"ตุลาการ-ทหาร-เอ็นจีโอ" เห็นต่างกรณีคำสั่งศาลไต่สวนการตาย"สุไลมาน แนซา"
เดือนกันยายนที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป มีความคืบหน้าคดีสำคัญคดีหนึ่งที่เคยส่งผลสะเทือนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นก็คือ คดีการเสียชีวิตของ นายสุไลมาน แนซา ที่พบเป็นศพในลักษณะมีผ้าเช็ดตัวผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่างในห้องควบคุมตัวภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ศพของนายสุไลมาน ถูกพบเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 30 พ.ค.2553 โดยฝ่ายทหารยืนยันว่านายสุไลมานผูกคอตายเอง แต่ญาติและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายบางองค์กรไม่เชื่อ เพราะสงสัยว่านายสุไลมานอาจถูกทำร้ายจนตาย จึงมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมต่อเนื่องมา
การตายของนายสุไลมาน เข้าข่ายเป็น "การตายผิดธรรมชาติ" และยังตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานด้วย จึงต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "ไต่สวนการตาย" โดยศาลจังหวัดปัตตานี (ท้องที่ที่พบศพ) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 150 ทั้งนี้ นายเจะแว แนซา บิดาของนายสุไลมาน ได้ยื่นคำร้องคัดค้านในขั้นตอนไต่สวนชันสูตรพลิกศพด้วย
ศาลชี้ "ไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย"
ต่อมา วันที่ 21 ก.ย.2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ออกเอกสารใบแจ้งข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2555 เวลา 13.30 น.ศาลจังหวัดปัตตานีได้อ่านคำสั่งชันสูตรพลิกศพนายสุไลมาน แนซา โดยมีคำสั่งสรุปได้ว่า พยานเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุและตรวจชันสูตรศพเป็นพยานที่ผู้ร้องไม่รู้จัก และไม่มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อน ทั้งยังเป็นพยานเฉพาะทาง มีความเชี่ยวชาญ และไม่มีส่วนได้เสีย จึงน่าเชื่อถือ
ส่วนที่นายสือมัน (พยานฝ่ายผู้ร้องคัดค้าน) เบิกความว่าถูกทำร้าย และนายอับดุลกอเดร์ (พยานฝ่ายผู้ร้องคัดค้าน) เบิกความว่าตื่นและได้ยินเสียงทหารมาส่งผู้ตาย แต่จากการตรวจชันสูตรศพไม่พบผู้ตายถูกทำร้าย นายอับดุลกอเดร์ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าได้ยินเสียงโครมจากห้องนายสุไลมาน แต่ไม่ได้ให้การว่าเห็นทหารนำตัวนายสุไลมานไปส่ง คำเบิกความของนายอับดุลกอเดร์จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง
ส่วนที่มีเลือดออกมาจากทางรูทวารนนั้น แพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ให้การว่าหากมีของแข็งกระแทกต้องมีร่องรอยการถูกทำร้าย แต่ตรวจแล้วไม่พบร่องรอย หากเจ็บป่วยด้วยโรคเดิมอาจทำให้เลือดออกได้ จึงไม่อาจรับฟังแน่ชัดได้ พยานหลักฐานผู้ร้องคัดค้านไม่อาจหักล้างผู้ร้องได้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศพผู้ตายไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยการถูกทำร้าย ผู้ตายตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองจากการผูกคอด้วยผ้าเช็ดตัวกับเหล็กดัดหน้าต่างในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ถอนฟ้องคดีแพ่ง เหตุได้รับเยียวยา 7.5 ล้าน
เอกสารใบแจ้งข่าว ยังระบุด้วยว่า บิดามารดาของผู้ตายยังได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดปัตตานี เรียกค่าเสียหายจำนวน 2 ล้านบาทเศษจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมผู้ตาย
แต่เนื่องจากครอบครัวของผู้ตายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเงินจำนวน 7.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่พอใจต่อความเสียหายทางแพ่งแล้ว โดยได้รับเงินเยียวยางวดแรกจำนวน 3.5 ล้านบาท ดังนั้นโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ย้อนผลสะเทือนคดี "สุไลมาน" ถึงขั้นยุบศูนย์ซักถาม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเสียชีวิตอย่างมีข้อกังขาของนายสุไลมาน ทำให้ฝ่ายทหารถูกกดดันอย่างหนัก โดยเฉพาะ "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" (ศสฉ.) ซึ่งเป็น "ศูนย์ซักถาม" ใหญ่ที่สุดของฝ่ายทหาร
โดยหากย้อนความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จะพบว่า นายสุไลมาน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวมาเข้ากระบวนการซักถามตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2553 โดยนายสุไลมานมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านฮูแตมาแจ ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
เมื่อพบศพนายสุไลมาน เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2553 พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ในขณะนั้น) ได้อนุญาตให้บิดา ญาติ และบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจ เข้าไปยังห้องที่พบศพนายสุไลมาน พร้อมอนุญาตให้ร่วมสังเกตการณ์การชันสูตรศพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผู้แทน 3 ฝ่าย คือทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมถึงตัวแทนจากเอ็นจีโอเป็นสักขีพยานด้วย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ จากนั้น นายเจ๊ะแว บิดาของนายสุไลมาน ได้รับศพลูกชายกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาภายในวันเดียวกัน
ทว่าต่อมาได้มีการตั้งข้อสังเกตจากญาติผู้เสียชีวิตและเอ็นจีโอที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ถึงความไม่ชอบมาพากลกรณีการเสียชีวิตของนายสุไลมาน โดยเฉพาะร่องรอยบาดแผลบริเวณลำคอ และการที่ขาทั้งสองข้างของนายสุไลมานยังสัมผัสพื้น ไม่ได้ลอยอยู่เหนือพื้น โดยรายงานของเอ็นจีโอหลายองค์กรที่ร่วมสังเกตการณ์การชันสูตรศพ ซึ่งมีการเชิญแพทย์ไปชันสูตรซ้ำที่บ้านของบิดานายสุไลมานด้วย ระบุว่าศพคอหัก ซึ่งสวนทางกับผลการตรวจชันสูตรอย่างเป็นทางการของแพทย์โรงพยาบาลหนองจิก และ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ได้แถลงผลตรวจดีเอ็นเอว่าไม่พบว่ามีดีเอ็นเอของบุคคลอื่นภายในห้องควบคุมตัว และไม่พบร่องรอยการต่อสู้ ทั้งยังระบุว่าการผูกคอตายเองโดยที่ขายังติดพื้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ท่ามกลางความสับสน นายเจ๊ะแว บิดาของนายสุไลมาน ได้ยื่นเรื่องให้อนุกรรมการชายแดนใต้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมทั้งยื่นคำขอให้ศูนย์ทนายความมุสลิมช่วยเหลือเรื่องคดี
ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2553 ซึ่งเป็นวันต่อต้านการทรมานสากล เรียกร้องให้ปิด "ศูนย์ซักถาม" ซึ่งก็คือ "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" ภายในค่ายอิงคยุทธบริหารนั่นเอง โดยอ้างเหตุผลว่ามีข้อสงสัยเรื่องซ้อมทรมานและขังเดี่ยวผู้ต้องสงสัย
อย่างไรก็ดี พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) และ พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ในขณะนั้น) ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้กลุ่มเอ็นจีโออย่างเผ็ดร้อน โดยระบุว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับทหาร ทั้งๆ ที่ได้แสดงความโปร่งใสอย่างที่สุดทุกขั้นตอนตั้งแต่หลังพบศพนายสุไลมาน ส่วนข้อกล่าวหาเรื่อง "ขังเดี่ยว" นั้น พ.อ.ปิยวัฒน์ ชี้แจงว่าเรือนพักใน ศสฉ.ไม่ใช่ห้องขัง และสาเหตุที่ให้พักคนเดียวก็เพื่อความสะดวกสบาย โดยห้องพักทุกห้องไม่มีกุญแจหรือกลอนประตู
ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แถลงผลสอบสวนในเรื่องนี้ โดยระบุว่าพบความผิดปกติบางประการ และเสนอให้ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ปรับรูปแบบการทำงาน
หลังจากนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2554 ให้ยุบศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ โดยลดระดับลงมาเป็น "แผนกซักถาม" มีกำลังพลประจำแผนก 18 คน จากเดิมมีกำลังพลปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดถึง 98 คน
ทั้งนี้ แม้ในคำสั่งจะไม่ได้ระบุชัดถึงสาเหตุของการยุบศูนย์ฯ ว่าเกี่ยวข้องกับคดีนายสุไลมานหรือไม่ เนื่องจากระบุเพียงว่าเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายต่างๆ ต่อไป แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าการตัดสินใจยุบศูนย์ฯดังกล่าว มีน้ำหนักจากกรณีนายสุไลมานมากทีเดียว
เปิดใจอดีต ผอ.ศสฉ.-จี้องค์กรสิทธิฯทบทวนการทำงาน
แม้คำสั่งของศาลในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ จะไม่ใช่คำพิพากษาที่ชี้ถูกชี้ผิดในคดี และไม่มีผลผูกพันพนักงานสอบสวนในการทำความเห็นทางคดี รวมถึงพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 10 ความว่า "คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น"
ทว่าคำสั่งของศาลที่ระบุว่า "ศพผู้ตายไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยการถูกทำร้าย ผู้ตายตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองจากการผูกคอด้วยผ้าเช็ดตัวกับเหล็กดัดหน้าต่างในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่" ก็พออนุมานได้ในเบื้องต้นว่าเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวไม่ได้มีพฤติการณ์ทำร้ายร่างกายนายสุไลมานตามที่มีการสงสัยกัน ประเด็นนี้ทำให้ฝ่ายทหารได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณีถูกโจมตีอย่างกว้างขวางจากกลุ่มเอ็นจีโอและองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเสนาธิการหน่วยข่าวกรองทางทหาร กรมยุทธการทหารบก กล่าวว่า ผลการไต่สวนที่ออกมา แม้จะเป็นเพียงผลเบื้องต้น แต่ก็น่าจะอธิบายความจริงในกรณีการเสียชีวิตของนายสุไลมานได้ว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสียชีวิตตามที่กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนพยายามเคลื่อนไหวมาตลอด แสดงถึงความบริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งปัจจุบันถูกยุบศูนย์ฯไปแล้ว
"ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และกำลังพลของศูนย์ฯถูกกดดันต่างๆ นานาจากองค์กรสิทธิฯ ที่ต้องการให้ยุบศูนย์ฯ โดยพยายามให้ข้อมูลไปยังองค์กรต่างๆ ทั้งภายในประเทศและนานาชาติว่าทางศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ละเมิดสิทธิ์ มีการซ้อมทรมาน จนเกิดการเสียชีวิตของนายสุไลมาน กระทั่งสุดท้ายผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาสั่งยุบศูนย์ฯไป ทั้งๆ ที่ทางศูนย์ฯไม่เคยกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาเลย"
พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรณีของนายสุไลมานนั้น จริงๆ น่าจะจบตั้งแต่วันแรกที่เกิดการเสียชีวิต เพราะวันนั้นได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าไปร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจชันสูตรศพ แม้กระทั้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตและตัวแทนจากองค์กรสิทธิฯเองก็เข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอธิบายสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากอะไร ทางญาติผู้ตายและองค์กรสิทธิฯที่เข้ามาร่วมก็รับรู้เหมือนกันหมด กระทั่งได้บอกว่าไม่ติดใจเอาความ ขอนำศพกลับ แต่เมื่อนำศพกลับไปแล้วมาบอกว่ามีปัญหาและไม่เชื่อว่าเสียชีวิตเอง พยายามโยนความผิดให้เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่
"คำสั่งศาลที่ออกมาน่าจะอธิบายการเสียชีวิตของนายสุไลมานในเบื้องต้นได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำ" อดีต ผอ.ศสฉ.กล่าว และว่า ที่ผ่านมาตัวเขาเองและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการถูกกล่าวหา จึงอยากให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนในการทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนด้วย โดยเฉพาะการกล่าวหาหรือสร้างกระแสไปก่อนที่จะมีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม เพราะมิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง และเข้าทางกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ต้องการลดความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกวิถีทางด้วย
ทนายมุสลิมร้องเพิ่ม-อ้างคำสั่งศาลผิดระเบียบ!
กระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมชั้นก่อนฟ้อง ไม่ใช่การชี้ถูกชี้ผิด และคำสั่งของศาลก็ไม่ใช่คำพิพากษา โดยหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว ก็ยังมีขั้นตอนอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องไปอีกตามกฎหมาย
โดย ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 11 ก็ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า "เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป"
อย่างไรก็ดี ได้มีความเคลื่อนไหวของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เผยแพร่เอกสารใบแจ้งข่าว เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2555 อ้างถึงกรณีที่ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายนายสุไลมาน เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2555 ระบุว่าบิดาของผู้ตายร้องขอให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานและขอให้มีคำสั่งใหม่ เนื่องจากกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ
เนื้อหาในเอกสารใบแจ้งข่าว อธิบายว่า นายเจ๊ะแว แนซา ผู้ร้องคัดค้านซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายในคดีไต่สวนการตายของนายสุไลมาน โดย นายอนุกูล อาแวปูเตะ ทนายความผู้ร้องคัดค้าน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ให้ศาลทำการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีใหม่ และมีคำสั่งอย่างเป็นธรรมต่อไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2555 ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพนายสุไลมานว่า "ผู้ตายตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองจากการผูกคอด้วยผ้าเช็ดตัวกับเหล็กดัดหน้าต่างในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่" ซึ่งในคำสั่งยังระบุอีกว่า "พยานหลักฐานผู้ร้องคัดค้านไม่อาจหักล้างพยานผู้ร้องได้"
ผู้ร้องคัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการที่ศาลทำคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ตามมาตรา 150 ป.วิอาญา โดยการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานหักล้างกันระหว่างพยานที่พนักงานอัยการผู้ร้องนำสืบ กับพยานที่ผู้ร้องคัดค้านนำสืบนั้น ไม่ชอบด้วยหลักการพิจารณาคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายที่มีเจตนารมณ์มุ่งหมายให้คู่ความทุกฝ่ายนำพยานหลักฐานต่างๆ เข้าสืบเพื่อเสนอข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อศาล เพื่อศาลจักได้แสวงหาข้อเท็จจริงจนถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของผู้ตาย
แต่การรับฟังพยานหลักฐานของศาลในลักษณะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเช่นเดียวกับการพิจารณาคดีแบบกล่าวหาที่มีโจทก์-จำเลย นำพยานหลักฐานมาหักล้างทำลายน้ำหนักกันนั้น ทำให้กระบวนการพิจารณาและทำคำสั่งของศาลดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) มาตรา 27 ประกอบ ป.วิอาญา มาตรา 15 เพราะขัดกับเจตนารมณ์เรื่องการชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 อีกทั้งขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 40 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเดิม แล้วพิจารณาพยานหลักฐานและมีคำสั่งใหม่ด้วย
ผู้พิพากษาแจง ก.ม.เปิดช่องนำพยานหลักฐานสืบสองฝ่าย
แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ให้ความเห็นกับ "ทีมข่าวอิศรา" กรณีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 ว่า การพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน เป็นกระบวนการตามปกติ เมื่อ ป.วิอาญามาตรา 150 เปิดช่องให้ญาติผู้ตายมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้าน หรือซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ หรือนำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย ก็ชอบที่ศาลจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบ ซึ่งโดยนัยแล้วก็ต้องมีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานนั่นเอง
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรเลย รู้สึกแปลกใจที่มีการยื่นคำร้องลักษณะนี้ เพราะเท่าที่ทราบ คำสั่งศาลก็ไม่ได้สั่งนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด คือ 'ทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้' ถ้าศาลสั่งว่าผู้ตายผูกคอตายเองสิ อย่างนี้เท่ากับเป็นการปิดช่องไม่ให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทำความเห็นอย่างอื่นได้เลยนอกจากสั่งไม่ฟ้องเท่านั้น แต่นี่ก็เป็นการทำคำสั่งปกติว่าผู้ตายไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยการถูกทำร้าย ผู้ตายตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองจากการผูกคอด้วยผ้าเช็ดตัวกับเหล็กดัดหน้าต่าง ซึ่งหากคดีถูกฟ้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ก็อาจมีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบประกอบได้อีก" แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ระบุ
เปิดเนื้อหา ป.วิแพ่ง มาตรา 27
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 15 ป.วิอาญา และมาตรา 27 ป.วิแพ่ง ตามที่อ้างถึงในใบแจ้งข่าวของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม พบว่าเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อคัดค้านของคู่ความในคดีหากมีการปฏิบัติผิดระเบียบ ซึ่งเป็นกรณีทั่วไป ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา มาตรา 150
โดย ป.วิอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้"
ส่วน ป.วิแพ่ง มาตรา 27 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร
ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นๆ
ถ้าศาลสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใดๆ อันมิใช่เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาซึ่งกฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ เพียงเท่านี้ไม่เป็นการตัดสิทธิคู่ความฝ่ายนั้นในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้นๆ ใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ"
รู้จัก ป.วิอาญา มาตรา 150 ว่าด้วย "ไต่สวนการตาย"
กระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนั้น กฎหมายกำหนดให้มีขึ้นเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ตายและญาติผู้ตาย กรณีที่มีการตายโดยผิดธรรมชาติ หรือกรณีที่ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรณีหลังนั้น การไต่สวนการตายก็เพื่อให้พนักงานอัยการและศาลถ่วงดุลการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของหน่วยงานรัฐอื่นใด หรือให้ความช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกัน โดยเป็นกระบวนการก่อนที่พนักงานสอบสวนจะทำความเห็นทางคดี เพื่อส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง
การตายโดยผิดธรรมชาติ บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 148 ประกอบด้วย 1.ฆ่าตัวตาย 2.ถูกผู้อื่นทำให้ตาย 3.ถูกสัตว์ทำร้ายตาย 4.ตายโดยอุบัติเหตุ และ 5.ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
ส่วนกระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพเฉพาะในส่วนที่เป็นการตายจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรือระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 150 ตั้งแต่วรรค 3 เป็นต้นไป ดังนี้
"ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ
เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ
ในการไต่สวนตามวรรคห้า ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายตามลำดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ
เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบและนำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อการนี้ สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดีให้ศาลตั้งทนายความขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย
เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติมหรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้ และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่ง แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้นำสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น
เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป"
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 4 นายสุไลมาน แนซา ระหว่างถูกควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์
2 และ 5 เรือนพักของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร
3 พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช (ภาพทั้งหมดจากแฟ้มภาพอิศรา ถ่ายโดย สุเมธ ปานเพชร)