เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกตั้งคำถาม...บทเรียนไฟใต้ถึงทางออกที่กรุงเทพฯ
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงกลางกรุงเทพฯในเหตุการณ์ 10 เมษาฯวิปโยค เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลประกาศยกระดับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงให้เป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ภายใต้บังคับของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็บังคับใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" อยู่แล้ว ทั้งในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล
เป็นการประกาศท่ามกลางคำถามว่า สถานการณ์ ณ วันที่ 7 เม.ย.2553 ฉุกเฉินกว่าการชุมนุมในห้วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาอย่างไร?
แต่สิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้เช่นกันก็คือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินย่อมเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐว่า ความรุนแรงที่ทุกฝ่ายหวั่นกลัวกำลังใกล้เป็นจริงมากขึ้นทุกขณะ
เพราะในมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุขอบเขตอำนาจของกฎหมายเอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะใช้กฎหมายความมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อ "...ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน..."
นั่นหมายถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความเข้มข้นกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ก็คือการประกาศเพิ่มดีกรีความรุนแรงโดยฝ่ายรัฐเองที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบว่าทำไปเพื่ออะไร
ยิ่งไปกว่านั้น หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่มีกรณีใดเลยที่ส่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การชุมนุมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมรวม 24 คนในอีก 2 วันถัดมา เพราะถึงวันนี้ก็ยังจับใครไม่ได้เลย หรือการพยายามสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ทว่าสุดท้ายก็เกิดการสูญเสียชีวิตขึ้น แม้แต่ฝ่ายทหารเอง
หรือกระทั่งการออกหมายเรียกให้บุคคล 51 คนที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ารายงานตัว ซึ่งก็มีบางส่วนเพิกเฉย ไม่นำพา และไม่กลัว
แต่รัฐบาลก็ดูจะไม่สนใจ และเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายต่อไป ภายใต้วาทกรรม "ก่อการร้าย" ที่ยิ่งหนุนเสริมให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด
ที่น่าวิตกก็คือ รัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วเกือบ 5 ปีเต็ม คือตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 และต่ออายุทุกๆ 3 เดือนมาแล้ว 19 ครั้ง ออกหมายเชิญตัวบุคคลไปแล้ว 3,935 หมาย (ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2552) แต่สถานการณ์ในภาคใต้ก็ยังไม่ใกล้เคียงกับความสงบ ยิ่งปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ดูจะยิ่งสร้างปัญหาตามมาไม่รู้จบ!
คำถามที่แหลมคม ณ วันนี้ก็คือ การใช้อำนาจลักษณะเดียวกันจากกฎหมายฉบับเดียวกัน ภายใต้ปัญหาที่มีรากฐานจากความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองคล้ายๆ กัน จะสำเร็จลงได้อย่างไร?
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มองว่า รัฐบาลต้องดูให้ออกว่าเบื้องลึกและเนื้อแท้จริงๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางการเมือง ฉะนั้นต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ใช่แก้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงด้านเดียว
"กฎหมายมีความร้ายแรงพอๆ กับอาวุธ ฉะนั้นการแก้ไขด้วยกฎหมายจึงไม่ได้ผล ยิ่งมีคนตายไปแล้ว การพยายามใช้กฎหมายจะยิ่งทำให้สถานการณ์หนักหนามากขึ้นไปอีก เท่ากับการราดน้ำมันลงบนกองไฟ รัฐบาลต้องยอมรับว่าถึงวันนี้รัฐบาลพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง ไม่ใช่ยิ่งเพิ่มความเข้มของการบังคับใช้กฎหมาย เพราะจะยิ่งสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความรุนแรง"
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ ชี้ว่า จริงๆ แล้วปัญหาภาคใต้กับปัญหาการชุมนุมในกรุงเทพฯขณะนี้มีความคล้ายคลึงกัน คือมีรากฐานของปัญหามาจากเรื่องการเมือง ซึ่งแก้ด้วยกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้
"ถ้าคิดกันอย่างนี้ ต่อไปสถานการณ์ในกรุงเทพฯจะเป็นเหมือนภาคใต้ คือทุกอย่างจะลงใต้ดินหมด อย่าลืมว่าภาคใต้แค่ 3 จังหวัดคุณยังแก้ไม่ได้เลย แล้วนี่ขยายไป 10 กว่าจังหวัดหรือ 20 จังหวัด คุณจะแก้ได้อย่างไร" พล.ท.ดร.พีระพงษ์ ตั้งคำถาม
เขาบอกด้วยว่า ทางออกที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดคือแก้การเมืองด้วยการเมือง รัฐบาลต้องเปิดการเจรจา รับฟัง และคลี่คลายปัญหาไปพร้อมๆ กันทุกมิติ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเหตุการณ์ในส่วนนั้นก็ต้องจัดการไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่รัฐพยายามใช้กฎหมายบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ หรือกล่าวหาอีกฝ่ายเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเกลียดชัง
รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เพิ่งบรรยายในหัวข้อ "สันติวิธีในสังคมไทย : การรับรู้และความเข้าใจ" ในหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 ที่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า แม้กฎหมายจะเป็นกลไกของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่การบังคับใช้กฎหมายกับคนจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสน ซึ่งอาจคิดเป็นแค่ 1% ของประชากรในประเทศ รัฐจะทำอะไรไม่ได้เลย
"ไม่ว่าจะกฎหมายความมั่นคงฯ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริงๆ มันใช้ไม่ได้กับคนจำนวนมากๆ"
รศ.ดร.มารค ยังบอกด้วยว่า สันติวิธีในแบบ Conflict Transformation คือการแปรเปลี่ยนรากเหง้าของความขัดแย้งเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุด แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ท้าทายสังคมไทย
"วิธีการนี้กำลังท้าทายคนในวงการสันติวิธีและสังคมไทย เราต้องขุดไปถึงรากของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นวิธีการที่ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อยากจ่ายต้นทุนสูง ใช้ความรุนแรงง่ายกว่า แต่มันไม่ยั่งยืนและจะสร้างปัญหาตามมา ฉะนั้นสังคมต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน โจทย์ของสังคมไทยวันนี้คือน่าจะเริ่มต้นยอมรับความจริง และเปลี่ยนในสิ่งที่ควรเปลี่ยนหรือไม่ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข"
สอดคล้องกับ ผศ.อับดุลเลาะ อับรู นักวิชาการจากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ที่มองว่า หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนเกิดความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้กลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังคงประท้วงอยู่ กลายเป็นเสื้อแดงคุมเกม แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยจากการใช้ พ.ร.ก.
คำถามกลับกลายไปอยู่ทางฝั่งรัฐบาลที่กำลังโยนความผิดจากปฏิบัติการเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ไปให้ "คนเสื้อดำ" หรือ "มือที่สาม"
"วิธีของรัฐคือพยายามทำให้ประชาชนมองว่าแดงไม่เกี่ยว รัฐไม่เกี่ยว รัฐดีหมด แดงดีหมด เพราะฉะนั้นต้องไปเอาผิดที่เสื้อดำหรือมือที่สาม แต่ก็บอกว่าเสื้อดำมีความสัมพันธ์กับแดง รัฐพยายามให้คนเกลียดดำและเกลียดแดง นี่คือการแย่งชิงมวลชน แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงเลยว่าการส่งทหารเข้าไป อะไรจะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ประวัติศาสตร์ก็บอกตลอดว่าการส่งทหารเข้าไปในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ผลจะเป็นอย่างไร"
ในความเห็นของ ผศ.อับดุลเลาะ เขามองว่ารัฐบาลมิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้
“ในครอบครัวของเรา เมื่อเกิดอะไรไม่ดี หัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบ เหมือนกับในระดับประเทศ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ แต่นี่รัฐบาลไม่เคยคิดที่จะรับผิดชอบอะไรเลย เมื่อรัฐบาลมองว่าไม่ใช่ความผิดของตน แต่เป็นความผิดของเสื้อดำ และดำก็ไปอยู่กินกับแดงด้วย จึงเหมือนเป็นการปัดความรับผิดชอบ แต่ลืมนึกไปว่าในภาวการณ์ฉุกเฉิน กติกาแบบนี้ รัฐบาลปล่อยทหารออกมา และได้มองข้ามในสิ่งที่ตัวเองทำ”
ผศ.อับดุลเลาะ ชี้ว่า ทางออกในขณะนี้ต้องใช้วิธีนอกตำรามาผ่าทางตัน
"หลายฝ่ายพยายามออกมาบอกว่าให้ทุกฝ่ายถอย ถามว่าใครจะถอย การเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเช่นนี้ ต้องลำดับความสำคัญของเรื่อง และแสดงให้เห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กลับส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงมาก ซึ่งรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ เราต้องมองวิกฤติเพื่อคลี่คลาย ไม่ใช่แก้ไขแบบปกติตามตำรา"
และทางออกนอกตำราก็คือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งไม่ใช่การยอมทำตามข้อเรียกร้องของ “คนเสื้อแดง” แต่เป็นการคลี่คลายวิกฤติเฉพาะหน้าให้ยุติลง
“ไม่ใช่ว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามเขา แต่เป็นความรับผิดชอบทางสังคม ฉะนั้นให้ลำดับเรื่องไปเลย เสนอเรื่องไปที่สภา ลำดับว่าอะไรก่อนอะไรหลัง น่าจะพอฟังได้ แดงก็คงจะฟังได้ สมมติว่านำประเด็นต่างๆ ไปพูดในสภา จะแก้กฎหมายบางมาตรา แก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แก้ให้เร็วที่สุด เสร็จแล้วยุบสภา แล้วค่อยไปจัดการเรืองอื่น อย่างนี้น่าจะพอไปได้ ไม่ใช่มาพูดว่าเลือกตั้งใหม่เดี๋ยวแดงมาอีก เดี๋ยวเหลืองออกมา นั่นมันเป็นเรื่องของอนาคต เพราะถ้าคิดแก้ทุกอย่างให้สงบมันต้องใช้เวลานานมาก สถานการณ์วิกฤติไม่มีทางที่จะเกิดสันติสุขเร็วๆ ได้ เมื่อประชาชนนับแสนมา เราต้องการให้เขากลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว จึงต้องหาทางออกตรงนี้ก่อน”
“เรื่องนี้เป็นปัญหาการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง คือให้สภาได้ทำงาน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายนั้น ปัญหามันมีตัวแปรเยอะจนทำให้กฎหมายใช้ไม่ได้ สังคมเองก็เรรวน ต้องยอมรับว่าทหารเองไม่อยากไปทำอย่างนั้น (การสลายการชุมนุมจนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวันที่ 10 เม.ย.) แต่มีกฎหมายไปบีบบังคับให้ทหารทำ เช่นเดียวกับเรื่องสองมาตรฐาน ฝ่ายรัฐบอกว่าไม่ใช่ แต่มันค้านสายตาคนดู”
“ปัญหาภาคใต้เล็กน้อยหากไปเทียบกับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่มันจะย้อนกลับมาที่ภาคใต้ การที่เสื้อแดงประท้วงที่กรุงเทพฯ ถ้าเกิดที่ปัตตานี แล้วอาศัยฐานคิดเช่นนี้มาเป็นประสบการณ์ สังคมประเทศไทยจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองเรามันถลำลึกจนเกิดความขัดแย้งทางจิตใจ ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหาก็อย่าไปยอกย้อน” ผศ.อับดุลเลาะ กล่าว
ถึงที่สุดแล้วการยึดหลัก “นิติรัฐ” ที่พูดๆ กันนั้น ไม่ควรมองกันแค่การบังคับให้ทุกอย่างในรัฐเป็นไปตามกฎหมาย แต่ต้องมองถึงเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเป็นธรรม อันหมายถึง “หลักนิติธรรม” ด้วย
เพราะทุกปัญหาไม่ใช่แก้ได้ด้วยกฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น...โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง!
--------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ
2 รศ.ดร.มารค ตามไท
3 ผศ.อับดุลเลาะ อับรู