ชีวิตที่เหลืออยู่ของแม่…เมื่อนักข่าวลูกกตัญญูต้องจากโลกนี้ไป
เลขา เกลี้ยงเกลา
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
บ้านไม้ใต้ถุนสูงฝาสังกะสีหลังนี้คือบ้านของ อารูมิง ยามา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หาดใหญ่เจอนัล และผู้ช่วยช่างภาพของนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ประจำ จ.ยะลา ซึ่งต้องจากโลกนี้ไปด้วยน้ำมือของผู้ประสงค์ร้ายด้วยอาวุธปืนพกสั้น เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา บนเส้นทางลัดสายท่าสาป-ลำใหม่ ในเขต อ.เมือง จ.ยะลา
บ้านหลังนี้อยู่ในท้องที่บ้านทุ่งเดา ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา มีแม่คือ นางยะหะรอ หมานเต๊ะ และยายของอารูมิง อยู่อาศัยมานานกว่า 20 ปี วันที่ “ทีมข่าวอิศรา” เดินทางไปเยี่ยมเยือน เป็นวันที่ อารูมิง จากไปครบ 7 วันพอดี จึงมีการทำบุญตามหลักศาสนาอิสลาม และมีญาติๆ ตลอดจนเพื่อนบ้านมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
ทุกคนต่างพูดถึง กล่าวขวัญถึง และบอกเล่าถึงความเป็น “คนดี” ของอารูมิง...
เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและลูกชายคนเดียว ทำให้ ยะหะรอ ยังทำใจไม่ได้ นางเล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนเบาสำเนียงใต้ เพราะพื้นเพเป็นชาว อ.เทพา จ.สงขลา ถึงความทุกข์ที่ได้รับเมื่อขาดลูกชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจ และได้ดูแลเป็นห่วงเป็นใยกันมาตลอด 30 ปี
“ฉันกับแม่ (ยายของอารูมิง) ช่วยกันเลี้ยงเขามาตั้งแต่เล็กๆ ฉันมาอยู่ที่นี่ 20 กว่าปีแล้ว เขาเป็นเด็กดี เรียบร้อย ไม่เกเรให้ลำบากใจ ว่านอนสอนง่าย มีน้ำใจกับทุกคน เป็นคนซื่อๆ เขารู้ว่าแม่กับยายลำบาก ตอนเรียนช่างยนต์ที่วิทยาลัยเทคนิคยะลาก็ทำงานไปด้วย และเรียนต่อด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ตอนนั้นก็ทำงานส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรีเมื่อปี 2551 ทำงานเป็นช่างซ่อมรถที่อูรถยนต์ในตัวเมืองยะลาและเช่าบ้านอยู่ที่นั่น พร้อมกับเป็นนักข่าวไปด้วย”
“ทุกเช้าที่มีตลาดนัดแถวบ้าน อารูมิงจะขี่มอเตอร์ไซค์มา ระยะทางสิบกว่ากิโลเมตร เพื่อช่วยฉันขนของไปขายแล้วกลับไปทำงานต่อ พอว่างก็ไปช่วยถ่ายภาพ ทำข่าวกับเพื่อน เพราะเขาชอบถ่ายรูปและชอบการเป็นนักข่าว”
ด้วยนิสัยที่เห็นมาแต่เด็กของอารูมิง ทำให้ ยะหะรอ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเหตุร้ายถึงชีวิตจะเกิดกับลูกชายคนเดียวได้ นางบอกว่ายังคิดหาสาเหตุการตายของลูกชายไม่ได้ว่ามาจากเรื่องใด รู้แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมต่อชีวิตมนุษย์ด้วยกัน
“งานที่เขาทำพอเลี้ยงตัวเอง ฉันก็ขายของพอเลี้ยงตัวเองและแม่ เขากำลังเร่งทำงานเก็บเงินเพื่อไปสู่ขอแฟน แต่มาเกิดเหตุร้ายเสียก่อน พอไม่มีเขาก็ไม่ได้ไปขายของ ลำบากกับการขนของด้วยมอเตอร์ไซค์คันเดียว ต้องขนหลายเที่ยว แต่ก็ต้องทำต่อไปเพื่อจะได้มีรายได้เลี้ยงชีวิต”
ข้าวของที่นางนำไปขายในตลาดคือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในครัว เช่น หอมแดง ขมิ้น ตะไคร้ กะปิ น้ำบูดู เป็นต้น ซึ่งเธอรับซื้อมาจากเพื่อนบ้านอีกที แล้วไปขายตามตลาดนัดแถวบ้านอาทิตย์ละ 5 วัน ตอนอารูมิงยังมีชีวิตอยู่ เขาจะช่วยนางขนของ ทำให้นางสะดวกและเบาแรงมาก นางสามารถขี่มอเตอร์ไซค์ไป-กลับเพียงเที่ยวเดียวได้ แต่เมื่อลูกชายจากไปแล้ว ทำให้นางอาจจำเป็นต้องหารถโชเล่ย์ หรือรถจักรยานยนต์พ่วงข้างสักคัน เพื่อขนของให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม และหมดในเที่ยวเดียว
“ถ้ามีรถโชเล่ย์ก็จะสะดวก เพราะฉันจะได้ขนของได้ไม่ลำบาก แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับฉันและแม่ที่จะได้มีอาชีพเลี้ยงตัวกันไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ" ยะหะรอ กล่าวพร้อมรำพึงด้วยเสียงสั่นเครือ “ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครๆ อีก ไม่ว่าในพื้นที่นี้หรือเป็นคนพื้นที่ไหนๆ เพราะมันมีแต่ความสูญเสีย”
ความเป็นคนดีที่ไม่น่าจากโลกนี้ไปเร็วนักของอารูมิง ได้รับการยืนยันจากปากของ เดชา อาลี น้าชายที่อยู่บ้านใกล้กัน และเห็นเขามาตั้งแต่เด็กว่า ไม่น่าเกิดเรื่องเช่นนี้กับอารูมิง เพราะเด็กหนุ่มคนนี้ไม่เคยคิดร้ายหรือมีเรื่องมีราวกับใคร
“เห็นเขามาตั้งแต่เด็ก เป็นคนมีน้ำใจ ขอให้ช่วยอะไรไม่เคยบ่น มีน้ำใจกับทุกคน ขยัน อดทนและเอาการเอางาน เขารู้ว่าเป็นลูกคนจน แม่ลำบาก ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จึงตั้งใจเรียนกว่าเด็กฐานะดีแถวนี้หลายคน ที่สำคัญยังช่วยเหลือแม่มาตลอด ช่วยขนของไปตลาดตั้งแต่เช้าแล้วค่อยไปทำงาน เขาชอบถ่ายรูปและเรียนจบมาก็ไปสมัครเป็นนักข่าวที่แม้จะได้เงินไม่มากแต่ก็รักที่จะทำ คิดว่าสาเหตุการตายอาจจะมาจากการที่เขาพกวิทยุสื่อสาร มีกล้องถ่ายรูป อาจมีคนคิดว่าเขาเป็นสายของทางราชการก็เป็นไปได้ ส่วนประเด็นส่วนตัวไม่คิดว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องถึงกับฆ่ากัน”
เดชาบอกว่า หลังจากเกิดเรื่องร้ายๆ รู้สึกสงสารแม่และยายของอารูมิงที่ยังอยู่ ผู้หญิงวัยชราสองคนต้องต่อสู้ชีวิตต่อไป หากมีเงินทุนสำรองบ้างคงช่วยให้ชีวิตที่เหลือไม่ลำบากมากนัก
อับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์ เลขาธิการสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวถึงอารูมิงว่า เป็นคนที่รักในอาชีพนักข่าวและอยากเป็นนักข่าวมาก ก่อนหน้านี้อารูมิงได้โทรศัพท์มาหาและปรึกษาเรื่องการทำข่าว รวมทั้งถ่ายภาพ พร้อมทั้งเรียนรู้งานข่าว โดยทำงานควบคู่กับงานที่อู่ซ่อมรถ
“เขาเป็นคนเรียนรู้งานเร็ว เรียบร้อย ไม่เคยมีเรื่องทะเลาะหมางใจกับใคร มาช่วยงานเกือบ 2 ปีแล้ว เวลามีเหตุจะช่วยเก็บข้อมูล ใครวานให้ช่วยงานอะไรก็จะไม่เคยบ่น เสร็จงานที่อู่ก็จะโทรศัพท์มาถามว่ามีงานให้ช่วยหรือเปล่า บางครั้งมามือยังเลอะน้ำมันอยู่เลย”
“เขาช่วยงานได้ดี เป็นคู่หูกับลูกชายของผมที่เป็นนักข่าวเดลินิวส์ ผมดูแลเหมือนเป็นลูกอีกคนหนึ่ง ให้มาอยู่บ้านเดิมที่ในเมือง มีอะไรก็แบ่งปันกัน รู้สึกสลดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาเป็นนักข่าวรายแรกของชายแดนใต้ที่ถูกจงใจฆ่า ขณะนี้ทางสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยกำลังรอผลการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากเรื่องใด และเร่งหาทางช่วยเหลือครอบครัวของเขาให้ได้รับสิทธิ์ที่ควรได้ต่อไป” อับดุลการิม กล่าว
จนถึงขณะนี้มีการช่วยเหลือครอบครัวของอารูมิงจากทางสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย เป็นเงินสดจำนวน 5,000 บาท หนังสือพิมพ์หาดใหญ่เจอนัล 5,000 บาท สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 5,000 บาท กองทุนช่วยเหลือนักข่าวของสถาบันอิศรา จำนวน 10,000 บาท และเงินเยียวยาจากทางจังหวัดยะลาจำนวน 100,000 บาท ล่าสุดยังได้เปิดรับบริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขายะลา ชื่อบัญชี นางยะหะรอ หมานเต๊ะ เลขที่บัญชี 9090394060 ด้วย
เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับอารูมิง เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเต็มไปด้วยอันตราย โดยไม่เลือกว่าเหยื่อจะเป็นใครหรือประกอบอาชีพอะไร...
ไม่เว้นแม้แต่ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในที่สว่างและมีเพียงกระดาษกับปากกาเป็นอาวุธ!
---------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
- บ้านของอารูมิง ซึ่งวันนี้ต้องอยู่กันเพียงแม่กับยายของเขา
- ของใช้ในครัวพวกกะปิ น้ำปลาที่ ยะหะรอ นำไปขายที่ตลาดนัด
- ยะหะรอ ขณะกอดรูปลูกชายคนเดียว