หลายปัญหาในการจัดเวทีเสวนาปรองดอง
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย ศรีหล้า เป็นประธานฯ ได้ประชุมร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน กรณีการจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศไทย ซึ่งนาย พิสันติ์ ประทานชวโน รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน และนายสมชาย วิทย์ดำรง ผอ.สำนักส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชน ได้ชี้แจงว่า ตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามแผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะคณะกรรมการ อิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ได้เสนอให้มีเวทีประชาเสวนาปรองดองนั้น เบื้องต้นพบปัญหาในการจัดเวทีเสวนาปรองดองระดับตำบล ที่กลายเป็นการนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนแทน และไม่พบความขัดแย้งที่เด่นชัด จึงได้ปรับรูปแบบมาเป็นจัดเวทีเสวนาระดับ จังหวัดแทน แบ่งเป็น 23 กลุ่มจังหวัด ใช้เวลาในการจัดเสวนา 120 วัน โดยกลุ่มเป้าหมายจะสอดคล้องกับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า และให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตคัดเลือกบุคคลเข้าร่วม แต่ก็ได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมได้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมเสวนาปรองดอง กว่า 70,000 คน และพร้อมดำเนินการทันทีที่ได้รับอนุมัติ
ด้านคณะกรรมาธิการฯ เสนอว่า ไม่อยากให้การจัดเวทีเสวนาปรองดองกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการ เมือง และเห็นว่ากรอบเวลา 120 วันน้อยมาก อีกทั้งการจัดรูปแบบเวทีระดับกลุ่มจังหวัดถือว่าวางเป้าหมายกว้างเกินไป ทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ขณะเดียวกันผู้รับผิดชอบในการจัดเวทีเสวนา และวิทยากร ต้องได้รับการยอมรับจากสังคม และไม่อิงกับการเมือง เพื่อให้เกิดการยอมรับตั้งแต่ต้นทาง
ส่วนวิธีการนำเสนอข้อมูลนั้น ไม่ควรสรุปผลจากผู้เข้าร่วมเสวนาแล้วนำไปอ้างอิงเพื่อออกกฎหมาย เพราะเกรง ว่าอาจกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางสังคม เนื่องจากประเด็นความปรองดองเป็น เรื่องละเอียดอ่อน โดยคณะกรรมาธิการกล่าวว่า หัวใจของการสร้างความปรองดองอยู่ที่กระบวนการดำเนินการซึ่งก็คือการจัดเวที เสวนา ไม่ใช่ผลลัพธ์ผลสรุปจากเวทีเสวนา