วิเคราะห์บอมบ์ปัตตานี จุดระเบิด 2 ระบบ-หวังฆ่าหมู่ จนท.
สุเมธ ปานเพชร / อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุคนร้ายปาระเบิด เอ็ม 67 เข้าใส่กำลังตำรวจนับร้อยนายที่กำลังเข้าแถวเคารพธงชาติและปฏิญาณตนบริเวณลานหน้าโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี เมื่อเช้าวันพุธที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ถัดจากนั้นไม่ถึง 2 ชั่วโมง ยังเกิดคาร์บอมบ์ห่างจากจุดแรกไม่ถึง 100 เมตร ทำให้มีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย ผู้ได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 60 คน เป็นตำรวจถึง 50 นายนั้น นับเป็นเหตุการณ์ร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในปีนี้เลยทีเดียว
นอกจากการก่อเหตุอย่างอุกอาจ มุ่งทำลายเป้าหมายสำคัญระดับสถานีตำรวจในเขตอำเภอเมือง ทั้งๆ ที่ตำรวจคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน จึงเท่ากับเป็นการ "ตบหน้า" ฝ่ายความมั่นคงฉาดใหญ่แล้ว รูปแบบการวางและประกอบระเบิดของคนร้ายก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
แหล่งข่าวจากชุดเก็บกู้ทำลายล้างวัตถุระเบิด (อีโอดี) วิเคราะห์ว่า เหตุระเบิดทั้งสองจุดเป็นฝีมือคนร้ายกลุ่มเดียวกันอย่างแน่นอน และมีเป้าหมายสังหารหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยการขว้างระเบิดให้เกิดเหตุจุดแรกที่หน้าโรงพักนั้น ก็เพื่อล่อให้เจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนข้าราชการระดับสูงจากหน่วยอื่นๆ เข้าไปตรวจสอบ และตกเป็นเป้าสังหารหมู่ของคาร์บอมบ์ลูกที่สองที่คนร้ายนำมาวางเอาไว้
“เมื่อเจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุและผู้บังคับบัญชาชั้นผู้ใหญ่เข้าไป ก็ต้องนำรถไปจอดไว้บริเวณใกล้กับจุดที่คนร้ายจอดรถคาร์บอมบ์รอเอาไว้แล้ว เพราะจุดดังกล่าวเป็นที่จอดรถ ไม่สามารถนำรถเข้าไปจอดหน้าโรงพัก สภ.เมืองได้ทั้งหมด”
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ พบว่าคนร้ายใช้วงจรจุดระเบิด 2 วงจร คือวงจรแรกจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสารระบบ DTMF ซึ่งเป็นการจุดระเบิดที่หน่วยงานความมั่นคงเพียงบางหน่วยเท่านั้นที่มีอุปกรณ์ตัดสัญญาณ ส่วนวงจรที่สองคือการตั้งเวลาด้วยนาฬิกาดิจิตอล
“หลังจากคนร้ายปาระเบิดใส่ สภ.เมืองแล้ว เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด และชุดตรวจที่เกิดเหตุ รวมไปถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็เข้าไปตรวจสอบตามปกติ คนร้ายอยู่ในจุดที่มองเห็นได้ จึงจุดชนวนระเบิดคาร์บอมบ์โดยใช้วิทยุสื่อสาร แต่กดหลายครั้งระเบิดก็ไม่ทำงาน เนื่องจากชุดเก็บกู้ที่เข้ามามีอุปกรณ์ตัดสัญญาณวิทยุสื่อสาร ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดปลอดภัย"
"เมื่อไม่สามารถจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสารได้ คนร้ายจึงหลบหนีไป แต่สุดท้ายระเบิดก็ยังทำงานด้วยวงจรจุดระเบิดแบบตั้งเวลาซึ่งคนร้ายต่อซ้อนเอาไว้ในรถยนต์เก๋งที่ซุกระเบิดมา โดยตั้งเวลาเอาไว้ 1 ชั่วโมงเศษๆ"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้ทราบเป้าหมายของกลุ่มคนร้าย เนื่องจากพบชิ้นส่วนของวิทยุสื่อสาร และชิ้นส่วนนาฬิกาดิจิตอลที่คนร้ายใช้เป็นอุปกรณ์จุดระเบิด นอกจากนั้นยังพบหัวระเบิดของเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี 2 ลูกอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่คนร้ายนำมาใช้เพื่อขยายแรงระเบิด แต่ระเบิดทำงานไม่สมบูรณ์จึงทำให้หัวระเบิดอาร์พีจีกระเด็นออกมานอกรถ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นหัวระเบิดรุ่นเก่า ไม่มีใช้ในหน่วยงานความมั่นคงปัจจุปันแล้ว
คนร้ายใช้ระเบิดขว้างจึงเล็ดลอดด่านตรวจ
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เหตุระเบิด 2 จุดที่ อ.เมืองปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 21 เม.ย. จุดที่เกิดเหตุนั้นเคยเกิดมาแล้ว 5 ครั้ง หากวิเคราะห์สาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะคนร้ายมีโอกาสและจังหวะเหมาะที่สามารถก่อเหตุได้ ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามป้องกันทุกอย่าง
"ก่อนหน้านี้ก็มีการแจ้งเตือนมาว่า ให้ระวังการก่อเหตุโดยพุ่งเป้าสถานที่ราชการ โดยการแจ้งเตือนมีเข้ามาในวันที่ 20 เม.ย.จากนั้นวันที่ 21 เม.ย.ก็เกิดเหตุเลย วิธีการขว้างระเบิดที่คนร้ายใช้ ถือเป็นยุทธวิธีที่สามารถแก้ลำการตรวจอย่างเข็มงวดของเจ้าหน้าที่ได้ เพราะคนร้ายใช้มอเตอร์ไซค์ เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่วัตถุระเบิดก็เป็นขนาดเล็ก พกพาไปแล้วก็ขว้างได้เลย" พ.อ.บรรพต กล่าว
เปิดสถิติคาร์บอมบ์-วิทยุสื่อสารจุดชนวน
เหตุการณ์ลอบวางระเบิดแบบ "คาร์บอมบ์" นั้น เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วรวมครั้งล่าสุดที่ อ.เมืองปัตตานีด้วย 17 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2548 ที่ข้างโรงแรมมารีน่า อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
ส่วนวิธีจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสารระบบ DTMF นั้น คนร้ายใช้วิธีนี้เป็นครั้งที่ 36 โดยการจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสารครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2552 ในเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ทำให้นายทหารยศ "พันตรี" เสียชีวิต และในปี 2552 ใช้วิธีจุดระเบิดแบบนี้ 17 ครั้ง ปี 2553 จนถึงขณะนี้ จุดระเบิดด้วยวิธีนี้มาแล้ว 18 ครั้ง
แหล่งข่าวจากชุด อีโอดี ยังวิเคราะห์อีกว่า กลุ่มที่ก่อเหตุลอบวางระเบิดครั้งนี้นั้น น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ก่อเหตุในพื้นที่ จ.ยะลา เพราะยานพาหนะที่คนร้ายนำมาประกอบเป็นคาร์บอมบ์ เป็นยานพาหนะคล้ายคลึงกับที่คนร้ายที่ จ.ยะลา นิยมใช้ นอกจากนั้นยังได้ข้อมูลการข่าวว่า มียานพาหนะที่ได้รับการติดตั้งระเบิดเป็น "คาร์บอมบ์" อีก 2 คัน เชื่อว่าคนร้ายพุ่งเป้าก่อเหตุใน จ.ปัตตานี อีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเพิ่มความระมัดระวังและตั้งจุดตรวจจุดสกัดให้มากขึ้น
สภากาแฟชายแดนใต้วิจารณ์แซ่ด
ลองไปจับกระแสประชาชนในพื้นที่กันบ้าง ปรากฏว่าหลังเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่กลางเมืองปัตตานี บรรยากาศตามสภากาแฟในพื้นที่ต่างวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง
นายไฟศอล (สงวนนามสกุล) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองเห็นข้อสังเกตอยู่ 2 ประการ คือ 1.ทั่วทุกพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีกองกำลังทหาร ตำรวจเต็มไปหมดแทบทุกตรอกซอกซอย แม้แต่ในพื้นที่ป่าเขาก็ยังมี แต่เหตุใดคนร้ายยังสามารถนำวัตถุระเบิดเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่เขตเมืองได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์คนร้ายขว้างระเบิดใส่โรงพักปัตตานี ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
2.ในพื้นที่มีกล้องซีซีทีวี (กล้องโทรทัศน์วงจรปิด) เยอะมาก ซึ่งหลายเหตุการณ์ก็สามารถจับภาพคนร้ายได้ แต่หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กลับจับคนร้ายได้น้อยมาก น่าสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะคนร้ายได้พัฒนารูปแบบการก่อเหตุ หรือเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ทำงานอย่างจริงจังกันแน่
อดีต กอส.แนะฝ่ายมั่นคงวิเคราะห์จุดอ่อน
ด้าน นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี และอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้เพราะความชะล่าใจ เนื่องจากตำรวจคิดว่ามันไม่น่าจะเกิดได้ ทหารเองก็คุมพื้นที่อย่างเข้มงวด และตำรวจเองก็ไม่ได้ถูกโจมตีมานานมาก ฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานความมั่นคงจะต้องย้อนไปวิเคราะห์จุดอ่อนหรือช่องโหว่ว่าอยู่ตรงจุดไหน การทำงานประสานกันดีแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะการประสานกับทหาร
ส่วนวิธีการที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ ยังคงเป็นวิธีการรบแบบกองโจร ไม่มีรูปแบบชัดเจน เผลอเมื่อไหร่ก็จะรุกทันที หากโดนกระทำก็จะถอยออกไปตั้งหลัก วิธีการรบแบบนี้ไม่ต้องใช้กำลังมากมาย แค่ 1-2 คนก็ทำได้ คนหนึ่งก่อเหตุ คนหนึ่งดูต้นทาง ก็ก่อความรุนแรงได้แล้ว
"ผมคิดว่ารัฐควรมีวิธีจัดการที่ดีกว่านี้ และหยุดใช้ความรุนแรง เพราะจะทำให้ถูกต่อต้านมากขึ้น ประเทศไทยตอนนี้กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ กลับไปส่งเสริมให้คนใช้ความรุนแรง ทั้งที่กรุงเทพฯและภาคใต้ บางครั้งก็ไปยกย่องเชิดชูคนที่ใช้ความรุนแรง วิสามัญฆาตกรรม 22 ศพกลับได้เป็นวีรบุรุษ เหมือนมีการยุยงให้ใช้ความรุนแรง ใช้กำลังกันมากขึ้น ทำให้ความรุนแรงกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จนไม่สามารถแก้ปัญหาที่รากเหง้าได้ ผมอยากให้รัฐหาทางเลือกใหม่ด้วยการรับฟังประชาชนบ้าง ไม่ใช่บอกแต่ว่าตัวเองเดินถูกทางแล้ว" อัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าว
----------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบจุดเกิดเหตุคนร้ายปาระเบิด เอ็ม 67 ถล่มหน้าโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี
อ่านประกอบ : วันโลกถล่มของตำรวจปัตตานี บึ้มหน้าโรงพัก-คาร์บอมบ์ซ้ำดับ 1 เจ็บกว่าครึ่งร้อย