ผ่าปมบึ้มปัตตานี-เด้งผู้กำกับ...ความไร้เอกภาพในเมืองมากผลประโยชน์
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
คำสั่งย้ายด่วน พ.ต.อ.มนัส ศิกษมัต จากเก้าอี้ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.เมืองปัตตานี เข้าไปช่วยราชการที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเสียงวิจารณ์กันให้แซ่ดไม่ใช่แค่ในพื้นที่ปัตตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ฮือฮาถึงศูนย์กลางอำนาจของประเทศอย่างกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การโยกย้ายครั้งนี้น่าจะไม่ได้มีสาเหตุเพราะถูกคนร้ายปาระเบิดถล่มโรงพัก แถมยังมีคาร์บอมบ์ซ้ำเมื่อวันที่ 21 เม.ย.อย่างที่กล่าวอ้างกันเพียงอย่างเดียว
คนช่างสงสัยตั้งประเด็นว่า ในคำสั่งย้ายไม่ได้ระบุเหตุผลใดๆ ชัดเจน ยกเว้นเหตุผลที่ พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผู้บัญชาการ ศชต.ซึ่งดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อธิบายว่าเป็นความบกพร่อง ผิดพลาด ที่ปล่อยให้คนร้ายลอบวางระเบิดโรงพักได้มากกว่า 2 ครั้ง
พิจารณาจากคำกล่าวของ พล.ต.ท.พีระ ก็ดูดีมีเหตุผล แต่หากย้อนดูข้อเท็จจริงประกอบด้วย จะพบว่าเหตุผลนั้นฟังดูแปลกๆ อยู่เหมือนกัน กล่าวคือสถิติเหตุระเบิดที่หน้าโรงพักปัตตานีในรอบ 2 ปีมานี้ เกิดขึ้นมาแล้วรวม 4 ครั้ง ได้แก่
ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2551 เวลา 22.30 น. เกิดระเบิด “มอเตอร์ไซค์บอมบ์” หน้า สภ.เมืองปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และมีตำรวจรวมทั้งประชาชนที่มาติดต่อราชการได้รับบาดเจ็บ 5 ราย
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2551 เวลา 20.00 น. คนร้ายนำระเบิดแสวงเครื่องซุกในถังขยะบริเวณปากทางเข้าลานจอดรถข้าง สภ.เมืองปัตตานี ห่างจากอาคารโรงพักแค่ 50 เมตร ก่อนจุดชนวนระเบิด แรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นาย และประชาชน 1 ราย
ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2551 เวลา 18.00 น. เกิดระเบิด “มอเตอร์ไซค์บอมบ์” บริเวณลานจอดรถชั่วคราวของอาคารโคลีเซียม ตั้งอยู่เยื้อง สภ.เมืองปัตตานี แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 3 นาย หนึ่งในนั้นคือสารวัตรปราบปรามยศพันตำรวจโท
ครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2553 เวลา 08.00 น.เศษ คนร้ายปาระเบิดชนิดเอ็ม 67 เข้าใส่กำลังพลของตำรวจที่กำลังเข้าแถวเคารพธงชาติและปฏิญาณตนบริเวณลานหน้า สภ.เมืองปัตตานี และอาคารกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (บก.ภ.จว.ปัตตานี) ซึ่งอยู่ติดกัน
ถัดจากนั้นไม่ถึง 2 ชั่วโมง เกิดระเบิด “คาร์บอมบ์” ซ้ำบนถนนห่างจากโรงพักไม่ถึง 100 เมตร ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย ทั้งชาวบ้านและตำรวจได้รับบาดเจ็บถึง 70 คน
จากสถิติที่ยกมา หากจะกล่าวอย่างเป็นธรรมและเป็นกลางต้องบอกว่า ถ้าจะเด้ง พ.ต.อ.มนัส ด้วยข้อหาปล่อยให้เกิดระเบิดหน้าโรงพักซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกินกว่า 2 ครั้ง เขาก็น่าจะถูกย้ายตั้งแต่ปี 2551 แล้ว เพราะมีระเบิดเกิดขึ้นใกล้ๆ โรงพักถึง 3 ครั้งในห้วงเวลาเพียง 4 เดือนเศษ และมีผู้ใต้บังคับบัญชาเสียชีวิตด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2551 ยังเกิดระเบิด “คาร์บอมบ์” ครั้งรุนแรงที่สุดของ จ.ปัตตานี ที่หน้าโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี (แรงกว่าครั้งล่าสุดเมื่อ 21 เม.ย.2553) จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ที่น่าแปลกก็คือในปีนั้น พ.ต.อ.มนัส ไม่ถูกย้าย...
ความแตกต่างของสถานการณ์ในห้วงเวลานั้นกับวันนี้มีอยู่อย่างเดียวหากตีวงแคบลงมาแค่ระดับจังหวัด คือ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "ผู้การปัตตานี" เป็นคนละคนกัน โดยช่วงปี 2551-2552 ผู้การปัตตานีคือ พล.ต.ต.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว ปัจจุบันเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 (ผบก.น.9) ดูแลพื้นที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร ส่วนผู้การปัตตานีคนปัจจุบันที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งแทนเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว คือ พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐ์พันธ์ นายตำรวจมุสลิมที่มีพื้นเพเป็นชาว อ.มายอ จ.ปัตตานี
นี่คือคำถามที่หลายคนตั้งโจทย์ว่า การสั่งย้าย พ.ต.อ.มนัส มีอะไรมากไปกว่าเหตุระเบิดหน้าโรงพักหรือไม่ และ พล.ต.ต.พิเชษฐ์ กับ พ.ต.อ.มนัส ทำงานร่วมกันได้ด้วยดีมีเอกภาพหรือไม่ อย่างไร
เอกภาพที่ถูกตั้งคำถาม
มีข้อมูลน่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถิติเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา เพราะปรากฏว่า จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุด ทั้งๆ ที่หากย้อนกลับไปพิจารณาตัวเลขช่วงหลายปีก่อนหน้า เหตุรุนแรงจะกระจุกตัวอยู่ที่ จ.นราธิวาส และยะลา เป็นส่วนใหญ่
จากข้อมูลที่รวบรวมโดย "โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา" ชี้ว่า เหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตลอดเดือน มี.ค.2553 เกิดขึ้นทั้งหมด 47 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นเหตุการณ์ใน จ.ปัตตานี สูงที่สุดถึง 22 ครั้ง และเกิดในท้องที่อำเภอเมือง 7 ครั้ง มากกว่าทุกๆ อำเภอในจังหวัดซึ่งมีทั้งสิ้น 12 อำเภอ
เช่นเดียวกับเดือน ม.ค.2553 ที่ จ.ปัตตานี ก็เป็นแชมป์เรื่องเหตุรุนแรงตีคู่มากับ จ.นราธิวาส ขณะที่เดือน ต.ค.-พ.ย.2552 เกิดเหตุรุนแรง 37 ครั้ง และ 26 ครั้งตามลำดับ สูงที่สุดในสามจังหวัดอีกเช่นกัน
ตัวเลขที่ปรากฏย่อมสะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ซึ่งคงไม่ใช่แค่ระดับอำเภอ แต่น่าจะหมายถึงระดับจังหวัดมากกว่า
แต่กระนั้น ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่นี้ประกาศใช้ "กฎหมายพิเศษ" ทั้งกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ฉะนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อยจึงไม่ได้มีเฉพาะตำรวจ แต่หมายรวมถึงทหารและฝ่ายปกครองด้วย
ปัญหาก็คือทั้งสามฝ่าย โดยเฉพาะตำรวจกับทหารทำงานสอดประสานเป็นเอกภาพกันแค่ไหน เพียงใด เพราะมีเสียงบ่นหนาหูจากระดับปฏิบัติว่า เวลาเกิดเหตุรุนแรงไม่ว่าจะในท้องที่ใดก็ตาม ไม่ค่อยเห็นนายตำรวจระดับสูงที่รับผิดชอบระดับจังหวัดไปปรากฏกายในที่เกิดเหตุสักเท่าไหร่
ซ้ำร้ายในปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม จังหวัดอื่นๆ มักจะเป็นการจัดกำลังผสมทหาร ตำรวจ พลเรือน แต่ที่ปัตตานีมักฉายเดี่ยว เข้าทำนองงานของทหาร ตำรวจไม่ยุ่ง, งานไหนที่ตำรวจยุ่ง ทหารไม่เกี่ยว โดยเฉพาะตำรวจระดับสูงเจ้าเดิมที่ออกแอ็คชั่นน้อยมาก
ไม่มีใครกล้าสรุปแบบฟันธงว่าเป็นการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจนระหว่างตำรวจ ทหาร หรือว่าร่วมงานกันไม่ได้กันแน่...
แต่ถ้าเป็นไปตามสมมติฐานข้อหลังคือร่วมงานกันไม่ได้ นั่นหมายถึงการมีปัญหาเรื่องเอกภาพของหน่วยงานความมั่นคง จึงไม่แปลกใจที่ปัตตานีกลายเป็นแชมป์พื้นที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุดในระยะหลัง
ธุรกิจมืด..ผลประโยชน์ผิดกฎหมาย
แม้ปัตตานีจะเป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ และคนส่วนใหญ่นอกพื้นที่มักจะมองว่าเป็นเมืองที่ไม่น่าไปเยี่ยมกราย และน่าจะล้าหลัง ไม่มีความเจริญ ทว่าในภาพความเป็นจริงแล้ว ปัตตานีโดยเฉพาะอำเภอเมือง คืออำเภอที่มีสภาพเศรษฐกิจดีเป็นอันดับต้นๆ ของสามจังหวัดเลยทีเดียว
อย่าลืมว่าเมืองนี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในภาคใต้ คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อย่าลืมว่าเมืองนี้เพิ่งมีกลุ่มธุรกิจจับมือกันทุ่มเม็ดเงินลงทุนระดับหลายร้อยล้านเพื่อเนรมิตโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดยักษ์ โรงแรมหรู และศูนย์การเรียนรู้ที่ชื่อ “ปัตตานีเพลส”
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าปัตตานีคือเมืองท่าของสามจังหวัด มีท่าเรือประมงและท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านก่อนเข้าพื้นที่ จ.ยะลาและนราธิวาสอีกด้วย
การที่ปัตตานีมีเศรษฐกิจและเงินไหลเวียนค่อนข้างดี มีกำลังซื้อสูง เพราะมีนักศึกษาและแรงงานภาคประมงจำนวนมาก ซ้ำยังเป็นเมืองชายแดน จึงไม่แปลกที่จะมีธุรกิจผิดกฎหมายและธุรกิจประเภทใต้ดินผุดขึ้นมากมาย ทั้งที่สีเทาๆ แบบพอยอมรับได้อย่างการขายสินค้าหนีภาษี สถานบันเทิง หรือประเภทสีดำสนิท อาทิ น้ำมันเถื่อน โต๊ะบอล และค้ามนุษย์
เอาแค่เซคเตอร์เดียวคือสถานบริการ หากเป็นนักตระเวนราตรีก็จะทราบดีว่า ที่ปัตตานีไม่มีอะไรน้อยหน้ากรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นผับ บาร์ โคโยตี้ หรือพวกคาราโอเกะแฝงขายบริการทางเพศ ก็เปิดกันได้โจ๋งครึ่มแทบไม่ต้องดูเวลาปิด
ธุรกิจผิดกฎหมายเปิดได้ด้วยสาเหตุอะไร ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยไหน คงไม่ต้องจาระไนกันให้มากความ...
และนั่นคือที่มาของเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่อง “ส่วยก้อนโต”
ผลประโยชน์ในรูปของส่วยในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีมาจากธุรกิจใต้ดินหลากหลายประเภท หลักๆ ในขณะนี้คือ "โต๊ะบอล" ที่รับแทงพนันฟุตบอล ซึ่งในเขตเมืองปัตตานีมีมากถึง 20 โต๊ะ และเปิดเล่นกันอย่างเปิดเผย มีเยาวชนอายุตั้งแต่ 10 ขวบอยู่ในวงจรพนัน ที่ดังที่สุดและใหญ่ที่สุดคือโต๊ะ “จ่า ส.” เพราะตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่จับโต๊ะบอล แต่กลับเปิดโต๊ะเสียเอง
ข้อมูลจากคนในวงการ ระบุว่า โต๊ะบอลแต่ละโต๊ะต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยโต๊ะละ 5,000 บาทต่อเดือน ถ้าอยากปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องจ่าย 3 หน่วย ทั้งๆ ที่ 3 หน่วยนี้เป็น "สีเดียวกัน" แต่มีการแยกรายการกันชัดเจน โดยมียอดส่งถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงด้วย
ยอดรวมของส่วยก้อนนี้อยู่ที่ราว 300,000 บาทต่อเดือน!
ส่วนธุรกิจมืดประเภทสถานบันเทิงในรูปของเธคและผับ แม้จะมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย แต่บางแห่งก็ต้อง “จ่าย” เพื่อเปิดการแสดงในลักษณะ “ปลุกใจเสือป่า” สนองเป้าหมายเรียกลูกค้า และลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยต่างๆ ที่ลงไปปฏิบัติภารกิจดับไฟใต้นั่นเอง
สถานบันเทิงอีกประเภทหนึ่งคือร้านคาราโอเกะแฝงค้าประเวณีซึ่งมีอยู่ราว 50 แห่งในอำเภอเมืองปัตตานี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคประมง ร้านเหล่านี้จึงตั้งกระจุกตัวกันอยู่ในย่านแพปลาต่างๆ แต่ที่ขึ้นชื่อมากเป็นพิเศษและเปิดมาอย่างยาวนานคือซอยชื่อเดียวกับปั๊มน้ำมันยี่ห้อหนึ่ง ร้านคาราโอเกะในซอยนี้เปิดกันอย่างโจ๋งครึ่มกลางเมือง ปิดเกือบเช้า
ร้านคาราโอเกะประเภทนี้ต้อง “จ่าย” แห่งละ 3,000-5,000 บาทต่อเดือนตามแต่ขนาดของสถานบริการ และต้องจ่ายอัตราเดียวกันแยกเป็น 3 หน่วยแต่สีเดียวกันเหมือนเดิม
อีกธุรกิจหนึ่งที่เงินสะพัดไม่แพ้ 2 ธุรกิจแรกที่กล่าวไปแล้วคือ “น้ำมันเถื่อน” มีเจ้าใหญ่ที่รู้จักกันดีของคนในวงการ คือ “นาย จ.โรงไม้” แต่ธุรกิจน้ำมันเถื่อนแตกต่างจากธุรกิจมืดประเภทอื่นๆ เล็กน้อย คือการนำเข้าและขนถ่าย “ของ” นั้นเกี่ยวพันกับหน่วยงานรัฐหลายหน่วย ด้วยเหตุนี้ “ส่วย” จึงต้องส่งให้หลายสี
เมื่อมี “ส่วย” ก็ต้องมี “ทีมเก็บส่วย” ในกรุงเทพฯเรียก “นักบิน” แต่ที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่ใช้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เอ่ยชื่อ “จ่า ล.-จ่า พ.-จ่า ด.” รับรองผู้ประกอบการร้องอ๋อกันทุกราย
ข้อมูลการแยกจ่ายส่วย 3 หน่วยแต่สีเดียวกันนี้ ที่จริงแล้วเป็นข้อมูลใหม่ไม่กี่เดือนนี้เอง เพราะที่ผ่านมาจ่ายกันแค่ 2 หน่วย แต่เมื่อมี “นาย” คนใหม่เข้ามา จึงมีการบีบให้แยกจ่าย 3 ส่วน กลายเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ ซ้ำยังมีปัญหาระหว่างผู้บังคับบัญชาของ 3 หน่วยด้วยกันเองเกี่ยวกับ "อัตราส่วย" ว่าควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ กระทั่งสุดท้ายกลายเป็นความขัดแย้ง
“คาร์บอมบ์” ลูกล่าสุดที่ปัตตานี มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมใช้รถยี่ห้อดี ราคาแพง ไม่เห็นเหมือนเหตุการณ์อื่นที่มักใช้ “รถร้ายๆ” เพราะเป็นปฏิบัติการ “บึ้มแล้วทิ้ง”
เหตุนี้จึงมีเสียงนินทาว่า มีการลงขันกันเพื่อให้เสียงระเบิดดัง จะได้มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าหันมาสนใจ และล้างระบบส่วยกินเมืองเช่นนี้สักทีหรือไม่...
คำตอบสุดท้ายคงไม่ได้อยู่ในสายลม!
-------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พ.ต.อ.มนัส ศิกษมัต
2 "คาร์บอมบ์"เที่ยวล่าสุดกลางเมืองปัตตานี
อ่านประกอบ :
- เด้ง ผกก.เมืองปัตตานีเซ่นระเบิด จับอาวุธล็อตใหญ่จ่อป่วน 6 ปีกรือเซะ
- วันโลกถล่มของตำรวจปัตตานี บึ้มหน้าโรงพัก-คาร์บอมบ์ซ้ำดับ 1 เจ็บกว่าครึ่งร้อย