เพราะวิสามัญฯไม่ใช่ผลงาน…อย่าปล่อยให้เกิดการฆาตกรรมโดยผู้ถือกฎหมาย!
ปรัชญา โต๊ะอิแต / แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
การเปิดประเด็น “วิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่ผลงาน” ในบทบรรณาธิการของ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ท่ามกลางกระแส “วีรบุรุษ” ที่กำลังฮือฮาอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นอีกหนึ่งปมปัญหาที่ต้องหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญ เพื่อย้ำเตือนถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าต้องเข้าใจและยึดกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
เพื่อป้องกันมิให้การ “วิสามัญฆาตกรรม” ซึ่งทำให้เกิดการตายโดยผิดธรรมชาติ และเป็นกรณี “ยกเว้น” ตามกฎหมาย กลายเป็นกรณี “ทั่วไป” และสุดท้ายอาจพัฒนาเป็น “ใบอนุญาตให้ฆ่า” กระทั่งเกิดการ “ฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม”
เมื่อเหลียวดูข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ซึ่งสรุปสถิติคดีความมั่นคงในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 ถึงสิ้นเดือน ก.พ.2553 พบว่า มีคดีอาญาเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 65,788 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคง 7,103 คดี คิดเป็นร้อยละ 10.80 ของคดีอาญาทั้งหมด ที่เหลือเป็นคดีอาญาทั่วไป
พิจารณาเฉพาะคดีคดีความมั่นคงในชั้นพนักงานสอบสวนจำนวน 7,103 คดี แยกการดำเนินการเป็น งดการสอบสวน 4,834 คดี คิดเป็นร้อยละ 68.11 สั่งฟ้อง 1,405 คดี คิดเป็นร้อยละ 19.78 สั่งไม่ฟ้อง 152 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.14 อยู่ระหว่างดำเนินการ 708 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.97
เมื่อพิจารณาเจาะเฉพาะคดีความมั่นคงที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำนวน 152 คดีนั้น แยกเป็นผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย (ถูกวิสามัญฆาตกรรม) จำนวน 103 คดี คิดเป็นร้อยละ 64.39 พยานหลักฐานไม่เพียงพอ 20 คดี คิดเป็นร้อยละ 15.15 เจ้าพนักงานอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ (เจ้าพนักงานตกเป็นผู้ต้องหา) 25 คดี คิดเป็นร้อยละ 17.43 และประชาชนอ้างว่าป้องกันตัว 4 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.03
ที่น่าสนใจก็คือ คดีวิสามัญฆาตกรรมตลอด 6 ปีไฟใต้ มีทั้งสิ้น 121 คดี ดูจากตัวเลขแล้วมีถึง 103 คดีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คือเชื่อว่าเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ หรือไม่มีผู้ร้องคัดค้านในคดีไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 มีเพียง 25 คดีเท่านั้นที่เจ้าพนักงานตกเป็นผู้ต้องหา
ที่สำคัญตัวเลข 121 คดีนั้น เป็นจำนวนคดี ไม่ใช่จำนวนศพที่ต้องเสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งแน่นอนย่อมสูงกว่า 121 ศพแน่ๆ
เสี่ยงฆ่ากันไปมาไม่รู้จบ
ในทางกฎหมาย การวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้เลยไม่ว่าจะโดยหลักสากลหรือหลักนิติธรรมในประเทศไทย
นิอารง นิเต๊ะ อดีตพนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การวิสามัญฆาตกรรมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะยิ่งสร้างความเจ็บแค้นให้กับผู้ถูกกระทำและครอบครัว ทั้งยังสร้างความคลุมเครือในแต่ละคดี เพราะไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจึงนำมาสู่การวิสามัญฆาตกรรม
“โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่าผู้ถูกจับกุมต่อสู้ขัดขวางการจับกุม แต่ในมุมชาวบ้านเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เองสามารถจับได้โดยไม่ต้องฆ่า คือสามารถจับเป็นได้ เพราะเขามองว่าโจรมีไม่กี่คน แต่เจ้าหน้าที่มีมากกว่า อาวุธก็มากกว่า ชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะจับเป็นได้ แต่กลับกลายเป็นว่าคนที่ถูกจับโดนวิสามัญฯแทบทุกคดี”
“เรื่องแบบนี้ส่งผลกระทบทั้งในแง่ความเชื่อมั่นของชาวบ้านต่อกระบวนการยุติธรรมและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังส่งผลต่อการขยายผลคดีด้วย เพราะมันไม่สามารถสืบสาวต่อไปได้ว่ามีใครร่วมกระทำความผิดอีก ยิ่งไปกว่านั้นคนที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในหลายๆ เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นบ้าน และวิสามัญฆาตกรรมคราวละหลายๆ ศพ บางคนอาจไม่ใช่แนวร่วมก็ได้ บางคนอาจค้ายาเสพติด แต่พอวิสามัญฯไปแล้ว ก็โยนไปเป็นเรื่องแนวร่วมหมด ทำให้ประเด็นคดีอื่นๆ หายไป”
ในความเห็นของ นิอารง เขาบอกว่าไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานอะไร เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิวิสามัญฆาตกรรม
“บางครั้งเราเองก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าการวิสามัญฯแต่ละกรณีเกิดจากความจำเป็นหรือความต้องการแก้แค้น คนถูกจับเขาก็หนี เขาต่อสู้ แต่เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพราะอะไร บางทีอาจจะมีความรู้สึกอื่นซ่อนอยู่ ดังนั้นหากเราไม่รีบตัดตอน แล้วนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมมันจะดีกว่า หนึ่งจะได้พิสูจน์ไปเลยว่าผิดหรือถูก สองจะได้ใจชาวบ้าน เพราะเราไม่ฆ่า ลดความคับแค้นได้ถ้าเขาไม่ใช่แนวร่วมจริงๆ แต่หากผู้ตายเป็นแนวร่วมจริงมันก็ไม่ได้อะไรอยู่ เพราะไม่ได้ขยายผลของคดีต่อ ที่สำคัญมันจะสร้างเงื่อนไขทำให้คนที่เป็นแนวร่วมฆ่ากลับ มีการฆ่ากันไปฆ่ากันมาไม่รู้จบ”
อย่าให้เป็นการฆาตกรรมโดยผู้ถือกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม นิอารง ก็เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงและกดดันอย่างสามจังหวัดชายแดภาคใต้
"แน่นอนว่าในบางสถานการณ์เจ้าหน้าที่ก็อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องเข้าปะทะ คือผมก็เข้าใจตำรวจ ทหารนะ ก็อยากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เหมือนกัน พอฝ่ายโน้นยิงมา เราก็ต้องยิงไป แต่ถ้าเป็นไปได้อย่าให้ถึงกับเอาชีวิต อยากให้จับเป็นมากที่สุด นอกจากนั้นการจะไปจับใครอยากให้จับด้วยหลักฐานที่แน่นหนาจริงๆ ใช้วิธีให้ผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม การข่าวต้องแม่น และใจเย็นๆ หากจับเป็นได้ก็จะส่งผลดีในระยะยาวกับเจ้าหน้าที่เอง เพราะเจ้าหน้าที่ก็จะได้ผลงานหากนำไปขยายผลต่อ เป็นการแสดงความเป็นมืออาชีพมากกว่าการยิงแล้วปิดฉากเลย ซึ่งไม่มีใครมองว่าเป็นฮีโร่ มันเป็นการฆาตกรรมโดยผู้ถือกฎหมายเท่านั้นเอง แต่ถ้าจับเป็นแล้วสามารถขยายผล นำมาสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ก็จะใจชาวบ้าน ลดภาพลักษณ์เดิมๆ ที่ชาวบ้านมองเจ้าหน้าที่ได้” นิอารง กล่าว
เจ้าหน้าที่ต้องใช้อำนาจอย่างจำกัด
ลองมาทำความเข้าใจในประเด็นกฎหมายกันบ้าง อนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ปัตตานี อธิบายว่า การวิสามัญฆาตกรรม เป็นกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ แต่เป็นเหตุให้ผู้ร้ายถึงแก่ความตาย หรือในกรณีเกิดการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ การตายในกรณีที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ กฎหมายถือว่าเจ้าหน้ามีอำนาจในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย แต่หากผู้ต้องหาต่อสู้หรือขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่จับกุมได้โดยสะดวก หรือมีอาวุธที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อน ก็อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องกระทำวิสามัญฆาตกรรมเพื่อป้องกันตนเอง
ในกรณีมีการวิสามัญฆาตกรรม พนักงานสอบสวนจะต้องทำการสอบสวนถึงสาเหตุการตาย และสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการตาย จุดประสงค์ก็เพื่อหาสาเหตุว่าความตายเกิดจากอะไร เป็นการกระทำของใคร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
“การวิสามัญฆาตกรรมถือเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในกรณีมีเหตุจำเป็น หลักของการวิสามัญฆาตกรรมจะต้องกระทำเพื่อป้องกันตนเองให้พ้นจากภยันตรายที่คนร้ายจะก่อเหตุขึ้น การใช้อำนาจในกรณีนี้ต้องใช้อย่างจำกัด เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฆ่าบุคคลอื่นโดยถูกต้องตามกฎหมายได้ และในการจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ต้องหา กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้หลบหนีเท่านั้น”
วิสามัญฯเท่ากับปิดโอกาสขยายผล
ทนายอนุกูล อธิบายต่อว่า แท้ที่จริงแล้วการจับกุมหรือควบคุมคนร้ายได้โดยไม่เสียชีวิตจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการสืบสวนขยายผลถึงกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบรายอื่น การวิสามัญฆาตกรรมจึงเท่ากับเป็นการปิดโอกาสในการสืบสวนข้อมูลข้อเท็จจริงของกลุ่มขบวนการ และยังเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ความรุนแรงอีกด้วย เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ที่ทำวิสามัญฆาตกรรมมักจะได้ผลงาน
“ตามกฎหมายเมื่อมีการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ต้องมีองค์กรอื่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เพื่อรถ่วงดุลการใช้อำนาจของตำรวจ โดยให้พนักงานอัยการ แพทย์ ฝ่ายปกครองร่วมทำการชันสูตรพลิกศพของผู้ตาย โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งให้ญาติของผู้ตายเข้ามาร่วมชันสูตรศพของผู้ตายด้วย”
“แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ความไม่สะดวกของหน่ายงานอื่นที่จะเข้าไปร่วมชันสูตรศพกับพนักงานสอบสวนในที่เกิดเหตุ ด้วยเหตุของความปลอดภัย และสถานการณ์ความไม่สงบ หรือสถานที่เกิดเหตุเป็นป่าเขา โดยเฉพาะแพทย์จะมีบทบาทสำคัญมากในการวินิจฉัยถึงสาเหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย หากได้เข้าไปชันสูตรศพในโอกาสแรก ก็จะได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมากที่สุด การให้พนักงานสอบสวนมีบทบาทนำอาจทำให้สูญเสียความยุติธรรมได้ เพราะอาจเกรงกลัวอำนาจของผู้บังคับบัญชา เช่น ผู้กำกับเป็นผู้กระทำการวิสามัญฆาตกรรม แต่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีตำแหน่งรองลงมา ก็อาจเกรงกลัวหรือไม่อาจทำสำนวนได้โดยอิสระ”
ใช้สื่อประโคมข่าวปิดทางญาติร้องหาความยุติธรรม
ทนายอนุกูล ยังแนะว่า หากญาติของผู้ตายอยากจะได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด เมื่อพนักงานสอบสวนทำการชันสูตรศพ จะต้องเข้าร่วมในการชันสูตรด้วย เพื่อให้เห็นสภาพของศพซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่กระทำวิสามัญฆาตกรรมได้กระทำไปเพื่อป้องกันตัวโดยสมควรแก่เหตุหรือไม่ บาดแผลที่ถูกทำร้ายมาจากทิศทางใด ผู้ตายมีอาวุธหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่เข้าใจในกระบวนการของกฎหมาย ทั้งที่เป็นสิทธิของตนเองที่สามารถกระทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่กระทำวิสามัญฆาตกรรมแล้ว จะออกข่าวในลักษณะว่าผู้ตายเป็นผู้ร้ายคนสำคัญ ทำให้ญาติเกรงกลัวว่าตนเองจะได้รับผลกระทบ เช่น เจ้าหน้าที่จะสงสัยว่าเป็นคนร้ายด้วยเช่นเดียวกัน จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ได้
บางคนศาลมีหมายนัดไต่สวนการตาย แจ้งให้ญาติทราบ แต่ญาติไม่กล้าที่จะไป กลัวว่าตนเองจะถูกดำเนินคดีหรือเป็นคนร้ายไปด้วย ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ได้เลย
“การแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดมีหลายวิธีที่จะใช้แก้ปัญหา แต่การวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่เป็นวิธีการใช้ความรุนแรง ไม่ใช่สันติวิธี สำหรับมุมมองของคนที่ชอบความรุนแรง นิยมการใช้อำนาจ ชอบวิธีการวิสามัญฯ เพราะเห็นว่าการปราบปรามอย่างเด็ดขาดจะทำให้คนร้ายมีความเกรงกลัวเข็ดหลาบ แต่สำหรับมุมมองของฝ่ายสิทธิมนุษยชนมองว่าการวิสามัญฯเป็นการใช้ความรุนแรง หากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการเช่นนี้มากๆ เท่ากับเป็นการใช้ศาลเตี้ย ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม เพราะผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะพิพากษาว่ามีความผิด ที่สำคัญจะทำให้เกิดกระบวนการแก้แค้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะหาความสงบไม่ได้อีกต่อไป” ทนายอนุกูล กล่าว
ปะทะอีกกี่ครั้งปัญหาก็ไม่จบ
มาลองฟังความเห็นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่กันบ้าง พ.ต.อ.พัฒนวุฒิ อังคะนาวิน รองผู้บังคับการอำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รองผบก.อก.ศชต.) กล่าวในงานกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ เสวนาผู้นำชุมชน ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อไม่นานมานี้ว่า คดีความมั่นคงที่อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน 7,103 คดี สามารถพิสูจน์หลักฐานส่งฟ้องต่อศาล 1,405 คดี แต่มีเพียงแค่ 500 กว่าคดีเท่านั้นที่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ นับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ถูกต้อง
“จากการใช้กฎหมายตรงนี้เห็นได้ชัดว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นหมื่นๆ คดี มีคดีที่ศาลลงโทษเพียง 500 กว่าคดี คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน้อยมาก ทำให้หลายๆ ฝ่ายออกมาติติง ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่จะออกมาแสดงความคิดเห้นได้ และถึงแม้ประชาชนในพื้นที่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด เราจะจับกุมได้ด้วยการปิดล้อมตรวจค้นและปะทะ แต่ตราบใดต้นเหตุของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะยังมีการส่งต่อความคิดให้เด็กรุ่นหลัง ก็ยากที่สถานการณ์จะดีขึ้นได้”
“ผมเชื่อเหลือเกินว่าแม้จะมีคนถูกจับอีกหลายคดี จะเกิดการปะทะกันกี่ครั้งก็ตาม ปัญหาตรงนี้ก็ไม่จบสิ้น อีกกี่ปีก็จะเป็นไปในลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติเปรียบเสมือนกับหมากในกระดาน เราต้องช่วยกันทลายความคิดความเชื่อในอดีตให้หมดไปวันละนิดและทุกวัน แสงสว่างที่เราวาดหวังจึงจะเห็นความสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้อำนาจรัฐบนความถูกต้อง” พ.ต.อ.พัฒนวุฒิ กล่าว
และการใช้อำนาจบนความถูกต้อง จะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน!
-------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- บทพิสูจน์กรณี "สมเพียร เอกสมญา" สังคมไทยยัง "เข้าไม่ถึง" ชายแดนใต้
- จับตายคนร้าย...(อาจ) ไม่ใช่ความสำเร็จ!
- 5 ปีไฟใต้ (8)...สงครามความรู้สึกระหว่างรัฐกับชาวบ้าน
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4376&Itemid=86
- 5 ปีไฟใต้ (9)...ไม่กลัวกฎหมาย แต่กลัวผู้ใช้กฎหมาย!
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4393&Itemid=86