1 เมษาฯดีเดย์ตรวจเข้มรถยนต์-จยย.ป้องกันบึ้ม ศอ.บต.ส่ง"ล่ามแปลภาษา"ประจำทุกอำเภอ-โรงพัก
อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
มีรายงานว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จะเริ่มมาตรการตรวจสติ๊กเกอร์บาร์โค้ดติดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามที่เคยเปิดให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนก่อนหน้านี้ เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถทุกชนิดไปติดตั้งระเบิดเป็นคาร์บอมบ์และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเรียกว่า “มาตรการควบคุมยานพาหนะ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 นโยบายป้องกันเหตุร้ายที่ กอ.รมน.ภาค 4 นำมาใช้ในปี 2553 ร่วมกับเรือเหาะตรวจการณ์ซึ่งจัดซื้อมาในราคา 350 ล้านบาทแต่ยังใช้การไม่ได้ และโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ซึ่งเพิ่งได้ผู้รับเหมารายใหม่
มาตรการควบคุมยานพาหนะ คือการขึ้นทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา ด้วยการติดสติ๊กเกอร์บาร์โค้ดให้สามารถตรวจสอบรถทุกคันได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ป้องกันการโจรกรรมรถไปทำคาร์บอมบ์และมอเตอร์ไซค์บอมบ์
แต่หลังจากเปิดให้ขึ้นทะเบียนเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เกิดปัญหารถที่ติดสติ๊กเกอร์หรือบาร์โค้ดของทหารถูกกรีดทำลายโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดี สร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนทั่วไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้าแจ้งความ จึงไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้
อย่างไรก็ดี พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า มาตรการเข้มงวดยานพาหนะที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะเน้นหนักไปที่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนไม่ถูกต้องมากกว่า ยังไม่ใช่เรื่องของสติ๊กเกอร์โดยตรง
“ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เราจะเข้มทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถ ทั้งที่ไม่มีทะเบียน ไม่มีป้ายวงกลม ไม่มีสมุดคู่มือรถ รวมทั้งใบขับขี่ เพื่อลดปัญหาโจรกรรมรถไปใช้ก่อเหตุรุนแรง ถ้าตรวจแล้วพบว่ารถคันนั้นไม่มีทะเบียน ไม่มีสมุดคู่มือรถ หรือป้ายวงกลม ก็จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น ถ้าผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่เราก็จะตักเตือน”
“เบื้องต้นเราเน้นเฉพาะรถที่ไม่มีหลักฐานไปก่อน ยังไม่เกี่ยวกับสติ๊กเกอร์ เราจะดูป้ายวงกลมว่ามีหรือไม่มี ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ก็จะตักเตือน ตอนนี้พื้นที่ จ.นราธิวาส เริ่มตักเตือนไปแล้วแต่ยังไม่เข้มงวด เพราะปกติรถทุกคันต้องเสียภาษีประจำปี แต่ถ้าไม่มีเราก็ยังอลุ้มอล่วยให้ก่อน เราอยากให้ทุกคนเคารพกฎหมาย” ผบ.พตท.ระบุ
พล.ท.กสิกร กล่าวด้วยว่า มาตรการครั้งนี้ พตท.ได้ขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก ให้มาร่วมตรวจกับฝ่ายความมั่นคงทุกด่านเพื่อความชัดเจน เพราะถ้าสังคมอยู่ภายใต้กฎหมาย คนในสังคมก็จะปลอดภัยขึ้น
ศอ.บต.ส่ง”ล่าม”ประจำทุกอำเภอ-โรงพัก
นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ภายหลังจากที่กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้จัดล่ามแปลภาษา (ไทย-มลายู) ประจำตามสถานที่ราชการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดปัญหาการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่นั้น ล่าสุดทาง ศอ.บต.ได้จัดส่ง "ล่ามแปลภาษา" ไปประจำยังสถานที่ราชการที่ให้บริการประชาชนทุกแห่งแล้ว ทั้งสถานีตำรวจ และที่ว่าการอำเภอ
นอกจากนี้ ศอ.บต.ยังได้เปิด "ศูนย์ความเป็นธรรมภาคประชาชนระดับตำบล" หรือ Adilan Center พร้อมกันทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรองรับภารกิจด้านการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน และเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการอำนวยความเป็นธรรมและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในชุมชนด้วยตนเอง
สำหรับภารกิจของศูนย์ความเป็นธรรมภาคประชาชน ก็เช่น รับเรื่องราวร้องทุกข์ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และการดูแลแก้ไขผู้กระทำผิดหรือผู้ติดยาเสพติดที่กลับคืนสู่ชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ศูนย์อำนวยความเป็นธรรมประจำอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สำนักงานยุติธรรมจังหวัด และ ศอ.บต.กับพี่น้องประชาชน
“ที่ศูนย์ความเป็นธรรมภาคประชาชน จะมีตัวแทนภาคประชาชนในตำบลนั้นๆ เป็นคณะทำงาน เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน บัณฑิตอาสา นักกฎหมายชาวบ้าน เครือข่ายยุติธรรมชุมชน เครือข่ายคุ้มครองสิทธิ ส่วนสถานที่ตั้งก็อาจใช้ที่ทำการส่วนราชการประจำตำบล ที่ทำการสภาสันติสุขตำบล อาคารอเนกประสงค์ภายในมัสยิด หรือโรงเรียนตาดีกา โดย Adilan Center จะมีทุกตำบล ตำบลละ 1 ศูนย์ รวมทั้งหมด 326 ศูนย์”
นายภาณุ กล่าวด้วยว่า ศอ.บต.ยังมีนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้สูญเสีย หรือญาติผู้สูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ไม่ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่สามฝ่าย (ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง) ว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบจริงๆ ทั้งนี้ เพื่อลดเงื่อนไขบางกรณีไม่ให้ค้างคาใจ
“ขณะนี้ผมได้สั่งการให้ศูนย์เยียวยาจังหวัดตรวจสอบข้อมูลของแต่ละจังหวัดว่ามีผู้สูญเสียในกลุ่มนี้จำนวนเท่าไหร่ เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนสำหรับลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือต่อไป” ผอ.ศอ.บต.กล่าว
ถือเป็นการเปิดแนวรุกทั้งด้านความมั่นคงและงานมวลชนในห้วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2553