ถอดบทเรียนบึ้มใต้...เชื่อมโยง ตปท.-ระวังพัฒนาระเบิดแบบจรวด!
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุระเบิดรูปแบบต่างๆ ทั้งการลอบวางแบบปกติ หรือการประกอบกับยานพาหนะเป็นมอเตอร์ไซค์บอมบ์และคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายปีในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถือเป็นกรณีศึกษาอันสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางสกัดการก่อเหตุรุนแรงโดยใช้ระเบิด ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีการสัมมนาเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และมีบางหน่วยที่ปฏิบัติงานอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถอดบทเรียนเกี่ยวกับ "ระเบิด" เอาไว้อย่างน่าสนใจ
รายงานของหน่วยปฏิบัติดังกล่าวสรุปข้อมูลเอาไว้อย่างรอบด้านทั้งรูปแบบของระเบิด วิธีการประกอบ ที่มาของอุปกรณ์และวัตถุระเบิดที่สำคัญ การพัฒนากลยุทธ์ ความเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ แนวทางแก้ไข และข้อพึงระวังเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อความไม่สงบพัฒนารูปแบบระเบิดจนยากแก่การควบคุม
1.รูปแบบระเบิด
ระเบิดที่ใช้ก่อเหตุส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระเบิดทำเอง มีการพัฒนาอานุภาพจากน้อยไปถึงมาก แบ่งได้หยาบๆ คือ
- ระเบิดภาชนะสำเร็จรูป เช่น กระป๋องเบียร์ กล่องพลาสติก
- ระเบิดภาชนะดัดแปลง อาทิ ถังดับเพลิง กล่องเหล็ก ท่อพีวีซี
- ระเบิดดัดแปลงใส่ในรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ ในลักษณะ bomb in car
- ระเบิดขว้าง ซึ่งมีหลายรูปแบบ
นอกจากนั้น ระเบิดที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีระบบควบคุมการจุดชนวนระเบิดหลายแบบเช่นกัน ได้แก่ การลากสายไฟบังคับจุด (แบตเตอรี่), รีโมทคอนโทรลรถยนต์, ตั้งเวลาด้วยนาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอล, กลไกผสมวงจรไฟฟ้า (ระเบิดขว้าง), วงจรถอดรหัสความถี่ (DTMF) โดยใช้วิทยุสื่อสารเป็นสื่อกลาง, การใช้กับระเบิด ทั้งแบบเหยียบ แบบเคลื่อน ใช้หลักกด-เลิกกด ดึง-เลิกดึง
2.การประกอบระเบิด
การเตรียมอุปกรณ์ประกอบระเบิด มีการแบ่งหน้าที่กันจัดทำ เช่น การทำภาชนะ การต่อวงจรจุดชนวน การเตรียมเชื้อปะทุกับดินขยาย และการเตรียมสะเก็ดระเบิด ทั้งนี้ ทีมที่ประกอบชิ้นส่วนสำคัญถูกฝึกมาจากต่างประเทศ ส่วนทีมในพื้นที่ถูกฝึกต่อจากกลุ่มบุคคลเหล่านั้น
3.อุปกรณ์และวัตถุระเบิดที่สำคัญ
- เพาเวอร์เจลที่ใช้ส่วนใหญ่ไม่ใช่ยี่ห้อที่ใช้ในประเทศไทย จึงเชื่อว่ามีการลักลอบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน มียี่ห้อ Emulex, Dyno, Orica และจากอินเดีย ยี่ห้อ Superpower กับ Dynex โดยมีข้อมูลว่านำเข้ามาทาง อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา
- เชื้อปะทุสำเร็จรูปเป็นชนิดที่ไม่มีใช้ในประเทศไทย แต่บางครั้งอาจผลิตขึ้นเอง
- ฝักแคระเบิดที่นำมาใช้เป็นของจากประเทศเพื่อนบ้าน มีสีเขียวและสีชมพู
- วัตถุระเบิดซีโฟร์ บางส่วนไม่มีในประเทศไทย
- พบวัตถุระเบิด "ทีเอ็นที" ที่ใช้ในราชการของฝ่ายความมั่นคง
- พบวัตถุระเบิด Semtex ในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
- พบวัตถุระเบิด Tetryl ซึ่งอาจมีการเตรียมการพัฒนาระเบิดในรูปแบบจรวด
- รีโมทที่ใช้จุดระเบิด นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
4.การพัฒนากลยุทธ์ในการก่อเหตุระเบิด
มีการพัฒนากลยุทธ์จากการวางระเบิดแบบธรรมดา เป็นกลยุทธ์ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การวางระเบิดพร้อมกันหลายจุด, การทำ Second Bomb (ระเบิดลูกที่ 2), การสร้างสถานการณ์หลอก, การลวงด้วยกับดัก, การเปลี่ยนเป้าหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นมวลชน และการลวงเจ้าหน้าที่กู้ระเบิด เช่น เหตุระเบิดที่ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2552 ช่วงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พร้อมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นต้น
5.ความเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ
มีข้อสังเกตหลายประการ กล่าวคือ
- มีการส่งคนไปฝึกที่ต่างประเทศ เช่น นายนัสรีย์ มือรี มือระเบิดคนสำคัญ
- พบการลำเลียงเพาเวอร์เจลผ่านแนวชายแดน 3 จุด คือ อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา
- พบคนไทยใช้พื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านฝึกคนเพื่อส่งเข้ามาก่อเหตุในประเทศไทย
- พบฝักแคระเบิดที่ใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน ซุกซ่อนในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2551 และพบฝักแคระเบิดของประเทศเพื่อนบ้านยาว 81 ฟุต ซุกซ่อนในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา
- รีโมทคอนโทรลจุดชนวนระเบิดจำนวนมากที่พบในแหล่งผลิตระเบิดซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ ถูกผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน
- พบแหล่งผลิตอุปกรณ์และวัตถุระเบิดซึ่งเป็นวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน
- พบเพาเวอร์เจลยี่ห้อ Superpower ของอินเดียถูกนำมาใช้ก่อเหตุในพื้นที่สามจังหวัด แต่ยังไม่ทราบเส้นทางนำเข้า
- พบสารระเบิด Semtex ถูกนำมาใช้ในพื้นที่สามจังหวัด ซึ่งสารชนิดนี้มักพบในการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง กลุ่มไออาร์เอ และประเทศเพื่อนบ้าน
6.แนวทางในการแก้ไขปัญหา
- การก่อเหตุร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรูปแบบที่เรียกว่า Serial Crime (อาชญากรรมต่อเนื่อง) โดยมีการก่อเหตุต่อเนื่องหลายรูปแบบ และมีลักษณะเป็นอาชญากรรมซับซ้อน Organized Crime (อาชญากรรมลักษณะองค์กร) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน และการค้าแรงงานเถื่อน จึงควรใช้นโยบายการสืบสวนสอบสวนขยายผลในรูปแบบเดียวกับการดำเนินคดียาเสพติดที่มุ่งเน้นการพิสูจน์ทราบเครือข่ายใหญ่และผู้สั่งการ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า Strategic Investigation and Prosecution
- เน้นการควบคุมเหตุระเบิดโดยกำหนดนโยบายให้ทุกหน่วยดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ควบคุมการประกอบระเบิด, ควบคุมการจำหน่ายอุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการประกอบระเบิด เช่น วิทยุไอคอม โทรศัพท์มือถือ วงจรอิเล็คทรอนิกส์, ควบคุมการใช้วัตถุระเบิด เช่น เพาเวอร์เจล รวมทั้งพิสูจน์ทราบและดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับการประกอบระเบิดทุกขั้นตอน
- พิสูจน์ทราบการสนับสนุนทางการเงิน เช่น การค้ายาเสพติด การทำธุรกิจผิดกฎหมาย เงินจากสถานศึกษา
- ควบคุมการเดินทางผ่านชายแดนของกลุ่มผู้ก่อเหตุ และการนำวัตถุระเบิด อุปกรณ์ประกอบระเบิด ระเบิดที่ประกอบพร้อมใช้เข้ามาก่อเหตุ
- ควรกำหนดให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานอย่างมีเอกภาพ ควรเก็บรวบรวมพยานหลักฐานอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการตรวจสารพันธุกรรม เพื่อพิสูจน์ความเชื่อมโยงของผู้เกี่ยวข้อง และควรนำผลการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์เข้าสู่สำนวนเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินคดี
---------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- 5 ปีไฟใต้ (2)...รู้ทันระเบิดแสวงเครื่อง และแนวโน้มบึ้มปี 52
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4344&Itemid=86
- คาร์บอมบ์โก-ลก...ระเบิดซ้ำธรรมดาหรือพัฒนาวิทยายุทธ์
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4006&Itemid=86