เศรษฐกิจไทยปี 55 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุทกภัยอย่างรวดเร็ว
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2555 และ 2556
“เศรษฐกิจไทยปี 2555 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุทกภัยอย่างรวดเร็ว
และคาดว่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2556”
_______________________________
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกันยายน 2555 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.3 – 5.8) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามปัญหาข้อจำกัดในภาคการผลิตที่เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับอุปสงค์ภาคเอกชน ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่สามารถฟื้นกลับสู่ระดับก่อนอุทกภัยได้แล้ว
นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐ เช่น การเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ การรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก และการทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอและผันผวนสูงจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 3.5) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลง ประกอบกับผลจากแนวทางการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกของภาครัฐ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2556 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.7 – 5.7) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ อันมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบิกจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 2556
ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยง แต่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง ภายหลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยไปมากแล้วในปีก่อน
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0
– 4.0) ตามอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชีย
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่างไรก็ตาม ในการประมาณการเศรษฐกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่จะเป็นไปได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะเป็นไปตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย”
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2555 และ 2556
1. เศรษฐกิจไทยในปี 2555
1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.3 – 5.8) เป็นการฟื้นตัวเร่งขึ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เนื่องจากปัญหาข้อจำกัดในภาคการผลิตที่สืบเนื่องจากอุทกภัยเริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง จากการที่โรงงานอุตสาหกรรมสามารถกลับมาทำการผลิตได้และมีการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อที่ยังค้างอยู่ประกอบกับอุปสงค์ภาคเอกชนที่สามารถฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและกลับสู่ระดับก่อนอุทกภัยได้แล้ว โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.6 – 14.6) เร่งขึ้นตามแผนขยายการลงทุนของผู้ประกอบการเพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่ยังมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้ดี ประกอบกับความจำเป็นของผู้ประกอบการภาคธุรกิจในการเร่งลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายของอาคารบ้านเรือนและซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมจากภาวะอุทกภัยซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนที่ยังขยายตัวได้
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.0 – 5.5) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มรายได้ของประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีตามปริมาณผลผลิตที่ขยายตัว และราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะยังได้ประโยชน์จากมาตรการแทรกแซงราคาของภาครัฐ
ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มที่ดีเช่นกันตามการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 –3.3) และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.6 – 8.6) ตามการใช้จ่ายในโครงการภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาทิ การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และ มาตรการในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่เริ่มทยอยลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการภาครัฐดังกล่าวจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะชะลอลงมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 – 4.2) ตามอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะลดลง จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอและผันผวนสูงจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ขยายวงกว้างและมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเอเชียยังคงมีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การส่งออกด้านบริการคาดว่าจะขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะเร่งตัวสูงกว่าการส่งออก โดยจะขยายตัวร้อยละ 6.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.1 – 7.1) ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่เร่งตัวภายหลังอุทกภัย ประกอบกับความต้องการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายของภาคการผลิตจากเหตุการณ์อุทกภัย
1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 3.5) ลดลงจากปีก่อนหน้า จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลงตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ประกอบกับผลจากแนวทางการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกของภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของการชะลอการกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปเป็นช่วงต้นปี 2556 เพื่อดูแลราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 – 0.7 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลที่ 2.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.3 ถึง 0.8 ของ GDP) เนื่องจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่คาดว่าจะขาดดุลค่อนข้างมาก ตามรายจ่ายค่าระวางสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากจากการนำเข้าสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัว ประกอบกับดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.1 – 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออกโดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 10.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.0 – 11.0) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 – 5.0)
2. เศรษฐกิจไทยในปี 2556
2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 5.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.7 – 5.7) ซึ่งจะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ โดยการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 16.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 15.9 – 17.9) อันมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งรายจ่ายงบประมาณและรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 2556 ขณะที่การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 – 3.7) ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2556 ที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยง แต่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2556 คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับการขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.3 – 8.3) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.4 – 6.4) อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลงกลับสู่ระดับการขยายตัวปกติภายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้เร่งลงทุนเพื่อฟื้นฟูไปมากแล้วในช่วงปีก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการบริโภคที่อั้นมาจากช่วงอุทกภัยได้รับการตอบสนองไปแล้ว โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.5) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.0 – 11.0)
2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจเสถียรภาพภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 4.0) ตามอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 – 0.7 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลเล็กน้อยที่ 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0 – 1.0 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 5.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.0 –6.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 11.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.0 – 12.0) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.5 – 11.5)
_______________________________________
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง