5 เครือข่ายอนุรักษ์วอน รบ.ทบทวนสร้างเขื่อนโขงบ้านกุ่ม-ค้านไซยะบุรี
5 เครือข่ายประชาสังคม เสนองานวิจัยเขื่อนแม่น้ำโขงทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น วิถีประมง ท่องเที่ยว ระบบนิเวศน์ ความมั่นคงอาหารริมโขง 7 จว.อีสาน วอน รบ.ทบทวนเขื่อนบ้านกุ่ม-ค้านเขื่อนไซยะบุรี
วันที่ 26 ก.ย.55 มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิไฮริคเบิร์น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขง จัดประชุม “เขื่อนแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและศักยภาพการปรับตัวของชุมชนแม่น้ำโขง” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี พร้อมทั้งออกแถลงการณ์เร่งให้รัฐบาลทบทวน ยุติการสร้างเขื่อน และฟังเสียงประชาชน โดยที่ประชุมมีความห่วงใยว่าหากเกิดเขื่อนบ้านกุ่มที่ประเทศไทยหรือเขื่อนไซยบุรีที่ประเทศลาว จะกระทบทั้งการประมง การเกษตร น้ำท่วม ปลาสูญพันธุ์ หาดทรายหาย วัชพืชไม่ตาย ดินเสียหาย ทรัพยากรสูญสิ้น คนริมโขงก็คงต้องอพยพไปหางานทำที่กรุงเทพฯ
นายชาญณรงค์ วงษ์ลา ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดอีสาน นำเสนองานวิจัยว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงล้วนพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขง คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 5 ล้านบาทต่อครัวเรือนต่อปี หากสร้างเขื่อนขึ้นมูลค่าหรือการพึ่งพิงแม่น้ำโขงก็จะสูญสิ้น เช่น เศรษฐกิจ ระบบนิเวศน์ การเกษตร พันธุ์ปลา การทำนาริมโขง การเลี้ยงปลาในกระชัง การท่องเที่ยว การค้าชายแดน
นายประดิษฐ์ จันทรชาลี ตัวแทนเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงอุบลราชธานี เสนองานวิจัยว่าระบบนิเวศย่อยในแม่น้ำโขงมีมากถึง 19 ระบบ เช่น ซ่ง คอน ดอน บุ่ง ล้วนสัมพันธ์กับคนและลักษณะการหาปลาที่แตกต่างกัน จากการสำรวจแบบสอบถาม 500 ชุด 5 หมู่บ้านพบว่ามีอาชีพประมงมากถึงร้อยละ 52 เป็นเงินหมุนเวียนในชุมชนถึง 9.6 ล้านบาท ยังไม่รวมรายได้จากการพึ่งพิงแม่น้ำโขงด้านอื่นๆ ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนในจีนประกอบกับภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไป พบว่าพันธุ์ปลาลดน้อยลง ระดับน้ำขึ้นลงแปรปรวน เชื่อว่าหากมีการสร้างเขื่อนเพิ่มเติมอี กระบบนิเวศรวมไปถึงรายได้ ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านจะหมดไป
นายสีคอนสิน ชาวกัมพูชา กล่าวว่ามีความสนใจในการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจึงได้เข้ามาร่วมประชุม แม่น้ำโขงเสมือนเป็นพ่อของเรา แม่น้ำที่กัมพูชาก็เหมือนแม่ วันนี้พ่อกับแม่เราเริ่มป่วย จะนิ่งดูดายอยู่ไม่ดไ ไม่ใช่เพียงคนไทยหรือกัมพูชา คนทั้งโลกควรร่วมกันลุกขึ้นมาช่วยกันรักษา
ทั้งนี้ที่ประชุม มีความห่วงใยว่าหากเกิดเขื่อนบ้านกุ่มที่ประเทศไทยหรือเขื่อนไซยบุรีที่ประเทศลาว จะกระทบทั้งการประมง การเกษตร น้ำท่วม ปลาสูญพันธุ์ หาดทรายหาย วัชพืชไม่ตาย ดินเสียหาย ทรัพยากรสูญสิ้น คนริมโขงก็คงต้องอพยพไปหางานทำที่กรุงเทพฯ พร้อมกันนี้ยังมีการร่วมกล่าวแถลงการณ์เร่งให้รัฐบาลทบทวน ยุติการสร้างเขื่อน และฟังเสียงประชาชน.
________________
ภาพประกอบจาก http://www.techtopo.com/tag/