วิถีใหม่...‘ปากคลองตลาด’ พัฒนาควบคู่การรักษาเอกลักษณ์ชุมชน
เมื่อพูดถึงตลาดค้าส่งดอกไม้ ผัก ผลไม้ และพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด เชื่อแน่ว่า คนส่วนใหญ่จะต้องนึกถึง “ปากคลองตลาด” ตลาดอันพลุกพล่านจอแจริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เลื่องชื่อมาแต่ครั้งอดีต
ด้วยความมีชีวิตชีวาของดอกไม้หลากชนิดหลากสีสันสองข้างทาง และชีวิตชีวาของผู้คน – แม่ค้าที่ได้ชื่อว่าปากจัดที่สุดแห่งหนึ่ง จนไม่แน่ใจว่าอาจจะเป็นต้นเค้าของสำนวน “แม้ค้าปากตลาด” หรือเปล่า?
และความวุ่นวายของรถเข็นที่สวนกันไปมาให้เราต้องคอยระวัง
นับวันสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเสน่ห์ หรืออัตลักษณ์เฉพาะของปากคลองตลาด ที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหน หรือว่าสักวันก็อาจจะหาไม่ได้แม้จากตัวของมันเอง?
เมื่อในอนาคตอันใกล้ ชุมชนปากคลองตลาดจะเป็นหนึ่งในปลายทางหลักของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค ที่จะมีสถานีสนามไชยผุดขึ้นมาในระยะไม่เกิน 200 เมตร พร้อม ๆ กับโครงการพัฒนาจากบริษัทผู้รับสัมปทานที่กำลังเกิดขึ้น และมีกำหนดแล้วเสร็จในอีกไม่เกิน 10 เดือนนับจากนี้
คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงสองลูกใหญ่นี้ จะพลิกโฉมตลาดสดอันเก่าแก่ให้มีวิถีใหม่ที่ต่างไปจากเดิมเพียงไร?
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม จัดเวทีเสวนา Living Museum พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนปากคลองตลาดครั้งที่ 2 ตอน "วิถีใหม่ปากคลองตลาด @สถานีสนามไชย" เพื่อร่วมทำความเข้าใจถึงภาพความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยกัน
นายเฉลียว ปรีกาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดยอดพิมาน จำกัด และบริษัท ปากคลองตลาด (2552) จำกัด ฉายภาพให้เห็นก่อนว่า พื้นที่ที่เรียกว่า ย่านปากคลองตลาด ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ปากคลองตลาด ตลาดยอดพิมาน และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย มีเนื้อที่รวมกันทั้งหมดกว่า 20 ไร่
สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ในขณะนี้ คือ การพัฒนาพื้นที่ปากคลองตลาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากตลาดขาดการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี จนปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม แออัด ไม่เป็นระเบียบ ไม่ถูกสุขลักษณะ ประกอบกับผู้เช่าพื้นที่ใช้พื้นที่อย่างผิดประเภทโดยเอาไว้เก็บ เข่ง รถเข็น ลัง ฯลฯ และใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนงานรถเข็น
บริษัท ปากคลองตลาด (2552) จำกัด จึงได้เข้าพัฒนาโครงการอย่างเร่งด่วน เมื่อได้รับมอบพื้นที่จากเจ้าของ คือ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย โดยเร่งสร้างและปรับปรุงถนน ทางเดิน ระบบท่อ รางระบายน้ำ เป็นลำดับแรก ๆ
การดำเนินงานทั้งหมด นายเฉลียว ยืนยันว่า อยู่บนฐานของการชี้แจง ทำความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นจากพ่อค้าแม่ค้า คนในชุมชนตลอดเวลา พร้อมทั้งยืนยัน “สิ่งที่ผมเข้ามาพัฒนา ยังรักษาวิถีชุมชนการค้าส่งเหมือนเดิม”
แน่นอนว่า จากตัวอย่างของการพัฒนาหลายครั้งที่เคยเกิดขึ้นมักทำให้สิ่งเก่า ๆ ถูกทำลายหายไป แต่กับการพัฒนาปากคลองตลาดในครั้งนี้ นายเฉลียว อธิบายว่า หลายสิ่งที่สำคัญจะยังถูกรักษาไว้อย่างแน่นอน
ด้านสถาปัตยกรรมของอาคารในปากคลองตลาดที่เป็นสไตล์โคโลเนียล จะไม่มีการรื้อสร้างใหม่ แต่จะปรับปรุงโครงสร้างเดิม เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯเกาะรัตนโกสินทร์ต้องการให้อนุรักษ์ไว้ แต่สามารถรีโนเวตหรือปรับปรุงได้ โดยใส่เข็มเสาเพิ่มรองรับสภาพดินอ่อนเนื่องจากอยู่ริมแม่น้ำ
แม้จะทำให้ต้นทุนในส่วนนี้มากขึ้น 5-8 เท่าก็ตาม
นอกจากนี้ยังจะมีการสร้างระเบียงเดินรอบตลาดยอดพิมานและปากคลองตลาด ที่เชื่อมไปยังรถไฟฟ้าใต้ดินในอนาคตได้ด้วย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมวิถีชีวิตการค้าขาย และถ่ายรูป ซื้อของที่ระลึก
รวมทั้งรายละเอียดยิบย่อยของการพัฒนาอีกหลายอย่างเช่น การไม่ให้มีร้านกาแฟสมัยใหม่เข้าไปในโครงการ เพื่อรักษาวิถีชุมชนดั้งเดิมเอาไว้ การสร้างที่จอดจักรยานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาโดยการปั่นจักรยาน การสร้างทางลาดสำหรับคนพิการ และที่จอดรถ
รวมไปถึงการจะทำแลนด์มาร์คเป็นรูปปั้นหนุมานยืนพ่นน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา เหมือนเมอร์ไลอ้อนที่สิงคโปร์ เพื่อเป็นหมุดหมายว่า กรุงเทพมหานครเคยถูกจัดอันดับเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลกถึงสามปี
ด้านบรรยากาศดั้งเดิมของย่านปากคลองตลาดก็จะรักษาไว้ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศของถนนดอกไม้ ที่จะไม่มีการย้ายแม่ค้าดอกไม้เข้าไปข้างในตลาด ความวุ่นวายจากการซื้อขายระหว่างแม่ค้าและคู่ค้ารายเดิม ๆ ที่ค้าขายกันมาหลายสิบปีก็จะยังคงอยู่ และแบ่งโซนชัดเจน ระหว่างโซนขายสินค้าผักผลไม้ คือในพื้นที่ตลาด และโซนท่องเที่ยวผักผ่อนที่จะอยู่ริมแม่น้ำเท่านั้น ซึ่งมีวิวอันสวยงามของฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีทั้งวัดประยุรวงศาวาส โบสถ์ซางตาครู้ส และวัดอรุณราชวราราม
แผนงานทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากล
โดยบริษัทปากคลองตลาดได้ประยุกต์เปรียบเทียบกับตลาดอย่าง New Covent Garden ที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ติดริมแม่น้ำเทมส์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับปากคลองตลาดเป็นอย่างมาก โดยอาศัยตัวชี้วัดการพัฒนาปากคลองตลาดเทียบกับ New Covent Garden ในหลายด้านที่สำคัญเช่น เมื่อพัฒนาแล้ว ปากคลองตลาดจะมีพื้นที่ให้เช่า 100% การจ้างงานกว่า 3,400 คน และผู้เช่ากว่า 1,500 ราย
“นั่นหมายความว่า ผู้ค้าเดิมจะยังอยู่กับเราทั้งหมด” กรรมการผู้จัดการ บ.ปากคลองตลาด ยืนยัน และบอกเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมาเคยสำรวจพบว่า มีผู้ค้าบางกลุ่มปล่อยให้เช่าช่วงแผงค้าหลายทอด และบางรายก็เป็นเจ้าของแผงนับสิบแผง คนกลุ่มนี้จะเสียผลประโยชน์จากการจัดระเบียบใหม่ในครั้งนี้ ก็จะออกมาต่อต้าน ดังนั้นต่อไปบริษัทจะตัดวงจรการเช่าช่วงนี้ออกไป
และที่สำคัญนายเฉลียว ยืนยันว่า จะไม่เก็บค่าเช่าแผงเพิ่มด้วย
ดูเสมือนว่า ทั้งการรักษาสถาปัตยกรรมเก่าที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 5-8 เท่า ทั้งการไม่ขึ้นค่าเช่าแผง จะช่างไม่สอดคล้องกับวิถีธุรกิจที่ต้องการกำไรสูงสุดเอาเสียเลย แต่เจ้าของทุน ก็เอ่ยปากในเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า เราอดทนรับได้อย่างน้อย 10 ปี จนกว่าจะถึงจุดที่คุ้มทุน
ด้าน ผศ.จิราภา วรเสียงสุข คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนาเสนอความเห็นว่า ตัวอย่างการพัฒนาปากคลองตลาดเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า นี่คือการปรับตัวของนายทุน นายทุนมีหัวก้าวหน้า ไม่รื้อไล่เพื่อเปลี่ยนเป็น modern trade แต่ต่อสู้กับ modern trade อย่างโลตัส บิ๊กซี ด้วยการมาจัดระเบียบสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้คงความเป็นเอกลักษณ์ มีชีวิตชีวา
“การพัฒนาแบบเปลี่ยนแปลงชุมชนหนึ่ง ๆ อย่างไม่เหลือเอกลักษณ์เดิมเพียงเพื่อทำกำไรสูงสุด ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะมีการสำรวจความคิดเห็นมาแล้วว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภูมิภาคนี้ ต้องการมาเห็นวิถีชีวิตของคนเล็ก ๆ มากกว่า วัฒนธรรมเอเชียไม่ได้มีพื้นโล่งริมแม่น้ำแบบฝรั่งเศส แต่เป็นบ้าน เป็นท่าน้ำ ดังนั้นแนวคิดการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงบริบทดั้งเดิมของสังคม จะทำให้กรุงเทพมหานครขาดเสน่ห์” ผศ.จิราภากล่าว
คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปากคลองตลาด ไม่ได้มีแค่พื้นที่ตลาดที่กรุงเทพฯ แต่ยังมีเครือข่ายของผู้ซื้อ ผู้ขายอยู่ทั่วประเทศ เนื่องจากสินค้ามาจากทั่วทุกภูมิภาค ถ้าขยับปากคลอง ก็จะกระทบไปทั่วประเทศ การค้าส่งเป็นพลังให้ตลาดกลางเมืองอย่างปากคลองตลาดยังอยู่ได้ และตนอยากเห็นการปรับแผนแม่บทของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ควรเพิ่มมิติทางสังคม ชุมชนเข้าไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่
เมื่อการพัฒนาปากคลองตลาดกลายเป็นเรื่องของการทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า แล้วจะต่างอะไรกับอัมพวา สามชุก หรือตลาดน้ำอโยธยา ที่รายแรกนั้นคนในชุมชนก็กำลังขัดแย้งกับนายทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เช่นกัน
ต่อประเด็นนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เสนอความเห็นไปในทิศทางคล้ายกันว่า นี่คือปรากฏการณ์ของการทำธุรกิจบนแนวคิดแบบอนุรักษ์ เอาของเก่ามาเป็นจุดขาย เพื่อตอบสนองกับกระแสความต้องการโหยหาวิถีชีวิต ความงดงามในอดีตของไทย ของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นทุกที จึงเกิดตลาดน้ำกลิ่นอายโบราณขึ้นเป็นจำนวนมากจนเรียกได้ว่า "เกร่อ"
แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ตลาดน้ำเหล่านั้นก็ไม่ได้มีความแตกต่างในตัวของมันเอง แต่กลายเป็นการ "ทำซ้ำ" ในรูปแบบเดียวกัน คือมีของขายเหมือนกัน ๆ มีร้านรวงที่ไม่เข้ากับบริบททางสังคมเดิมของชุมชนนั้น ๆ และมีสภาวะเป็นตลาดเพียงชั่วคราวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้นเอง
แต่สำหรับปากคลองตลาด มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนว่า เป็นตลาดค้าส่งดอกไม้ ผัก และผลไม้ ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นตลาดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จนปัจจุบันที่มีสภาพพลุกพล่าน จอแจ แต่นี่ก็คือสิ่งที่สืบทอดจากอดีตมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเสน่ห์ในมุมของการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามสังคมควรจะคาดหวังได้อย่างเต็มที่เช่นกันว่า สิ่งที่นายทุนบอกกับเราในวันนี้ คงจะเป็นอย่างเดียวกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการพัฒนาในอีกไม่ถึงหนึ่งปี ไม่ใช่เป็นการพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง...เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็มีเรื่องต้องคุยกันอีกยาว