือนจำ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีท้งสิ้น 548 คน วันจันทร์ที่ 17 พ.ค.และวันอังคารที่ 18 พ.ค.นี้จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ เพื่อสรุปปัญหาทั้งของตัวผู้ต้องขังเองและครอบครัว จะได้เร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป
ทั้งนี้ หากมีกรณีที่ผู้ต้องขังหรือครอบครัวต้องการยื่นขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวแต่ขาดหลักทรัพย์ คณะทำงานก็จะเสนอให้ใช้กองทุนยุติธรรมเข้าไปอุดหนุน แต่การจะให้ประกันหรือไม่อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล
อนึ่ง การประชุมที่ พ.ต.อ.ทวี พูดถึงคือการประชุมเชิงปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งวัตถุประสงค์คือ
1.เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีข้อมูลว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีและผู้ได้รับผลกระทบ
2.เพื่อสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการวางเงินการประกันการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมาย
3.เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและครอบครัวต่อกระบวนการยุติธรรม
วาระการประชุมที่สำคัญ จะมีการชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีข้อมูลว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบให้ได้รับการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการวางเงินการประกันการปล่อยตัวชั่วคราว ตลอดจนเป็นการระดมความคิดเห็นการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ไม่ได้จำกัดเฉพาะหน่วยราชการในส่วนกลางเท่านั้น แต่ภาคประชาชนในพื้นที่ก็พยายามเท่าที่กำลังจะพอมี โดยเฉพาะ “กลุ่มด้วยใจ” ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัวผู้ต้องขังที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง และเปิดตัวสู่สาธารณะเมื่อปลายปีที่แล้ว
วันนี้ “กลุ่มด้วยใจ” กำลังทำกิจกรรมที่เรียกว่า “โปรแกรมยุติธรรมนำสันติสุข” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ “กลุ่มด้วยใจ” จับมือกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม และเรือนจำกลางจังหวัดสงขลา ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีพื้นที่สัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังกับครอบครัวและองค์กรภาคประชาสังคม มีกระบวนการศึกษาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับทัศนคติ ปรับมุมมองในการใช้ชีวิต อันจะช่วยให้มีกำลังใจ มีทักษะในการจัดการอารมณ์ของตนเองต่อปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ญาติพี่น้องของผู้ต้องขังได้เยี่ยมเยียนและทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการเยียวยาจิตใจหลังจากที่ต้องพลัดพรากจากสามีหรือญาติพี่น้องที่ต้องกลายมาเป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ
“โปรแกรมยุติธรรมนำสันติสุข” เป็นกิจกรรมระยะยาวที่ทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เริ่มไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา กิจกรรมจะมีขึ้นตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. เรื่อยไปรวม 12 สัปดาห์ และดึงหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
สัปดาห์แรก (19-23 เม.ย) กิจกรรมสัมภาษณ์ผู้ต้องขังเกี่ยวกับสาเหตุที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ กิจกรรมวิเคราะห์ข่าว กิจกรรมเดินหาสาระของชีวิต กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “ความเชื่อทางศาสนาที่ยึดถือ” กิจกรรม “หลักคำสอนในอิสลาม” และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในเรือนจำ
สัปดาห์ที่สอง (26-30 เม.ย) มีการฝึกระเบียบวินัยเข้มข้น กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “การพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จในชีวิต” ตามด้วยกิจกรรมเยี่ยมและวิเคราะห์หนังสือในห้องสมุด
สัปดาห์ที่สาม (3-7 พ.ค) กิจกรรมสันติศึกษา กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง” กิจกรรมการใช้หลักศาสนาในการดำเนินชีวิต
สัปดาห์ที่สี่ (10-14 พ.ค) กิจกรรมการจัดการกับอารมณ์และความเครียด กิจกรรมกลุ่มเรื่องการควบคุมอารมณ์ และกิจกรรมการเข้าใจชีวิต รู้จักคุณค่าของตนเองและผู้อื่น
สัปดาห์ที่ห้า (17-21 พ.ค) กิจกรรมการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และกิจกรรมกลุ่มเรื่อง “การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ”
สัปดาห์ที่หก (24-28 พ.ค) กิจกรรมการให้คำปรึกษารายกลุ่ม กิจกรรมการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “การนำหลักพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน” และกิจกรรมกีฬาบำบัด
สัปดาห์ที่เจ็ด (31 พ.ค-4 มิ.ย) กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “เทคนิคการสร้างความสมานฉันท์” และกิจกรรมทักษะชีวิต
สัปดาห์ที่แปด (7-11 มิ.ย) กิจกรรมเทคนิคการปฏิเสธในสถานการณ์ต่างๆ กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “เทคนิคการแก้ปัญหาชีวิต” กิจกรรมศิลปบำบัด
สัปดาห์ที่เก้า (14-18 มิ.ย) กิจกรรมฝึกทักษะในการปฏิเสธ กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “วิธีคลายเครียดเมื่อพบปัญหาชีวิต” และกิจกรรมศาสนบำบัด
สัปดาห์ที่สิบ (21-25 มิ.ย.) กิจกรรมละครบำบัด กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “การวางแผนชีวิตหลังพ้นโทษ” กิจกรรมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ กิจกรรมการคิดเชิงบวกและการคิดสร้างสรรค์
สัปดาห์ที่สิบเอ็ด (28 มิ.ย-2 ก.ค) กิจกรรมบทบาทสมาชิกครอบครัวที่ดี กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “การนำหลักศาสนามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต” กิจกรรมเทคนิคการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์
สัปดาห์ที่สิบสอง (5-9 ก.ค) กิจกรรมกลุ่มเรื่อง “การประสบความสำเร็จด้วยสัมมาอาชีวะ” และกิจกรรมอาชีวะบำบัด
อย่างไรก็ดี กิจกรรมทั้งหมดนี้ยังขาดแคลนงบประมาณจำนวนไม่น้อย หากผู้ใดสนใจสนับสนุนช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ ปัทมา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจ โทรศัพท์ 087-2894328
แต่กิจกรรมบำบัดไม่ว่าประเภทใดก็ไม่สำคัญเท่า...ความเป็นธรรม!
------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- เมื่อพ่อหนูถูกจับ...อีกหนึ่งความจริงที่รัฐไม่ควรละเลย
- เมื่อปฏิบัติการทางทหารถึงทางตัน จับตา "นครปัตตานี-ม.21" ดับไฟใต้
- "548 ชีวิต"ผู้ต้องขังแดนใต้ มิติมั่นคงสวนทางความเป็นธรรม
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4901&Itemid=86
- เมื่อ 5 พี่น้อง"หะยีเตะ"ตกเป็นผู้ต้องขัง กับ 24 ชีวิต"คนข้างหลัง"ที่จำต้องรับกรรม
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4890&Itemid=86