เตือนคนกรุงเจอฝนตกหนักถึง 30 ก.ย. นี้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (26 ก.ย.) ที่ตึกสำนักงานนโยบายบริหารจัดการน้ำ (สบอช.) ทำเนียบรัฐบาล น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และนายพิพัฒน์ เรืองงาม ผอ.สบอช.ร่วมแถลงสถานการณ์น้ำว่า ในช่วงวันที่ 26-30 ก.ย.จะมีฝนตกหนักมากขึ้นและจะมากกว่าวันที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ เนื่องจากร่องมรุสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยประชาชนในพื้นที่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงาและกระบี่ ในพื้นที่ที่เป็นทางน้ำไหลระวังน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม
นอกจากนี้ ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศไต้หวันและประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 28 ก.ย.ให้ติดตามข่าวก่อนการเดินทาง เพราะพายุไต้ฝุ่นเจอลาวัตกำลังจะเคลื่อนตัวเข้าประเทศไต้หวันและพายุเอวิ เนียร์ กำลังจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น จึงต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ
ส่วนกรุงเทพมหานครจะมีปริมาณฝนตกมากขึ้น จึงอาจเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ที่น้ำไหลผ่าน โดยกทม.จะติดตั้งเรือผลักดันน้ำ เพื่อให้มีการระบายน้ำได้เร็วขึ้น แต่ยังคงมีขยะเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำและการระบายน้ำจากท่อลงไปยังคลอง ต่างๆ ทำได้ช้า เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ประสานกับกทม.เพื่อเร่งระบายน้ำ โดยการผันน้ำบางส่วนเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยฝั่งตะวันออก ระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองสอง ประตูน้ำคลองแสนแสบ ประตูน้ำคลองประเวศน์ ระบายน้ำผ่านอุโมงค์ระบายน้ำและสถานีสูบน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตก ระบายน้ำผ่านประตูน้ำคลองทวีวัฒนา คลองภาษีเจริญ คลองพระยาราชมนตรีเข้าสู่พื้นที่แก้มลิงสนามชัยและลงสู่อ่าวไทย และประสานกรมชลประทานเร่งระบายน้ำผ่านสถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ออกสู่แม่น้ำ เจ้าพระยา สถานีสูบน้ำกระทุ่มแบนออกสู่แม่น้ำท่าจีน สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง สถานีสูบน้ำคลองแสนแสบและสถานีสูบน้ำคลองประเวศน์ เพื่อระบายน้ำสู่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต สู่สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร (คลองด่าน) ลงสู่อ่าวไทย
ด้านนายพิพัฒน์กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักอยู่ในภาวะปกติ มีเพียงแม่น้ำยมที่มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งอยู่ 1.97 เมตร และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์มี 1,429 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของความจุลำน้ำและจะผ่านเข้าเขื่อนเจ้าพระยาที่ 1,453 ลบ.ม./วินาที เป็นครึ่งหนึ่งของความจุเช่นกัน จึงอยู่ในระดับที่ไม่มีปัญหาในลำน้ำสายหลัก
ส่วนระดับน้ำใน อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง 21 ซ.ม.และยังล้นตลิ่งอยู่ 44 ซ.ม.และกำลังเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำลดลง 16 ซ.ม.และยังล้นตลิ่งอยู่ที่ 1.36 ม. ทั้งนี้ กรมชลประทานลดการระบายน้ำจากเขื่อนขุนด่านฯ เพื่อให้แม่น้ำบางปะกงสามารถรับน้ำจากปราจีนบุรีได้มากขึ้น และได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่องไปยังพื้นที่ต่างๆ ใน จ.ปราจีนบุรีแล้ว