ถอดรหัส "หยุดงานวันศุกร์" ข่าวลือ 2 ชั้น รัฐเสีย 2 เด้ง
ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนกันยายน 2555 ที่ร้านรวงต่างๆ พากันปิดตัว จนสื่อหลายแขนงรายงานว่าเป็น "เมืองร้าง"
เพราะคำขู่ให้ "หยุดทำงานและค้าขายในวันศุกร์" ถูกปล่อยออกมาอย่างน้อยก็ 2-3 สัปดาห์แล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ กระทั่งเกิดเหตุคาร์บอมบ์ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (21 ก.ย.) นั่นแหละที่ทำให้พ่อค้าแม่ขายแทบทุกรายไม่ลังเลที่จะปิดร้าน และไม่กล้าเปิดขายของในลักษณะท้าทายอีกต่อไป
เหตุผลที่ฝ่ายปล่อยข่าวข่มขู่นำมากล่าวอ้างรองรับ ยึดโยงกับการปฏิบัติศาสนกิจของอิสลามเรื่อง "การละหมาดวันศุกร์" ซึ่งเป็นละหมาดใหญ่ เป็นหน้าที่ของมุสลิมผู้ชายทุกคนต้องไปละหมาดที่มัสยิดในช่วงเวลาประมาณ 12.15-13.15 น. โดยไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพหรือกระทำสิ่งใดนอกจากศาสนกิจดังกล่าว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าช่วงเวลาอื่นๆ ของวันศุกร์ต้องหยุดทำงานหรือหยุดค้าขาย
ทว่าฝ่ายที่ปล่อยข่าวซึ่งเชื่อกันว่าเป็น "กลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน" ใช้ความกลัวและความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของชาวบ้านมาเป็นเครื่องมือบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม
สภาพการณ์เช่นนี้เคยเกิดมาแล้วเมื่อปลายปี 2548 ครั้งนั้นข่าวลือก่อตัวอย่างเงียบๆ และลามไปทั่วสามจังหวัด ข่าวที่แพร่กระจายร้ายแรงถึงขนาดว่ามีแม่ค้าที่ฝ่าฝืนขายของวันศุกร์ถูก "ตัดหู" ทำให้พี่น้องมุสลิมแทบทุกอาชีพไม่ทำงานกันเลย และขยายวงถึงพี่น้องไทยพุทธ รวมทั้งข้าราชการด้วย เนื่องจากในปีนั้นหยุดกันหมดจริงๆ แม้แต่รถสองแถว รถประจำทางก็ไม่มีคนขับ ทำให้ทุกคนต้องหยุดทำงานไปโดยปริยาย ถึงขั้นมีการเรียกร้องให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการเฉพาะที่สามจังหวัดใต้กันเลยทีเดียว
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ในขณะนั้น) ต้องแก้เกมด้วยการส่งรัฐมนตรีเวียนกันลงพื้นที่ทุกวันศุกร์เพื่อสร้างความมั่นใจ และเปิดร้าน "ธงฟ้าราคาประหยัด" ของกระทรวงพาณิชย์กระจายไปในทุกอำเภอ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าขายและเศรษฐกิจหมุนเวียน
หลายคนคงยังจำได้ว่ารัฐต้องใช้เวลานานหลายเดือนอยู่เหมือนกัน สถานการณ์จึงค่อยๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติ...
ครั้งนั้นฝ่ายขบวนการได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ทั้งการดิสเครดิตรัฐ และการแสดงศักยภาพว่าสามารถควบคุมพื้นที่เอาไว้ได้แบบเบ็ดเสร็จ โดยกลไกของรัฐแทบทำอะไรไม่ได้เลย
7 ปีต่อมาเกิดสภาพการณ์ลักษณะเดียวกันอีก แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากการตระเวนเก็บข้อมูลจากทุกพื้นที่ ทุกอำเภอโดยเริ่มต้นจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่หลายฝ่ายยืนยันว่าเป็นต้นตอของข่าวลือให้หยุดทำงาน พบความต่างอย่างมีนัยยะสำคัญกับเหตุการณ์เมื่อปี 2548 นั่นก็คือชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปไม่เชื่อว่างานนี้เป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน!
นิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ผู้นำศาสนาชื่อดัง ให้ข้อมูลว่า เขาไม่เคยเห็นใบปลิวข่มขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์ แต่เห็นใบปลิวที่ออกมาตอบโต้ว่าการข่มขู่ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการ และอ้างว่าเป็นการกระทำของ "คนมีสี"
ข้อมูลของ นิมุ สอดรับกับคำบอกเล่าของชาวบ้านหลายๆ พื้นที่ว่ามีการข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ จริง แต่คนข่มขู่กลับเป็นบุคคลที่ทำให้เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
อย่างที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี นางแมะซง (สงวนนามสกุล) บอกว่า ได้ยินข่าวว่ามีการแขวนถุงข้าวสาร (ใช้ในพิธีละหมาดศพตามคติความเชื่อของมุสลิม หมายถึงการขู่ว่าต้องตาย) ตามร้านค้าเพื่อไม่ให้เปิดขาย ส่วนคนที่ฝืนเปิดร้านก็จะถูกทำร้าย ที่ได้ข่าวมาคือแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวที่ อ.เมืองยะลา ถูกคนร้ายตักน้ำก๋วยเตี๋ยวเดือดๆ ราดมือ แล้วขี่รถหลบหนีไป เมื่อสามีของแม่ค้ามาเห็นเข้า จึงขับรถตามไป แล้วก็พบว่าคนที่ทำร้ายเลี้ยวรถเข้าไปในค่ายทหารแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวตามไปยังต้นตอที่ อ.เมืองยะลา ก็ไม่พบว่ามีแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวถูกทำร้าย...
นายแวมะยูโซ๊ะ (สงวนนามสกุล) ชาวสวนยางที่ อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวทำนองเดียวกันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของขบวนการ เพราะการข่มขู่ถือว่าผิดหลักศาสนา และทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ซึ่งย่อมรวมถึงมวลชนของฝ่ายขบวนการด้วย ฉะนั้นขบวนการไม่ทำแน่นอน จะเห็นได้ว่ามวลชนของฝั่งขบวนการก็ไม่ได้หยุดกรีดยาง ยกเว้นชาวบ้านที่ห่างไกลกับขบวนการเท่านั้นที่หวาดกลัวและหยุดทำงาน
เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้แต่ชาวบ้านไทยพุทธเองก็ยังเชื่อข่าวลือลักษณะนี้ในบางแง่มุมเช่นกัน เช่น นางนุ้ย (สงวนนามสกุล) ซึ่งพำนักอยู่ใน อ.เมืองปัตตานี และมีสามีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นางบอกว่าไม่คิดว่าเป็นการกระทำของขบวนการ เนื่องจากทำแล้วเสียมวลชน แนวร่วมขบวนการที่มีอุดมการณ์ไม่ทำแบบนี้แน่ จึงเชื่อว่าเป็นการกระทำของฝ่ายอื่น
จากการเสาะหาข้อมูลเชิงลึกจากชาวบ้านในพื้นที่ หลายคนยังเชื่อว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางหน่วยได้ "อุปโลกน์" ขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นมา ซึ่งเป็น "ขบวนการปลอม" เพื่อใช้ต่อสู้กับขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่จริงๆ โดยนำไปโยงกับกรณีที่มีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวน 93 คนเข้าแสดงตัวต่อแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาไม่เชื่อว่าเป็นสมาชิกขบวนการระดับ "นักรบตัวจริง"
นายโฮป (นามสมมติ) ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นอดีตสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต แต่ปัจจุบันออกจากขบวนการแล้ว วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ฝ่ายขบวนการได้ประโยชน์เกินครึ่ง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นฝ่ายกระทำการเองหรือถูกสวมรอยก็ตาม เนื่องจากมีข่าวลือจนชาวบ้านเชื่อว่าการข่มขู่ครั้งนี้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้นแม้ว่ามวลชนของขบวนการจะได้รับความเดือดร้อนและอาจไม่พอใจบ้าง แต่ผลที่ได้กลับไปยังขบวนการมีมากกว่า
"ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยทำเองแน่นอน เพื่อสร้างกระแสให้ชาวบ้านเกลียดชังขบวนการ หลังจากที่มีคนเข้าแสดงตัวกับแม่ทัพ และโหมกระแสกันว่าขบวนการอ่อนแอลงมากแล้ว อย่าลืมว่าวิธีการแบบนี้รัฐทำมาหลายครั้ง เช่น ยุทธวิธีแยกปลาออกจากน้ำ ซึ่งใช้มาหลายปี จึงไม่แปลกหากจะมีการสร้างขบวนการปลอมขึ้นมาหลอกชาวบ้านเพื่อป้ายสีฝ่ายขบวนการตัวจริงบ้าง" นายโฮป ระบุ
แม้ข่าวสารในพื้นที่จะเต็มไปด้วยความสับสน โดยชาวบ้านจำนวนไม่น้อยเชื่อว่ากลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบไม่ได้ทำเรื่องนี้ แต่ทุกคนก็ไม่กล้าที่จะเปิดกิจการหรือทำงานตามปกติ ทั้งยังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่ประมาทเอาไว้ดีที่สุด"
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ยืนยันว่า การข่มขู่ให้หยุดทำงานเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ในสามจังหวัด จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยเป็นคนทำ และกรณีนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นฝีมือของ "แนวร่วมรุ่นใหม่" ที่ต้องการทำให้ภาพของขบวนการดูดีขึ้นโดยยึดโยงกับศาสนา
"เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ คือมีข่าวลือออกมาก่อน แล้วก็มีระเบิดที่สายบุรี ก็เท่ากับข่าวลือเป็นเรื่องจริง ยิ่งสื่อหลายแขนงออกข่าวมาตลอดสัปดาห์ว่าประชาชนหวาดกลัวคำขู่หยุดงานวันศุกร์ และหลายร้านก็เตรียมจะปิด ก็ยิ่งทำให้ข่าวลือน่าเชื่อถือมากขึ้น ทุกวันนี้คนในพื้นที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าตัวเองจะโดนเมื่อไหร่ พอมีตัวอย่างที่สายบุรีทำให้กระแสไปกันใหญ่ และเกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างที่เห็น"
แหล่งข่าวรายนี้ ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่ารัฐโดนข่าวลือ 2 ชั้น และแก้ไขได้ยากมาก ทั้งยังชัดเจนว่าเป็นการตอบโต้กรณีที่คนของขบวนการออกมาแสดงตัวกับรัฐมากขึ้น
"เราคิดไม่ทันจริงๆ เพราะบางเรื่องก็ลึกมากจนเราคาดไม่ถึง ตอนปี 48 เป็นข่าวลือชั้นเดียวก็ยังไม่รู้ว่าจะหยุดอย่างไร พอเจอเข้าไป 2 ชั้นอย่างนี้ยิ่งหนัก ทางแก้คงต้องทำเหมือนปี 48 คือรัฐต้องเคลื่อนทั้งระบบเพื่อสร้างความมั่นใจ และต้องใช้เวลา" เขากล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า...
นี่คืองานถนัดของกลุ่มขบวนการ เป็นความน่ากลัวของข่าวลือ...ศัตรูที่มองไม่เห็น ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-3 ร้านรวงต่างๆ พร้อมใจกันปิดการค้าขายในวันศุกร์ทุกพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
4 ใบปลิวจากกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็น "กลุ่มปลดปล่อยปัตตานี" ซึ่งถูกเผยแพร่ในหลายพื้นที่ ระบุว่าพวกตนไม่ได้เป็นผู้ข่มขู่ให้หยุดงานวันศุกร์ แต่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใบปลิวฉบับนี้เป็นหนึ่งในใบปลิวดิสเครดิตรัฐที่ออกมาหลายชุดในระยะหลัง รวมทั้งการกล่าวหาว่ากรณี 93 แนวร่วมเข้าแสดงตัวต่อแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นการจัดฉาก