แนะรัฐ"ลดเงื่อนไข-เจรจา"หยุดวิกฤตินองเลือด
สมศักดิ์ หุ่นงาม / ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในสถานการณ์วิกฤติเข้าขั้นนองเลือดที่กรุงเทพฯ จากการปะทะกันระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง “ทีมข่าวอิศรา” สำรวจความเห็นนักวิชาการจาก 3 สถาบัน ได้แก่สถาบันพระปกเกล้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อร่วมเสนอทางออกหยุดยั้งมิคสัญญี
ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม กล่าวว่า เรื่องความรุนแรงเป็นสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็ระมัดระวัง ฝ่ายคนเสื้อแดงก็พยายามระมัดระวัง แต่เมื่อมันเกิดความสูญเสียขึ้นมาแล้ว ฝ่ายที่จะตกเป็นรองถ้ามองในแง่ของการต่อสู้กันก็คือฝ่ายรัฐ เพราะงานนี้ทุกคนบอกว่าต้องสันติวิธี
ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ความสับสนของข่าวสาร บางสื่อบอกว่าผู้ชุมนุมยิงใส่ทหารที่สี่แยกคอกวัว (ในเขตกรุงเทพฯชั้นใน) บางสื่อบอกว่ายิงมาจากข้างนอก แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือเหตุเกิดตอนค่ำจึงยากจะพิสูจน์ ถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ไปยึดพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุมตอนค่ำ แต่เมื่อเดินหน้าตั้งแต่บ่ายก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะประกาศไปแล้ว
"ทางออกเดียวที่เหลืออยู่คือต้องเจรจา ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่จะต้องเจรจา ถึงเวลานี้รัฐบาลกับทหาร รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยกันให้ดีว่าจะเอาอย่างไร เพราะความพยายามที่จะสลายการชุมนุมคงไม่สำเร็จแล้ว ขั้นต่อไปอาจจะต้องหาทางคุยกัน เช่น หากต้องทำตามข้อเรียกร้องเรื่องการยุบสภา จะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ มิฉะนั้นแล้วสิ่งที่หลายๆ คนหวั่นเกรงคือทหารออกมาคุมอำนาจจริงๆ ซึ่งหมายถึงการรัฐประหาร และมีโอกาสเกิดขึ้นได้"
"ทหารหลายคนบอกว่าการไม่ให้ทหารมีอาวุธ ทำให้ทหารตาย จึงอาจมีทหารบางกลุ่มที่คุมกำลังอยู่อาจจะออกมายึดอำนาจ ทำให้ประเทศไทยถอยหลังไปอีก และถึงจุดนั้นทหารจะใช้กระสุนจริง ความสูญเสียจะเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล"
ศ.นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ทำงานด้านสันติวิธี ได้แต่วิงวอนว่าจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ขอให้คิดว่านี่คือคนไทยด้วยกัน ทางออกที่น่าจะดำเนินการโดยด่วนคือพยายามเจรจา แต่เงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีออกไปจากประเทศดูจะสุดโต่งเกินไป (เงื่อนไขล่าสุดของแกนนำเสื้อแดง) ถึงวันนี้ต้องลดอารมณ์ความร้อนแรงลงมา และต้องพยายามเจรจาให้ได้ โดยให้ทหารตรึงสถานการณ์เอาไว้ และหาช่องทางเจรจา
“สุริชัย”แนะรัฐบาล “ลดเงื่อนไข-ยุบสภา”
รศ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหยุดยั้ง และทำให้ทุกอย่างคลี่คลายลง โดยต้องตระหนักว่าเรื่องอารมณ์จะแก้ด้วยอารมณ์ไม่ได้ ฉะนั้นต้องทำให้อารมณ์เย็นลงก่อน
“มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ปัญหาจะจบลงด้วยการฆ่ากัน สภาพการณ์แบบนี้ไม่มีทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่จะยิ่งขยายความเกลียดชัง ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือการสื่อสารด้วยข้อมูลทางเดียว ด้านเดียว จึงขอให้สังคมช่วยกันตั้งสติ”
รศ.สุริชัย เสนอว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ในฐานะที่รัฐบาลเป็นฝ่ายที่มีความพร้อมเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่า และมีกลไกที่สามารถหยุดยั้งสถานการณ์ได้หลายระดับ จะต้องเป็นฝ่ายลดเงื่อนไข หรือยื่นเงื่อนไขที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ข้อเรียกร้องของฝ่ายคนเสื้อแดงเรื่องการยุบสภา รัฐบาลอาจจะต้องหยิบมาพิจารณาและลดเงื่อนไขลงเพื่อหยุดสถานการณ์เลวร้ายเอาไว้ก่อน ส่วนการแก้ไขปัญหาในขั้นต่อไปค่อยคิดอ่านกันอีกที
“ผมเห็นว่ารัฐบาลต้องถอยก่อน ต้องเป็นฝ่ายลดเงื่อนไข อาจจะต้องตัดสินใจยุบสภาเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายต่อไป และแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ก็ยังสามารถดูแลสถานการณ์ต่อไปได้ สิ่งสำคัญคือจะต้องสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กระจ่าง โปร่งใส ข้อมูลเหล่านี้ไม่อาจปิดลับได้ ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลแสดงความจริงใจและเป็นธรรม ก็จะประคับประคองสถานการณ์และทำความจริงให้ปรากฏได้แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ก็ตาม” นักวิชาการจากจุฬาฯ กล่าว
รัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานีจี้ทำประชามติ รธน.ก่อนยุบ
ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ พร้อมด้วย ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และ ดร.สามารถ ทองเฝือ รองคณบดีฝ่ายกิจการการนักศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยชูคำขวัญว่า “การเมืองหลากสี เคารพวิถีความต่าง อดทนบนเส้นทางความขัดแย้ง”
ผศ.ดร.ศรีสมภพ อ่านแถลงการณ์ก่อนจะเกิดเหตุจลาจลที่กรุงเทพฯในวันเดียวกันว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุ โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมไปยังพื้นที่สำคัญในกรุงเทพมหานครหลายจุดเพื่อกดดันให้ยุบสภา และรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง สถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้สร้างแรงกดดันให้แก่สังคมไทย โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงว่าอาจจะนำไปสู่การปะทะเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงทางตรงไม่ว่าจากรัฐบาลหรือผู้ร่วมชุมนุมเอง
คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ จึงขอแถลงประเด็นและท่าทีทางการเมืองดังต่อไปนี้
1.เรามีความเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเดินหน้าจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 เพื่อแก้ไขกติกาทางการเมืองให้มีความชอบธรรมและตรงตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งนี้ไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยการแก้ไขปัญหาทางด้านเทคนิคทางการเมือง อาทิ การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เท่านั้น หากแต่ต้องรื้อทวนทิศทางการพัฒนา แนวทางการบริหารประเทศทั้งหมดที่ผ่านมา และมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด
2.ในฐานะที่เป็นสถาบันซึ่งทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีความเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่คนในสังคมไทยกำลังเรียนรู้ช่องทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลากหลาย เป็นก้าวหนึ่งของการแสดงออกถึงความคิดเห็น สิทธิ เสรีภาพทางการเมือง โดยอยู่บนฐานของความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง
สถานการณ์ความขัดแย้งที่ปรากฏขึ้นในเมืองหลวงขณะนี้มีจุดร่วมเดียวกันกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “อคติ” ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำภายใต้สีเสื้อที่ต่างสี ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง “อคติ” นี้จะกลายเป็นเงื่อนไขของสงครามและความรู้สึกแง่ลบระหว่างมวลชนที่ยืดเยื้อ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยั้งการสร้างอคติต่อกัน อันจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายสังคมไทยต่อไปในระยะยาว
3.ขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายในสังคมอดทนต่อความขัดแย้งและหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองในห้วงเวลานี้
4.เราเห็นด้วยว่าการยุบสภาเป็นทางหนึ่งที่จำเป็นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ หากแต่จะต้องรวมถึงการแก้ไขกติกาทางการเมืองเพื่อปูทางให้แก่การพัฒนาการเมืองและการบริหารประเทศโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนเพื่อแก้ไขกติกาทางการเมืองให้มีความชอบธรรมและตรงตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศด้วย ทั้งนี้การเสนอความคิดเห็นเชิงนโยบายจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะที่เกื้อกูล ทุกฝ่ายทุกกลุ่มต้องมีสิทธิโดยเสรีและเป็นธรรมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสันติและไม่ถูกคุกคามในทุกเวลา สถานที่
5.ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยเข้มแข็ง ผ่านวิกฤติของความขัดแย้งนี้ไปได้โดยไม่ด่วนปฏิเสธ เบื่อหน่าย หรือเกลียดชังการเมืองไปเสียก่อน ข้อเรียกร้องของเราก็คือ “เจรจาแก้ปัญหา ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และทบทวนปัญหาเชิงโครงสร้าง” บนพื้นฐานคำขวัญที่ว่า “การเมืองหลากสี เคารพวิถีความต่าง อดทนบนเส้นทางความขัดแย้ง”
“เราเห็นว่าควรจะมีการเจรจารอบที่สาม อย่างน้อยส่วนหนึ่งการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง หรือความเคลื่อนไหวที่เป็นการท้าทายและการปะทะกันที่เกิดขึ้นในตอนนี้จะต้องหยุด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงถือว่าเป็นปัญหาส่วนหนึ่งในแง่ของการท้าทายหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
-----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สัญลักษณ์ "หยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ความรุนแรง" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ใช้รณรงค์เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนี้
2 ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า (ขอบคุณภาพจากบล็อคโอเคเนชั่น)
3 รศ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4 คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ขณะแถลงข่าวเสนอทางออกแก้วิกฤติการเมืองก่อนเกิดจลาจลในกรุงเทพฯเพียงไม่กี่ชั่วโมง