แรงสั่นสะเทือนจากคดี“จ่าเพียร”…อีกครั้งที่กลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ตกเป็นเหยื่อ
แวลีเมาะ ปูซู
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุระเบิดครั้งรุนแรงเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2553 ที่บ้านทับช้าง หมู่ 2 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งทำให้ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา เสียชีวิตพร้อมพลขับนั้น ได้ทำให้เกิดปฏิบัติการ “กวาดจับ” ทั้งผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยมากถึง 17 รายซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุลอบวางระเบิดคร่าชีวิต “จ่าเพียร” รวมถึงเหตุระเบิดครั้งอื่นๆ ในบันนังสตาก่อนหน้านั้น
น่าสนใจว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 17 รายถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ซึ่งกำลังถูกตั้งคำถามว่าแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้และในกรุงเทพฯที่กำลังปั่นป่วนไม่แพ้กันได้จริงหรือไม่
เพราะวันนี้เมืองหลวงของประเทศไทยก็เป็นพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเช่นกัน หลังจากที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกาศไปล่วงหน้าเกือบ 5 ปีแล้ว!
ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ภายในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา
ที่น่าจับตาก็คือผู้ต้องสงสัย 7 คนใน 17 คนเป็นนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในพื้นที่ และทั้งหมดเป็นสมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งมุ่งทำกิจกรรมเพื่อสังคมและส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนโดยยึดแนวทางสันติวิธี
แม้ต่อมาผู้ต้องสงสัยที่เป็นนักศึกษาทั้งหมดจะได้รับอิสรภาพ รวมทั้งผู้ต้องสงสัยอื่นอีก 2 คน แต่นั่นก็เกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา สนน.จชต.นับร้อยคนที่หน้า ศชต.เมื่อวันที่ 6 เม.ย.เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์
ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่กลุ่มนักศึกษารู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม และทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับขบวนการนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตึงเครียดเหมือนยืนกันคนละมุมอีกคำรบ
ไลลา เจะซู ผู้ประสานงานกลุ่ม INSouth หรือเครือข่ายบัณฑิตอาสาพัฒนาสังคม จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( คบส.จชต.) และหนึ่งในแกนนำ สนน.จชต. กล่าวว่า การที่เพื่อนๆ ทั้ง 7 คนถูกควบคุมตัว คิดว่าเป็นเพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงบังคับใช้กฎหมายตามความรู้สึกของตนเอง มีอคติต่อความเป็นมลายูและหวาดระแวงต่อการทำกิจกรรมของนักศึกษาและเยาวชนในพื้นที่
“จากการพูดคุยกับเพื่อนๆ หลายคนรู้สึกน้อยใจที่ตนเองเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เกิดสันติภาพและความเป็นธรรม แต่กลับถูกกระทำแบบนี้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐหวาดระแวงนักศึกษาและเยาวชนมากเกินไป ทำให้มองแบบเหมารวมว่าเยาวชนและนักศึกษาอยู่ข้างโจร เพราะไปทำกิจกรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรง เช่น ญาติๆ ของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง หรือลงพื้นที่ทำกิจกรรมในพื้นที่เสี่ยง”
“ที่ผ่านมากลุ่มนักศึกษาได้อธิบายกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าเราเป็นใคร มาจากสถาบันการศึกษาใด ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ที่สำคัญเราเคยพูดด้วยซ้ำว่าเรายินดีให้ความร่วมมือกับรัฐ หากรัฐมีความจริงใจในการสร้างสันติภาพ แต่สุดท้ายรัฐก็ไม่เข้าใจ บ่อยครั้งที่เราลงพื้นที่ทำกิจกรรมจะถูกมองจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างหวาดระแวง พวกเขายังคิดว่าการที่นักศึกษาเข้าไปในพื้นที่เพื่อปลุกระดมและสร้างความวุ่นวายหรือไม่ มันจึงไม่มีประโยชน์ที่จะมาอธิบายอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของพวกเราต่อไป” ไลลา กล่าว
เธอยังตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ ประชาชนผู้บริสุทธิ์มักต้องกลายเป็นแพะรับบาป เห็นได้ชัดจากความพยายามคลี่คลายคดีวางระเบิดสังหาร พล.ต.อ.สมเพียร
“คดีนี้ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์จากกระบวนการยุติธรรมเลยว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด การจับกุมบุคคลจำนวนมากมาจากการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งที่ผ่านๆ มาในหลายคดี ข้อมูลที่นำมาสู่การจับกุมรูปแบบนี้ก็ไม่สามารถใช้อ้างอิงหรือต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ แต่กลับทำให้ประชาชนมลายูมุสลิมกลายเป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม”
“ฉันอยากให้ภาครัฐมองการกระทำของพวกเราด้วยใจยุติธรรม แล้วรัฐก็จะพบว่านักศึกษาเป็นใคร มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมมากแค่ไหน อยากให้รัฐยุติการใช้กฎหมายตามความรู้สึกของนตัวเอง เพราะการที่รัฐมองว่านักศึกษาอยู่ข้างเดียวกับขบวนการก่อความไม่สงบ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐใจแคบ ไม่เข้าใจคนมลายู และอาจนำมาซึ่งสงครามความรู้สึกในที่สุด การประโคมข่าวว่าเพื่อนๆ ทั้ง 7 คนเป็นมือระเบิด สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเราเลย บาดแผลทางสังคมที่เพื่อนๆ ได้รับไม่ได้จบสิ้นไปหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว สังคมส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพื่อนของเราได้รับการปล่อยตัวแล้วเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุตามข้อกล่าวอ้าง” ไลลา กล่าว
ด้านท่าทีของฝ่ายเจ้าหน้าที่ต่อกรณีที่เกิดขึ้น พ.ต.อ.พัฒนวุฒิ อังคะนาวิน รองผู้บังคับการอำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รองผบก.อก.ศชต.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการทำกิจกรรมของนักศึกษา แต่ก็อยากบอกว่าอย่ามองเจ้าหน้าที่ในแง่ลบมากเกินไป
“การถูกจับกุม เราต้องมาดูว่านักศึกษาเหล่านั้นเกี่ยวข้องหรือเปล่า ทำไมถึงได้โดนจับ ฝ่ายนักศึกษาเองต้องยอมรับด้วยว่าเพื่อนไม่ได้อยู่ด้วยกันกับเราตลอด 24 ชั่วโมง ลับหลังเราเพื่อนอาจไปทำอะไรที่เราไม่รู้ก็ได้ อันนี้ต้องยอมรับ เหมือนผมเป็นตำรวจ ผมก็ไม่สามารถไปยืนยันตำรวจท่านอื่นๆ ได้ว่าไปทำดีหรือไม่ดี เพราะมันก็มีทั้งด้านมืดและสว่าง ดังนั้นจะเป็นใครก็แล้วแต่ จะไปยืนยันด้านมืดไม่ได้หรอก ต้องยืนยันด้านสว่างเท่านั้น เพราะด้านมืดไม่มีใครรู้”
พ.ต.อ.พัฒนวุฒิ ยังเห็นว่า เรื่องลักษณะนี้ควรปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของกระบวนการยุติธรรมจะดีที่สุด
“ถ้ามีหลักฐานก็ว่าไปตามหลักฐาน ถ้าเกิดไม่มี เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิไปทำอะไรได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีหลักฐานแล้วเจ้าหน้าที่จะทำอะไรตามใจหรือละเมิดกฎหมาย”
นายตำรวจจาก ศชต.กล่าวด้วยว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การทำกิจกรรมของนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ และมองว่าเป็นเรื่องดีที่นักศึกษาจัดกิจกรรมช่วยเหลือเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน และยังช่วยเหลือสังคม เพราะอย่างน้อยก็เป็นการบ่งบอกว่า ตัวกิจกรรมคือการช่วยเหลือพี่น้องที่อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่
“มันเป็นเรื่องดีอยู่แล้วกับการชุมนุมหรือรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน การทำกิจกรรมของนักศึกษาเป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วย ถ้าทำกิจกรรมในทางที่สร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมเชิงบวก และปฏิบัติตนถูกต้องตามกฎหมายและหลักการทางศาสนา แต่ก็ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่เจ้าหน้าที่จะมองในเชิงลบบ้างในบางกิจกรรม อย่าไปคิดจนเกินเหตุว่าเจ้าหน้าที่จะทำอะไรไม่ดีไม่งาม” พ.ต.อ.พัฒนวุฒิ กล่าว
ถือเป็นสองมุมมองที่เรียกร้องให้เข้าใจบทบาทซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนก็ล้วนแต่หวังอยากเห็นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต่สันติสุข...
-------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา สนน.จชต.ที่หน้าโรงเรียนตำรวจภูธร 9 เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2553