4 องค์กรตรวจสอบรับเป็น “เสือกระดาษ” แต่ช่วยแก้ปัญหาได้จริง
รักษาการผู้ว่าสตง.ฉะ กรณีพาสื่อไปยุโรป ต้องใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม ด้านปธ.สภาการน.ส.พ.หวัง พลังผู้บริโภคเปลี่ยนสื่อให้ดีขึ้นได้
วานนี้ (25 ก.ย.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจัดงาน “จริยธรรมสื่อยุคหลอมรวม” เป็นวันที่สอง มีวงสนทนากลุ่มเรื่อง “เขาหาว่าเราเป็นเสือกระดาษ” โดยมีประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นผู้ร่วมเสวนา
ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับที่ว่าเราเป็นเสือกระดาษ เพราะเราเรามีหน้าที่ตรวจสอบ แต่ไม่มีอำนาจลงโทษใคร ไม่มีอำนาจจับกุม วินิจฉัยว่าใครผิดหรือถูก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เราทำงานได้ง่าย และเต็มที่มากขึ้น ส่วนการหาทางออก เยียวยา หรือแก้ไขปัญหา เป็นหน้าที่ขององค์กรรัฐ ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เมื่อกรรมการสิทธิตรวจสอบคำร้องแล้วพบการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เราก็ต้องส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำหน้าที่ต่อ
ศ.ดร.อมรายังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่มีความเข้าใจถึงแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้อง สังคมไทยหรือเอเชียถูกสอนมาว่าคนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ทำให้สังคมยอมรับความไม่เท่าเทียมมาเนิ่นนาน ผู้ที่ละเมิดสิทธิคนอื่นมักเป็นผู้ที่มีอำนาจ มีพลัง แล้วเข้าใจผิดว่าไปละเมิดคนอื่นได้ จึงเคยชินกับการใช้อำนาจ ในขณะเดียวกันผู้ถูกละเมิดก็มักจะนึกว่าอย่างไรเสียก็ยากที่จะสู้ผู้กับมีอำนาจ จึงไม่กล้าต่อสู้ แต่ปัจจุบันสังคมมีความตระหนักรู้และเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้องมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากทำงานโดยไม่เข้าใจว่ามีแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ ดังนั้นหน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนคือการร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รณรงค์ให้ความรู้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่สังคม
ดร.ประวิชร รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน เกิดมาจากแนวคิดว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจ เพื่ออุดช่องโหว่ในการตรวจสอบของ 3 องค์กรหลัก อย่าง ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ เราถูกออกแบบมาให้มีความคล่องตัว เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม
ดร.ประวิชร กล่าวอีกว่า จุดประสงค์ข้อหนึ่งที่ออกแบบองค์กรลักษณะนี้มาก็คือไม่ต้องการให้มีอำนาจสุดท้าย คืออำนาจสั่งการให้ใครต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ถ้ามีอำนาจอย่างนั้น จะไม่เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา เพราะต้องอาศัยการไต่สวนที่ละเอียดรอบคอบเสียก่อน ซึ่งกระบวนการนี้อยู่ที่ศาลปกครอง แต่ก็มีข้อเสียคือกระบวนการนั้นใช้เวลามาก แต่องค์กรอิสระอย่างเราสามารถตรวจสอบแก้ไขปัญหาหลายอย่างได้ทันทีหลังได้รับแจ้ง ที่ผ่านมา กว่า 70 -80% ของปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจาพูดคุย
“ทุกวันนี้ระบบราชการมีสูตรสำเร็จ เวลาประชาชนไปติดต่อก็จะให้ถ่ายสำเนาบัตรประชาชนหน้า-หลัง ตอนนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือจนได้ข้อยุติแล้ว ว่าต่อไปให้ถ่ายสำเนาบัตรประชาชนด้านหน้าก็พอ เพราะข้อมูลด้านหลังบัตรประชาชนเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เราไม่ต้องการให้แก้ปัญหาเป็นกรณี ๆ แล้วก็จบไป แต่เราต้องการรวมรวมสภาพปัญหาที่ซ้ำ ๆ กัน แล้วนำเสนอต่อสภาหรือรัฐบาลเพื่อแก้กฎหมาย กฎกระทรวงต่าง ๆ เลย นี่คือการแก้ปัญหาเชิงระบบที่เราจะทำ” ดร.ประวิชร กล่าว
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า เรามิได้อยากเป็นเพียงเสือกระดาษ ในต่างประเทศ ถือว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็น Watch Dog หรือหมาเฝ้าบ้าน บทบาทของสตง. คือตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ว่าถูกต้องตามระเบียบการใช้จ่าย มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด และคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อตรวจพบเรื่องทุจริตแล้วจะส่งต่อให้พนักงานสอบสวน และจะทวงความเสียหาย โดยเรียกคืนเงินจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้จ่ายเงินผิดระเบียบ
ปี 2552 ที่ผ่านมา ตรวจพบความเสียหายจากการใช้จ่ายเงินแผ่นดินกว่า 40,000 ล้านบาท โดยยังเรียกคืนมาได้เพียง 20,000 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม สตง.หวังให้มีการแก้กฎหมายให้ สตง.ส่งเรื่องที่ตรวจสอบแล้วไปยังอัยการได้โดยตรงทันที แต่ความพยายามดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จ
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีการใช้จ่ายเงิน ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรพาสื่อมวลชนไปยุโรป ตนเห็นว่าถึงแม้จะบอกว่าพาสื่อมวลชนไป แต่ก็เป็นวิธีการใช้จ่ายเงินแบบหนึ่งที่ผู้ใช้ต้องการลดกระแส โดยคิดว่ามีสื่อมวลชนไปเป็นพยานเพื่อให้เห็นว่าไม่ได้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
“การใช้จ่ายเงินแผ่นดินทุกบาทต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ต้องมีการวัดผล การไปดูงานบางครั้งไม่ได้ผลอะไรกลับมาเลยก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาสาประชาชนมา บอกว่าตัวเองมีความสามารถอยากได้ตำแหน่งโน้นตำแหน่งนี้ แต่พอมาเข้าตำแหน่ง ก็ขอเวลาไปดูงานก่อน แสดงว่ายังศึกษาไม่จบ ทำไมต้องไปดูงานก็ไม่รู้ สิ่งเหล่านี้ สตง.ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ และสุดท้ายต้องเสนอแนะให้ฝ่ายบริหารที่มีอำนาจใช้จ่ายเงิน ต้องคำนึงถึงความประหยัด ความเหมาะสม และคุ้มค่า การใช้จ่ายเงินที่ไม่คุ้มค่าคือการทรยศต่อประชาชนเจ้าของเงินแผ่นดิน สตง.เราคาดหวังเป็นอย่างมากว่า คนที่เป็นผู้บริหารต้องมีความสำนึกว่า ภาระหน้าที่ของเขาคือการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชน”
จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็ไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมายที่จะไปจัดการขั้นเด็ดขาดหรือลงโทษใคร 15 ปีที่ผ่านมาของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ มาตรการลงโทษทางสังคมใช้ได้ผลเสียมากกว่า กระบวนการของเราคือถ้ามีใครร้องเรียนมา ก็ส่งให้ต้นสังกัดชี้แจงก่อน การตรวจสอบของเรามีทั้งด้านเอกสารและภาคสนาม โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะตรวจสอบโดยให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีคำวินิจฉัยออกไป หนังสือพิมพ์ที่ถูกเตือนก็ควรจะลงประกาศเตือนนั้นในหนังสือพิมพ์ของตัวเอง นี่คือกติการ่วมกัน
“คนที่มีอำนาจจริง ๆ ที่จะทำให้สื่อมีความรับผิดชอบ มีคุณภาพมากขึ้น คือผู้บริโภคข่าวสาร ที่ต้องทำให้สื่อเข้าใจว่า ภาพหรือข่าวบางอย่าง เช่นอาชญากรรมรุนแรงที่สื่อพยายามยัดเยียดให้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ทุกวันนี้คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะเบื่อหน่ายกับพาดหัวข่าวที่ไม่ตรงกับเนื้อข่าว หรือข่าวที่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น พลังผู้บริโภคสำคัญที่สุด ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าว
ในช่วงท้ายของการเสวนา ผู้ร่วมวงเสวนาทั้งหมดฝากถึงประชาชนให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบความไม่ถูกต้อง โดยการส่งเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส กรณีพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถร้องเรียนได้ที่ หมายเลข 1377 ส่วนร้องเรียนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่หมายเลข 1676 ร้องเรียนการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน โทร.0-2271-8000 และร้องเรียนสื่อได้กับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่ www.presscouncil.or.th