เบื้องหลัง ศอ.บต.ซื้อ "ชางลี" โรงแรมร้างกลางยะลา เล็งตั้งองค์การมหาชนบริหาร
มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ก.ย.2555 ซึ่งไปประชุมกันที่ทำเนียบรัฐบาล มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ และเรื่องหนึ่งที่มิอาจปล่อยให้ผ่านเลยไปได้ คือ การเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซื้อ "โรงแรมชางลี"
เป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจของดินแดนปลายด้ามขวานอย่างย่อยยับ ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นถี่ยิบทำให้ภาคเอกชนไม่มีความมั่นใจในการลงทุน วงจรธุรกิจหยุดชะงัก ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปัญหาว่างงาน จนหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งหามาตรการและโครงการต่างๆ เพื่อเข้าไปฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ก้าวเดิน
"โรงแรมชางลี" ซึ่งเคยเป็นโรงแรมหรูชื่อดังระดับแถวหน้าของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ริมถนนสิโรรสใจกลางเมืองยะลา ต้องกลับกลายเป็นโรงแรมร้าง คือหนึ่งในอนุสาวรีย์ขนาดยักษ์ที่ตั้งตระหง่านให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาต้องทอดถอนใจกับผลแห่งวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติความรุนแรงในดินแดนแห่งนี้
อย่างไรก็ดี การที่ ศอ.บต.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ควักกระเป๋าซื้อโรงแรมร้างกลางเมืองด้วยสนนราคาระดับร้อยล้าน ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกตั้งคำถามไม่น้อยเหมือนกัน
ข้อเท็จจริงของเรื่องก็คือ ศอ.บต.ต้องการซื้อโรงแรมชางลี เพราะมีวัตถุประสงค์ใช้อาคารขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยจำนวนมากกว่า 1 หมื่นตารางเมตร เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการประชาชนในมิติต่างๆ และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ
แผนงานที่วางเอาไว้คือการเปิดสำนักงานและศูนย์บริการต่างๆ ประกอบด้วย
1.ศูนย์บริการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบแบบครบวงจร
2.ศูนย์บริการกิจการฮัจญ์
3.ศูนย์เยียวยาเพื่อให้บริการผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ
4.ศูนย์บริการหนังสือเดินทางสำหรับประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
5.ศูนย์ประสานงานส่วนราชการและศาสนาเชิงพหุวัฒนธรรม
6.ศูนย์กลางอาเซียน และ IMT-GT (โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย) 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
7.สถาบันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
8.ศูนย์ดูแลคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้าและคนขาดคู่สมรส (สตรีหม้าย)
9.ศูนย์พัฒนาการศึกษาด้านการออกแบบ
10.สถาบันพัฒนาบุคลากรจังหวัดชายแดนภาคใต้
11.สถานโทรทัศน์เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพครู การเผยแพร่ความรู้ และการประชาสัมพันธ์
12.สถาบันพัฒนาสุขภาพผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
13.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนากีฬาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งหมดเพื่อสนองตอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ภายใต้ยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มุ่งฟื้นความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และเดินหน้าการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม
นอกจากนั้น ศอ.บต.ยังมีไอเดียเปิดห้องพักของโรงแรมชางลีซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นอาคารสูงถึง 15 ชั้น สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งจัดทำศูนย์พักพิงครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย
การจัดซื้ออาคารโรงแรมชางลีพร้อมที่ดินนั้น เป็นการจัดซื้อจาก บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ บสส. ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ตั้งแต่ปี 2543 และได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งนี้เพราะโรงแรมชางลีกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และมีมูลหนี้อยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ
การจัดซื้อโรงแรมชางลีจึงเป็นการจัดซื้อระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน!
หลังผ่านกระบวนการบังคับคดี บสส.ได้นำโรงแรมชางลีพร้อมที่ดินออกขายทอดตลาด โดยตั้งราคาไว้ที่ 298,000,000 บาท (298 ล้านบาท) แต่ขายอยู่นานก็ไม่มีใครติดต่อขอซื้อ เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเต็มไปด้วยอันตราย และมีเหตุร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
เมื่อ ศอ.บต.สนใจใช้อาคารโรงแรมชางลี จึงได้เจรจาขอซื้อจาก บสส.และตกลงกันที่ราคา 124,000,000 บาท (124 ล้านบาท) ถูกกว่าราคาขายในตลาดถึงครึ่งต่อครึ่ง สาเหตุที่ บสส.ยอมหั่นราคาลง ก็เพราะเห็นว่าเป็นการซื้อขายระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน แต่ก็มีเงื่อนไขให้ผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ค้างชำระกับทางเทศบาลนครยะลา
แต่ก่อนที่ ศอ.บต.จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย ได้ขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดยะลาเข้าไปประเมินราคาโรงแรมชางลีและที่ดิน ปรากฏว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดประเมินราคาตัวอาคารและที่ดินโดยรอบมีมูลค่า 226,400,000 บาท (226.4 ล้านบาท) จึงมั่นใจว่าได้ของถูกจริงๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อรวมราคาจัดซื้อกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียม พบว่าต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 167,240,000 บาท จำแนกเป็น
1.ค่าจัดซื้ออาคารชางลีสูง 15 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 17,500 ตารางเมตร พร้อมที่ดินที่ตั้งอาคารและต่อเนื่องจำนวน 11 แปลง ราคา 124,000,000 บาท
2.ค่าธรรมเนียม/ภาษีที่ดิน ค่าโอนกรรมสิทธิ์ จำนวน 1,240,000 บาท
3.ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ค้างกับเทศบาล จำนวน 2,000,000 บาท
4.ค่าปรับปรุงอาคาร ประกอบด้วย ระบบไฟฟ้า ระบบประปา และจัดทำห้องสำหรับศูนย์บริการประชาชนด้านต่างๆ รวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัย (กล้องโทรทัศน์วงจรปิด) รอบตัวอาคารและภายในอาคาร ตลอดจนการวางระบบคอมพิวเตอร์ จำนวนเงิน 40,000,000 บาท
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า กพต.ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมเรื่องการบริหารจัดการ โดยอยากให้มีความคล่องตัวสูง จึงอาจตั้งเป็น "องค์การมหาชน" ขึ้นมาบริหาร ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่อซื้อมาแล้วก็ถือเป็นสถานที่ราชการ
"โรงแรมชางลีนั้น ถือเป็นโรงแรมใหญ่ที่สุดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เราซื้อได้ในราคาถูกที่สุด และเป็นการซื้อระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน เท่ากับควักเงินจากกระเป๋าซ้ายไปเข้ากระเป๋าขวา ไม่ใช่ซื้อหรือไปช่วยอุ้มเอกชนอย่างที่มีการวิจารณ์"
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า โรงแรมชาลีถูกปล่อยร้างมานาน ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่กลางเมืองยะลาซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสถานที่ตั้งของส่วนราชการมากมาย มีมหาวิทยาลัย ตลาด ห้างสรรพสินค้า ฉะนั้นการปล่อยให้มีตึกร้างกลางเมือง ย่อมส่งผลทางจิตวิทยา และเป็นโหงวเฮ้งที่ไม่ดีของพื้นที่ เท่าที่ทราบการซื้อโรงแรมชางลีและจะเข้าไปบริหาร โดยเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์เยียวยา ศูนย์ฮัจญ์ รวมทั้งศูนย์ประสานงานส่วนราชการและศาสนาเชิงพหุวัฒนธรรม ได้รับการขานรับจากประชาชนในพื้นที่อย่างมาก
"เราจะย้ายสำนักงานที่รับทำหนังสือเดินทางซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ ศอ.บต.ในเขต อ.เมืองยะลา ไปตั้งอยู่ที่โรงแรมชางลีด้วย เท่าที่ตรวจสอบตัวเลขดูมีประชาชนมาขอทำหนังสือเดินทางวันละเป็นพันคน หากรวมผู้ติดตาม คนในครอบครัว และบุตรหลานอีก ก็จะมีคนราวๆ 3-4 พันคนเข้ามาที่ตัวเมืองยะลา หากจัดที่ทางให้ดี จะทำให้เมืองมีความคึกคัก และช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้มากทีเดียว" เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ศอ.บต.จะใช้โรงแรมชางลีให้สมกับราคาและเต็มศักยภาพตามแผนที่วางไว้จริงหรือไม่!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โรงแรมชางลี ริมถนนสิโรรส กลางเมืองยะลา (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)