ชาวฮอด เชียงใหม่ ร้องผู้ว่าฯ แก้ปมอุทยานฯทับที่ทำกิน-เยียวยาเวนคืนสร้างเขื่อน
ชาวบ้านฮอด เชียงใหม่ ร้องรัฐแก้ผลกระทบเวนคืนที่ดินสร้างเขื่อนภูมิพล-อุทยานฯออบหลวงประกาศทับที่ทำกิน ผู้ว่าฯเห็นด้วยตั้งกรรมการร่วมตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อน
กรณีชาวบ้านตำบลฮอด จ.เชียงใหม่ กว่า 300 คนยื่นหนังสือถึงหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน อันเป็นผลจากการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนภูมิพล และการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวงทับที่ทำกินชาวบ้าน หม่อมหลวงปนัดดา เปิดเผยว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพื้นที่ทับซ้อน
นายวิจัตร หลังสัน นายอำเภอฮอด เปิดเผยว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลได้ย้ายมาอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวตั้งแต่ปี 2517 และมีการขุดลอกลำเหมืองท่อเพื่อนำน้ำเข้าสู่พื้นที่ของตน ต่อมาปี 2537มีการประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนพื้นที่ ชาวบ้าน 377 คนใน 4 หมู่บ้านจึงได้รวมตัวกันและขอผ่อนผันให้สามารถทำกินในพื้นที่ดังกล่าวได้
นายนิพันธ์ ทองคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด กล่าวว่าเมื่อครั้งสร้างเขื่อนภูมิพล ชาวบ้านถูกเวนคืนที่ดินเดิม และรัฐบาลจะจัดสรรที่อยู่ให้ใหม่โดยให้ย้ายไปอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่ม ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมาก ดังนั้นจึงต้องการให้มีการพิสูจน์สิทธิ์และผ่อนผันให้ชาวบ้านกว่า 1,000 หลังคาเรือนกลับไปยังที่อยู่เดิมบริเวณลำเหมือง
“พื้นที่ที่เขาให้เราไปอยู่เป็นพื้นที่รับน้ำ เวลาน้ำมาบ้านเรือนไร่นาก็เสียหาย ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมาชาวบ้านกว่า 500 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม เสียหายจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดที่เขื่อนภูมิพล รัฐบาลสัญญาว่าจะให้เงินเยียวยา แต่เพิ่งมีการชดเชยเงิน 250 ล้านบาท ก.ย.ปีนี้ ” นายนิพนธ์กล่าว
ด้านนายนิกร ลินใจ เจ้าหน้าที่ระดับ 9 ตัวแทนหัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบหลวง ชี้แจงว่าประกาศพื้นที่อุทยานออบหลวงตามมติคณะรัฐมนตรี30 มิ.ย.41 มีพื้นที่กว่า 3แสนไร่ ซึ่งพบว่ามีชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่บางส่วนมาก่อน จึงได้จัดทำแผนที่และแนวเขตพื้นที่ผ่อนผันประมาณ 100 ไร่เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งพื้นที่ที่ถูกร้องเรียนว่าอุทยานฯประกาศทับซ้อนนั้น ก็กำหนดให้เป็นพื้นที่ผ่อนปรนตามมติ ครม.ซึ่งอนุญาตให้ชาวบ้านทำกินได้อยู่แล้ว
“หากชาวบ้านยังข้องใจพื้นที่ทับซ้อน ผมเห็นว่าควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมีเจ้าหน้าที่ช่างรังวัดสำนักบริหารอนุรักษ์พื้นที่ 16 เจ้าหน้าที่ปกครอง อ.ฮอด เจ้าหน้าที่นิคมสหกรณ์แม่แจ่ม เจ้าหน้าที่ อบต. ผู้แทนกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯออบหลวง”นายนิกร กล่าว.