สำรวจสื่อมุสลิมในบริบทไฟใต้…โอกาสท่ามกลางวิกฤติ
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในยุคสมัยแห่งสังคมข่าวสารที่ “สื่อ” มีวิวัฒนาการมากมายหลายรูปแบบ ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง สื่อทางเลือก รวมถึง “สื่อใหม่” หรือ New Media ที่กำลังมาแรง หากเรามองผ่านเรื่อง “รูปแบบ” และ “วิธีการสื่อสาร” เหล่านั้นไป และเพ่งมองไปที่ “จิตวิญญาณ” ของการทำสื่อแทน จะพบว่า “สื่อมุสลิม” ที่เกิดจากความตั้งใจของพี่น้องมุสลิมทั้งส่วนกลางและชายแดนใต้ได้เปิดตัวขึ้นมามากมายอย่างน่าจับตา
จะว่าไป “สื่อมุสลิม” ปรากฏตัวและมีที่ทางในสังคมไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว รูปธรรมที่เห็นชัดๆ ก็คือ “หนังสือพิมพ์ทางนำ” ที่ปัญญาชนมุสลิมกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันก่อตั้งและจัดทำเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ด้วยหวังให้เป็นกระบอกเสียงและสื่อกลางการนำเสนอข่าวสารของมุสลิมในประเทศไทย
แต่ “ทางนำ” ก็หยุดตัวเองลงในเวลาต่อมา และเพิ่งกลับมาเริ่มทำหน้าที่ใหม่อีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง
อย่างไรก็ดี จากจุดเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ทางนำ ได้เปรียบเสมือนโครงการนำร่องทำให้มุสลิมไทยลุกขึ้นมาผลิตสื่อกันอย่างครบวงจร ก่อให้เกิดสื่อมุสลิมแขนงอื่นๆ ตามมามากมาย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์
บรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ก็เช่น นิตยสารนิสาวาไรตี้ นิตยสารอันนาส นิตยสารมุสลิมสันติชน หนังสือพิมพ์พับลิกโพสต์ หนังสือพิมพ์กำปง หนังสือพิมพ์มุสลิมไทย ส่วนเว็บไซต์ก็มีทั้งรุ่นใหญ่อย่าง มุสลิมไทยดอทคอม และรุ่นใหม่ที่เปิดกันอีกมากมายหลายเว็บ รวมถึงเว็บไซต์ของสื่อสิ่งพิมพ์เองเพื่อขยายฐานผู้อ่านในโลกออนไลน์
ขณะที่รายการโทรทัศน์มักจะผลิตและออกอากาศกันในช่วงเดือนรอมฏอนของทุกๆ ปี เช่น รายการรอมฏอนไนท์ รายการทีวีรอมฏอน เป็นต้น บางสื่อก็ล้มหายตายจากไป บางสื่อก็ยังอยู่ยงมาจนทุกวันนี้
ที่น่าสนใจก็คือท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มานานกว่า 6 ปี ได้ก่อให้เกิด “คนทำสื่อ” และ “สื่อมุสลิม” ใหม่ๆ ขึ้นราวดอกเห็ด โดยเฉพาะเว็บไซต์และวิทยุชุมชนที่พยายามเปิดพื้นที่ข่าวสารจากชายแดนใต้กันอย่างคึกคัก ปรากฏการณ์ของสื่อมุสลิมดังกล่าวนี้คือประเด็นที่น่าคิดวิเคราะห์ไม่น้อยทีเดียวว่าเป็นเพราะอะไร และทิศทางของ “สื่อมุสลิม” จะเป็นอย่างไรต่อไป
โอกาสท่ามกลางวิกฤติ
รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มองว่า การผลิบานของสื่อมุสลิมนับเป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่ทำให้สังคมภายนอกได้รับรู้ข่าวสารจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในหลากหลายมุมมองมากขึ้น
“ความจริงคนทำสื่อหรือนักข่าวที่เป็นมุสลิมซึ่งเป็นคนในพื้นที่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ทำงานอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบก็เป็นโอกาสที่เอื้อและเป็นช่องว่างให้คนที่สนใจสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่ได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น บวกกับความต้องการเสพข่าวของสังคม จึงเกิดเว็บไซต์ วิทยุชุมชน และการสื่อสารชนิดอื่นตามกันมา ทั้งด้วยตัวเองและการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก ทำให้สื่อมุสลิมเติบโตขึ้น และเป็นปากเสียงให้กับผู้คนรวมถึงสะท้อนความเป็นไปในพื้นที่ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลจากหลากหลายความคิดและมุมมอง”
อย่างไรก็ดี การก่อเกิดจากสถานการณ์เฉพาะ เช่น ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจทำให้มองได้ว่าสื่อมุสลิมหลายแขนงที่เปิดตัวขึ้นมาเป็น “สื่อเฉพาะกิจ” และไม่สามารถยืนระยะได้ แต่ รศ.อิ่มจิต ชี้ว่า โอกาสของสื่อมุสลิมที่จะดำรงอยู่ได้ในระยะยาวขึ้นอยู่กับการตอบรับจาก “คนเสพข่าว” ฉะนั้นหากสื่อมุสลิมมีความน่าเชื่อถือ เที่ยงตรง และนำเสนอข้อมูลในทุกมิติด้วยความเข้าใจทั้งในแง่ของวัฒนธรรมและปรากฏการณ์จริง โดยเฉพาะการทำ “ข่าวเจาะ” และ “ข่าวเชิงสืบสวน” ก็ย่อมยืนระยะอยู่ได้อย่างแน่นอน
“หากสื่อทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจและมีความสมดุลรอบด้านด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ ทำให้เกิดความยุติธรรม ก็จะสามารถดำรงอยู่ได้ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร สิ่งนี้ไม่ใช่อุดมคติ แต่ต้องทำให้ปรากฏให้ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่คนทำสื่อมุสลิม แต่รวมถึงสื่อทุกสื่อและคนข่าวทุกคนต้องมีสิ่งนี้อยู่ในมโนสำนึก”
“แม้ช่วงหลังสังคมอาจจะชินชากับข่าวสารร้ายๆ จากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และสื่อหลักบางสื่ออาจมีพื้นที่ข่าวด้านนี้น้อยลง แต่คนทำสื่อในท้องถิ่นเองก็ยังมีความจำเป็น เพื่อสะท้อนความจริงในทุกช่วงเวลา ฉะนั้นหากสื่อมุสลิมเช่น สำนักข่าวอามาน ที่ในอนาคตอาจหมดสัญญากับแหล่งทุน แต่หากเป็นสื่อที่ดีมีสาระ องค์กรและหน่วยงานในพื้นที่ก็ควรสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป”
รศ.อิ่มจิต ยังเห็นว่า ปรากฏการณ์ผลิบานของสื่อมุสลิมที่เกิดขึ้นถือเป็นคลังความรู้อันมหาศาล เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้คลี่คลายและถอดรหัส จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภารกิจที่ไม่สิ้นสุด ไม่ใช่เหตุการณ์สงบแล้วก็หยุดนำเสนอ
ศักยภาพยังไม่เต็มร้อย
หันมาฟังเสียงจากคนทำสื่อบ้าง รอซิดี ปะดุกา บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์พับลิกโพสต์ ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ด้านสื่อและกราฟฟิกดีไซน์มาอย่างโชกโชน รวมทั้งเป็นหนึ่งในทีมงานหนังสือพิมพ์ทางนำมานับสิบปี กล่าวว่า ปัจจุบันสื่ออินเตอร์เน็ต หรือ "เว็บไซต์" น่าจะเป็นสื่อที่ผลิบานและมีศักยภาพในการนำเสนอข่าวได้ดีกว่าสื่อประเภทอื่น เนื่องจากเป็นสื่อที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ มีความรวดเร็วในการนำเสนอ และมีความเป็นอิสระสูงกว่าสื่ออื่นๆ
ในมุมมองของรอซิดี เขาเห็นว่าหากพิจารณาจากฐานที่เป็นจริงของการทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม จะต้องมีฐาน 4 ประการประกอบกัน คือ 1.ทุนในการผลิตสื่อ 2.ความเป็นมืออาชีพ 3.อุดมการณ์และจิตวิญญาณ 4.ความเป็นอิสระในการนำเสนอ
“เมื่อพิจารณาสื่อมุสลิมอย่างเจาะลึกจะพบว่า องค์กรสื่อมุสลิมมักจะขาดองค์ประกอบดังกล่าวไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง หรือหลายๆ ข้อ เช่น บางองค์กรมีทุนแต่ขาดความเป็นมืออาชีพและอุดมการณ์ บางองค์กรมีความเป็นมืออาชีพและอุดมการณ์แต่ขาดทุนในการบริหารจัดการ ดังนั้นจึงทำให้องค์กรสื่อมุสลิมส่วนมากไม่มีศักยภาพในการนำเสนอข่าวและเป็นกระบอกเสียงเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ตก็ตาม”
กับ “พับลิกโพสต์” แม้จะไม่ได้กำหนดที่ยืนว่าเป็นสื่อชายแดนใต้โดยตรง แต่ก็ให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้ในลำดับต้นๆ เสมอ
“เรามีพื้นที่ข่าวให้สถานการณ์ในภาคใต้ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ในทุกฉบับ โดยเน้นการนำเสนอข้อมูลจากพื้นที่ในรูปแบบของรายงานพิเศษ สัมภาษณ์ สกู๊ป และอื่นๆ”
ส่วนมุมมองในแง่ธุรกิจ ในห้วงที่เศรษฐกิจมีโอกาสดิ่งเหวอีกครั้ง รอซิดี บอกว่า ปัจจุบันสื่อกระแสหลักยังแทบเอาตัวไม่รอด สิ่งที่สื่อมุสลิมทำได้ก็คือ ต้องพัฒนาคุณภาพการนำเสนอให้เป็นมืออาชีพ ซึ่งจะเป็นทางรอดในสภาวะการณ์ที่เป็นอยู่
มุมมองธุรกิจควบคู่อุดมการณ์
บัญญัติ ทิพย์หมัด ผู้บริหารเว็บไซต์สำนักข่าวมุสลิมไทยดอทคอม (www.muslimthai.com) ซึ่งเป็นเว็บข่าวเว็บแรกๆ ของมุสลิมในประเทศไทย เปิดตัวมานานนับสิบปีภายใต้แนวคิด “มุสลิมไทยโยงใยมุสลิมโลก” เล่าให้ฟังว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักข่าวมุสลิมไทยได้เปิดพื้นที่มุมหนึ่งของเว็บไซต์ให้เป็นพื้นที่ของ “มุสลิมภาคใต้” เพื่อเกาะติดข่าวและรายงานสถานการณ์ต่างๆ ตลอดเวลา จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลจากผู้เข้าชมเว็บไซต์ว่า สำนักข่าวมุสลิมไทยสื่อสารข้อมูลเป็นความจริงมากกว่าเว็บไซต์อื่นๆ
“จะเห็นได้ว่าหากมีการนำเสนอข่าวในเว็บไซต์มุสลิมไทยแล้ว จะมีเสียงตอบรับจากผู้เข้าชมเว็บไซต์ค่อนข้างมาก โดยจะมีการโพสต์ข้อความทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่าง บางเรื่องที่เว็บไซต์มุสลิมไทยเสนอข่าวไปแล้ว ต่อมาก็จะมีผู้เข้าชมเว็บส่งอีเมล์มาทวงถามความคืบหน้าของแต่ละเหตุการณ์เป็นระยะๆ แสดงให้เห็นถึงการติดตามข่าวสารแบบเกาะติด”
บัญญัติ บอกต่อว่า เว็บไซต์มุสลิมไทยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ข่าวในเชิงบวกมากที่สุด โดยยึดหลักสมานฉันท์ของคนในชาติเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนั้นก็ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานเรื่องต่างๆ เช่น การขอรับบริจาค การช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมที่เดือดร้อนลำบาก เป็นต้น
เรื่องความเป็นเอกภาพของสื่อมุสลิมนั้น บัญญัติ มองว่า ดีในระดับหนึ่ง แต่ในเรื่องของศักยภาพยังต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงต่อไป
“ผมคิดว่าสื่อมุสลิมต้องทำงานในเชิงประสานความร่วมมือกันให้มากขึ้น ทั้งสื่อในพื้นที่กับนอกพื้นที่ โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกและบทวิเคราะห์ นอกจากนั้นยังอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเพื่อสร้างนักข่าวพลเมือง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรายงานข่าวในพื้นที่อ่อนไหวอย่างมาก”
กับวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน บัญญัติ เห็นว่า สื่อมุสลิมก็เหมือนสื่อทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนวิธีการ พยายามคิดนอกกรอบให้มากขึ้นเพื่อประคองตัวเองให้รอดพ้นจากวิกฤติ ส่วนเรื่องแหล่งทุนที่จะครอบงำสื่อ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก เพราะสื่อมุสลิมมีเอกลักษณ์ในการทำงานของตัวเอง และมีเรื่องของศาสนบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“การทำข่าวที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือสร้างเรื่องหลอกลวง ถือเป็นความผิดตามหลักการศาสนาอิสลาม ผมจึงคิดว่าด้วยปัจจัยทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม จะทำให้แหล่งทุนไม่สามารถเข้ามาครอบงำการนำเสนอข่าวของสื่อมุสลิมได้ และสื่อมุสลิมเองก็มีไม่มากนัก แทบจะรู้จักกันเกือบหมด ฉะนั้นใครทำอะไร อย่างไร ก็จะทราบที่ไปที่มากันอยู่แล้ว” บัญญัติ กล่าว
ในฐานะคนทำสื่อที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เขาฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำสื่อในกระแสอิสลามภิวัตน์ว่า ต้องมีแนวคิดด้านธุรกิจควบคู่กับอุดมการณ์
“คือนอกจากเรื่องอุดมการณ์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องอุปสงค์ อุปทานด้วย เพราะส่วนมากคนรุ่นใหม่จะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น โดยอาจจะละเลยไปว่าผู้บริโภคคือใคร ต้องการอะไร เหนืออื่นใด สื่อมุสลิมจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม”
ความเจ็บปวดของคนทำสื่อ
กว่าสิบปีเช่นเดียวกันที่ “นิสา วาไรตี้” นิตยสารสำหรับครอบครัวมุสลิมยืนหยัดฝ่าฟันหลากหลายกระแสมายืนอยู่แถวหน้าของวงการสื่อมุสลิม เพื่อเป็นตัวแทนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของพี่น้องมุสลิมและเพื่อนรอบโลกผ่านตัวหนังสือ
บีบี โซเรดา ฟินดี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “หนังสือพิมพ์ทางนำ” ซึ่งวันนี้นั่งเป็นบรรณาธิการบริหาร “นิสา วาไรตี้” มองว่า สถานการณ์ไฟใต้ที่เกิดขึ้นทำให้สื่อมุสลิมทุกแขนงพยายามทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับพื้นที่สื่อในภาพรวม
“จริงๆ แล้วในส่วนกลางมีองค์กรสื่อมุสลิมหลายองค์กรรวมตัวกันทำงาน แต่ไม่ค่อยมีการประสานงานกับสื่อมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้เท่าที่ควร ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะสื่อทางใต้ทำงานอย่างเป็นเอกเทศ และไม่ค่อยเชื่อมโยงกับสื่อส่วนกลาง”
ในโลกยุคทุนนิยม อุดมการณ์กับความเป็นจริงที่เจ็บปวดคือสิ่งที่ บีบี ได้สัมผัสด้วยตัวเอง...
“มุสลิมไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสื่อมุสลิม โดยเฉพาะผู้ที่มีสถานะทางสังคม ส่วนมากมักละเลยที่จะช่วยพยุงให้สื่อมุสลิมยืนหยัดอยู่ได้ จึงเห็นได้ว่าสื่อมุสลิมโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์กำลังล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ แม้บางกลุ่มจะพยายามเกิดขึ้นมาทดแทน แต่ตามสภาพแล้วสังคมมุสลิมละเลยที่จะช่วยกันดูแลสื่อ จึงไม่มีกระบอกเสียงเป็นของตัวเอง”
“สื่อมุสลิมเจ็บปวดเพราะอุดมการณ์กินไม่ได้ ถือเป็นความจริงที่ควรได้รับการเปิดเผย แต่ใครล่ะจะรับผิดชอบช่วยให้สื่อมุสลิมอยู่ได้ ทั้งๆ ที่เวลามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น สื่อคือทางออกและตัวช่วยที่ดี”
อย่างไรก็ดี บีบี ได้ฝากให้กำลังใจแก่คนรุ่นใหม่ที่มีไฟในการทำสื่อว่า ขอให้สู้ต่อไป และไม่จำเป็นต้องได้รับชัยชนะ ขอเพียงทำเท่าที่ตนเองทำได้ ส่วนชัยชนะหรือความสำเร็จบางครั้งไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเอง
“เราต้องมีศรัทธา มีความเชื่อมั่น ถ้าอยากเป็นสื่อมุสลิม จะถอยเมื่อหมดลมหายใจเท่านั้น นั่นคือนักสื่อสารมวลชนมุสลิมที่แท้จริง” บีบี กล่าว
เป็นคำฝากทิ้งท้ายที่อธิบายทุกอย่างได้ดีที่สุด!
------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สื่อมุสลิมที่ยืนหยัดท่ามกลางกระแสทุนนิยมและโลกาภิวัตน์
2 รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ (ภาพจากเว็บไซต์ "บูมีตานี" หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติของคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี)
3 หนังสือพิมพ์พับลิกโพสต์
4 โลโก้ของสำนักข่าวมุสลิมไทยดอทคอม
5 หน้าปกนิตยสาร นิสา วาไรตี้